เคลื่อนเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์
ฤดูกาลแห่งหมอกควัน ก็กลับมาเยือนลำปางอีกครั้ง
นั่นหมายถึงความเสี่ยงในหลายโรคร้ายจากหมอกควันพิษ
ย้อนไปดูปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพ
อนามัยของคนลำปาง แม้ว่าแหล่งปล่อยมลพิษสำคัญคือโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ จะใช้เทคโนโลยีทันสมัยทำให้ฝุ่นควัน
กลายเป็นพลังงานสะอาดไปแล้ว ถึงกระนั้นก็ยังคงมีปัญหาคุณภาพอากาศในระดับสูง
ที่ยังไม่รู้แหล่งที่มาชัดเจน
นอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ลอยฟุ้งกระจายไปทั่วแล้ว
ปัญหาที่กำลังคืบคลานเข้ามา คือหมอกควัน ที่เกิดขึ้นทุกปีในห้วงระยะเวลานี้ ข้อสันนิษฐานต่างๆ
ในแหล่งที่มาของการเผาป่า อันเป็นต้นเหตุสำคัญของไฟไหม้ป่า เริ่มชัดขึ้น
เมื่อคนพูดถึงการปลูกไร่ข้าวโพด
ก่อนหน้านี้ สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ภาคเหนือ ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน
10
ไมครอน (PM10) เกินจากค่ามาตรฐานไม่เกิน 120
ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หลายพื้นที่
ในหลายพื้นที่นั้น ที่ต.บ้านดง
อ.แม่เมาะ,
ลำปางพบ 169 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็ยังน่าสงสัยว่าจะเป็นผลมาจากเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะหรือไม่
ยังพบฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่
ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง 155
ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ, ลำปาง 125 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนพื้นที่ที่มีต่าง PM10 เกินกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คือ พะเยา แพร่ ลำพูน
ลำปางหนักสุด
เราพบว่าทุกต้นปีในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน
ประชาชนต่างต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อันเกิดจากหมอกควัน
เมื่อหมอกควันเคลื่อนตัวมาปกคลุมถนนหนทาง บ้านเรือนที่พักอาศัย ยาวนานราว 2 – 3
เดือน เด็กเล็ก คนชรา ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
ต้องยอมรับสภาพร่างกายที่อ่อนแอลง กับการมาถึงของฤดูหมอกควัน
ผู้คนที่สัญจรไปมาต้องอยู่ในความเสี่ยงภัยอุบัติเหตุทางรถยนต์ จากการถูกบดบังทัศนวิสัย ปรากฏการณ์หมอกควันเป็นภัยจากน้ำมือมนุษย์
ซึ่งควรต้องจัดการปัญหาซ้ำซากนี้ หรือบรรเทาความเสียหายจากปัญหาหมอกควันได้
หากได้เข้าถึงต้นตอแห่งปัญหาที่แท้จริง
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการที่ปรึกษานิตยสาร “สารคดี”
สื่อมวลชนผู้สนใจและเกาะติดสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
เล่าเรื่องปัญหาหมอกควัน ไว้ในเฟซบุ๊คของเขาความตอนหนึ่งว่า
“ คนในสังคมหลงเชื่อมานานแล้วว่า
ปัญหาหมอกควันพิษในภาคเหนืออันเกิดขึ้นทุกปีในช่วงหน้าแล้ง
มาจากการเผาป่าเพื่อหาเห็ด หาผักหวานของชาวบ้าน
แต่สาเหตุสำคัญคือการเผาซากไร่ข้าวโพด และเผาป่า เพื่อทำไร่ข้าวโพด
ในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ไม่มีใครกล้าพูดถึง
เราเผาป่าต้นน้ำหลายสิบล้านไร่เพื่อเปลี่ยนเป็นข้าวโพด ทำอาหารสัตว์
ส่งออกขายเมืองนอกทำกำไรให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเกษตรมหาศาล กับสิ่งที่แลกมาคือ
หมอกควันพิษ ดินถล่ม น้ำท่วม น้ำแล้ง และความยากจนเป็นหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย
หลายปีก่อน เคยขับรถมุ่งหน้าจากอำเภอจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ ไปสู่อำเภอสวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ คืออำเภอแม่แจ่ม
หนทางคดเคี้ยว แต่สองข้างทางเป็นภูเขาป่าใหญ่ บางช่วงมีลำธารทอดขนานไปกับถนน
เห็นสภาพป่าแล้วต้องไขกระจกรถออกมาสูดอากาศและชมความสมบูรณ์ความเขียวขจีของป่าต้นน้ำ
จำได้ว่าเคยหยุดพักทอดสายตาดูแม่น้ำแม่แจ่ม
มีต้นน้ำมาจากป่าใหญ่ในอุทยานแห่งชาติออบหลวงไหลผ่านอำเภอแม่แจ่มและไปออกสู่แม่น้ำปิงที่อำเภอฮอด
แต่วันนี้หากใครเดินทางไปแถวนั้น จะเห็นภาพจำได้ติดตาคือ
ภูเขาหัวโล้นสุดลูกหูลูกตา ผู้บุกรุกเผาป่า ถางป่าเตรียมพื้นที่เพาะปลูกไร่ข้าวโพด
พอหลังฤดูเก็บเกี่ยว ก็เผาซากไร่เพื่อเตรียมเพาะปลูกใหม่”
ไม่เพียงอำเภอแม่แจ่ม
และหลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ตามบันทึกของวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์เท่านั้น หากพื้นที่กว่าแสนไร่ ในเขตอำเภองาว วังเหนือ
แม่ทะ และกระจายไปในทุกอำเภอ ในเขตจังหวัดลำปาง ก็มีการบุกรุกป่าปลูกไร่ข้าวโพด
โดยมีแรงจูงใจจากบริษัทค้าพืชไร่ยักษ์ใหญ่
เป็นปรากฏการณ์ร่วมไม่แตกต่างไปจากที่เชียงใหม่ น่าน และลำพูนด้วย
เราจะรับมือกับฝุ่นละอองพิษ
หมอกควัน ที่เคลื่อนทัพมายึดเมืองลำปางในทุกช่วงต้นปีนี้ได้อย่างไร
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น