วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ข้าวหลามแม่คำมูล ตำนานข้าวหลามยุคสงครามโลก

จำนวนผู้เข้าชม

ภายในเพิงเล็กๆ  นั้น นอกจากไออุ่นจากเตาเผาข้าวหลามแบบโบราณแล้ว ก็เห็นจะได้กลิ่นหอมอวลอ่อนๆ นี่ล่ะ...ที่บ่งบอกว่า นี่คือข้าวหลามแม่คำมูลของแท้ ซึ่งจะว่าไป ข้าวหลามเจ้านี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

นิธิวดี สุพรมอินทร์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของข้าวหลามแม่คำมูล ในวัย 50 ปี เล่าย้อนไปถึงสมัยทวดของเธอ คือ ยายม้วน ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านหม้อเมื่อปี พ.ศ. 2485 ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยนั้นทหารญี่ปุ่นมาตั้งค่ายพักอยู่ข้างบ้านยายม้วน เมื่อเห็นคุณยายปลูกผักปลูกผลไม้อุดมสมบูรณ์ ตนเองมีแต่อาหารกระป๋อง จึงเริ่มผูกมิตรกับคุณยาย ยายม้วนเองก็แบ่งปันพวกของสดและพืชผักให้ทหารญี่ปุ่น จนกลายเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ฝ่ายทหารขอตัดต้นไผ่ไปหุงข้าวบ้าง ใส่น้ำดื่มบ้าง ยายม้วนเห็นทหารญี่ปุ่นใช้ไม้ไผ่หุงข้าวได้ก็สนใจ ทหารจึงสอนเคล็ดลับให้ ใช่เพียงหุงข้าวกิน แต่ยายม้วนทดลองใส่ข้าวเหนียว เกลือ น้ำตาล แล้วเอาไปนึ่งดู ปรากฏว่า ได้ของหวานกินเล่นแสนอร่อยให้กับครอบครัว และนี่คือจุดเริ่มต้นของข้าวหลามเจ้าแรกของลำปางในเวลาต่อมา

เปลี่ยนผ่านมาถึงรุ่นยายคำมูล ซึ่งนับเป็นรุ่นที่ 2 สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติแล้ว ครอบครัวย้ายจากบ้านหม้อมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันบนถนนเจริญประเทศ ยายคำมูลยังคงจำสูตรการทำข้าวหลามของยายม้วนได้ แต่เอามาดัดแปลงนิดหน่อย คือนอกจากข้าวเหนียว เกลือ น้ำตาลแล้ว ลองใส่กะทิลงไปด้วย ปรากฏว่าหอมอร่อย ยิ่งสมัยนั้นไม้ไผ่ยังสมบูรณ์ จึงมีเยื่อหนา ทำข้าวหลามได้อย่างเหมาะเจาะเหลือเกิน ยายคำมูลทำข้าวหลามขายหน้าบ้าน นับเป็นข้าวหลามเจ้าแรกในลำปางก็ว่าได้ ขายดิบขายดีเป็นที่ถูกใจลูกค้า

“ตอนนั้นคุณยายยังไม่ได้ตั้งชื่อร้าน จนกระทั่งช่วงสมเด็จย่าฯ(สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เสด็จพระราชดำเนินมาหาหลวงพ่อเกษม คุณยายก็ทำข้าวหลามไปถวาย สมเด็จย่าฯถามว่าข้าวหลามที่ไหน คุณยายบอกว่าทำเอง ท่านก็ถามว่ามีชื่อร้านไหม คุณยายบอกว่ายังไม่มี ท่านจึงถามว่า แล้วคุณยายชื่ออะไร ถ้าอย่างนั้นก็ใช้ชื่อข้าวหลามแม่คำมูลก็แล้วกัน” นิธิวดีพูดถึงที่มาของชื่อร้านอันน่าภูมิใจ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ข้าวหลามแม่คำมูลเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงหน่วยงานราชการ “รถยนต์นี่จอดรอคิวซื้อข้าวหลามยาวเหยียดเลยค่ะ ขายกันไม่ทัน” ทายาทรุ่นที่ 4 เล่าพลางยิ้ม

มาถึงรุ่นแม่ละไม ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นแม่ของนิธิวดี จากเดิมมีแต่กะทิ-ถั่วดำ แม่ละไมเพิ่มสูตรข้าวหลามสังขยาขึ้นมาใหม่ นอกเหนือจากนี้ สูตรที่ใช้ก็ยังคงสืบทอด ไม่ได้ดัดแปลงให้ผิดแผกแตกต่างจากรุ่นแม่คำมูล ส่วนนิธิวดีในตอนนั้นจากบ้านไปเรียนหนังสือที่เชียงใหม่ ก่อนจะกลับมาดูแลแม่ และต่อมาก็ได้สืบทอดกิจการข้าวหลามแม่คำมูลต่อจากแม่ละไมในปี พ.ศ. 2545

“จริงๆเราเห็นเขาทำข้าวหลามกันตั้งแต่รุ่นคุณยายแล้วล่ะ ตอนนั้นก็ช่วยปอกมะพร้าว คั้นกะทิ นี่งานหลักของเราเลย” นิธิวดีว่า แม้เธอจะเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว แต่ยังคงรักษาสูตรการทำข้าวหลามแบบดั้งเดิมทุกอย่าง ตั้งแต่การสั่งไม้ไผ่เจ้าประจำจากอำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว ทว่าด้วยสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ต้นไผ่เริ่มน้อยลง ที่มีบางครั้งก็ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เยื่อไผ่ไม่หนาเหมือนสมัยก่อน เวลากินเมื่อฉีกกระบอกออกทำให้ข้าวติดเละเทะ นิธิวดีแก้ปัญหานี้ด้วยการทำ “ข้าวหลามช็อต” เสียเลย

นั่นคือสั่งตัดไม้ไผ่แบ่งตามข้อ จะได้บ้องไม้ไผ่สั้นๆ คล้ายกระบอกน้ำ เวลากินเพียงใช้ช้อนที่ ธนพล สุพรมอินทร์ บรรจงเหลาจากไม้ไผ่ที่เหลือ ทำให้การกินข้าวหลามง่ายดายขึ้น นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นซิกเนเจอร์ของข้าวหลามแม่คำมูลก็ว่าได้

ทุกๆวันข้าวหลามกว่า 300 กระบอกคือผลิตผลจากเพิงเล็กๆริมถนนแห่งนี้ นิธิวดีและธนพลต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาเช็ดกระบอกไม้ไผ่ จากนั้นกรอกข้าวและถั่วดำที่แช่ไว้ตั้งแต่เมื่อวานเย็น ตามด้วยกะทิคั้นสด น้ำตาลอ้อย และเกลือ ที่เคี่ยวจนเดือดทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อวานเย็นเช่นกัน ทั้งนี้ กะทิจะใช้มะพร้าวจากภาคใต้เท่านั้น เพราะมีความหวานมันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อกรอกใส่กระบอกไม้ไผ่ก็จะนำไปเผาเตาถ่านแบบโบราณ ซึ่งตั้งอยู่กลางร้านนั่นเอง และต้องคอยกลับทุกครึ่งชั่วโมงจนกะทิแตกมัน กินเวลาเฉพาะการเผาราวๆ 3 ชั่วโมง

“ถ้าได้ถ่านไม้มะขาม หรือไม้ลำไยจะดีมากครับ ทุกวันนี้นอกจากไม้ไผ่จะหายากแล้ว ถ่านก็หายากเช่นกัน” ธนพลพูดขณะเหลาช้อนไม้พายเล็กๆ ที่ลูกค้าหลายคนชื่นชอบ

ไม่น่าเชื่อว่า ข้าวหลามยังคงเป็นของหวานที่ได้รับความนิยมไม่ตกยุคสมัย นิธิวดีบอกว่า หลายหน่วยงานมาติดต่อนำข้าวหลามไปจัดเบรกแทนเบเกอรี นอกจากขายหน้าร้าน ทำส่งร้านเจ้าประจำแล้ว เธอก็มีออเดอร์อยู่เนืองๆ บางวันเด็กนักเรียนมาดูงาน มีนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูป หนังสือต่างประเทศมาขอสัมภาษณ์ มีลูกค้าซื้อไปกินที่ญี่ปุ่น สวีเดน อเมริกา ฯลฯ

จากส่วนผสมแค่เพียงข้าวเหนียว เกลือ น้ำตาล เมื่อสมัยยายม้วนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันข้าวหลามแม่คำมูลมีข้าวหลามกะทิ-ถั่วดำ กะทิ-งาดำ สังขยา บางวันก็มีมะพร้าวอ่อนและฟักทอง ส่วนฤดูหนาวพิเศษตรงที่มีงาขี้ม้อนด้วย ราคาตั้งแต่ 25-40 บาท เป็นข้าวหลามที่เก็บในตู้เย็นได้ถึง 3 วัน โดยไม่ใส่สารกันบูด เพราะกะทินั้น ถูกเคี่ยวจนเดือดแล้วนั่นเอง

เกือบ 9 โมงเช้าแล้วตอนที่ธนพลลุกขึ้นไปเปิดแผ่นสังกะสีบนเตาที่ก่อยาวเหยียด เพื่อหันกระบอกข้าวหลามด้านที่ยังเขียวอยู่ให้เข้าใกล้ไฟ เขาว่าอีกพักใหญ่ๆ นั่นล่ะกว่าจะได้ที่ กลิ่นหอมอ่อนๆ โชยมา กลิ่นของค่ำคืนที่ทุกคนในครอบครัวล้อมวงเผาข้าวหลามยามหนาวเหน็บ แบ่งกันกินอย่างเอร็ดอร่อย แม้มีเพียงข้าว เกลือ และน้ำตาล ข้าวหลามจึงไม่เพียงของกินเล่นดาดๆ สำหรับบางคน มันคือของหวานจากครัวไฟในวันหนาว ที่เรียกความทรงจำคืนมาได้อย่างแจ่มชัด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1168 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์