วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สวัสดี PM 2.5

จำนวนผู้เข้าชม .

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
           
เห็นแผนที่ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของกรุงเทพฯ โดยการตรวจหาจากข้อมูลดาวเทียม TERRA-AQUA ระบบ MODIS ด้วยแบบจำลอง MOD 04 แล้ว บอกเลยว่า แดงเถือก คืออยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจนน่าตกใจ กระทั่งเพื่อนชาวกรุงคนหนึ่งเปรย ๆ ว่า เห็นแล้วอยากเก็บกระเป๋าหนีขึ้นเหนือสัก10 วัน

ช้าก่อน เพื่อนเห็นหมอกขาวลอยอ้อยอิ่งปกคลุมเมืองเหนือทุกวี่วัน อย่าเห็นเป็นภาพโรแมนติก มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว อย่างเชียงใหม่ตอนนี้ คนเชียงใหม่ใช้วิธีวัดคุณภาพอากาศกันคร่าว ๆ ก็คือ วันไหนมองไปทางทิศตะวันตกแล้วเห็นดอยสุเทพในระดับรางเลือน หรือจากดอยสุเทพมองลงมาเห็นหมอกควันขาวโพลนไปหมด นั่นคืออากาศเริ่มเลวร้าย

ครั้นหันไปดูผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจังหวัดเชียงใหม่ของกรมควบคุมมลพิษกลับพบว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) ยังไม่สูงเกินค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร) แต่คนเชียงใหม่อย่าลืมว่า การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศที่ประเทศไทยใช้อยู่ยังไม่รวมฝุ่นพิษ PM 2.5 บางคนจึงเริ่มใส่หน้ากากอนามัยกันแล้ว และอันที่จริง สำหรับฝุ่นพิษ PM 2.5 นี่ หน้ากากธรรมดาไม่สามารถป้องกันได้ ต้องใช้หน้ากากอนามัยแบบพิเศษโดยเฉพาะ

เราคนลำปางก็ใช้วิธีเดียวกับคนเชียงใหม่ คือวันไหนมองไปทางทิศตะวันออกแล้วเห็นดอยพระบาทต่อเนื่องถึงดอยงาม บริเวณที่ตั้งของวัดม่อนพระยาแช่ ในระดับรางเลือน นั่นคืออากาศบ้านเราเริ่มแย่เหมือนกัน แย่มาสักพักหนึ่งแล้วเสียด้วยสิ ปกติหากอากาศดี ๆ จะเห็นเจดีย์วัดม่อนพระยาแช่เป็นจุดสีขาวเด่น แต่ตอนนี้ถูกหมอกควันกลืนหายไปเรียบร้อย

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า เดือนกุมภาพันธ์นั้น อยู่ในช่วงของปลายฤดูหนาว ลักษณะอากาศโดยทั่วไปจะมีมวลอากาศค่อนข้างหนัก หากมีฝุ่นละอองเกิดขึ้น จะทำให้ฝุ่นละอองถูกกดอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายตัวเป็นพิเศษ

ขณะที่ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) มีค่าเท่ากับ 76 ตีความได้ว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง (จริงดิ) แต่ก็ไม่แน่ ถ้ารวม PM 2.5 ในการคำนวณด้วย พื้นที่จังหวัดลำปางคงแดงเหมือนกรุงเทพฯ

PM 2.5 เป็นสารมลพิษหลัก (Major pollutants) เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อสุขภาพมาก หลายประเทศทั่วโลกจะใช้ PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ ช่วงวิกฤตหมอกควันภาคเหนือที่ผ่าน ๆ มา เพจของกงสุลสหรัฐฯ ได้รายงานตามมาตรฐานของสหรัฐฯ โดยใช้ข้อมูลจาก PM 2.5 ที่วัดได้จากสถานีที่เชียงใหม่ไปคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศตามมาตรฐานของสหรัฐฯ ซึ่งค่าที่ได้ไม่เท่ากับดัชนีคุณภาพอากาศของเชียงใหม่ที่รายงานกันออกมา

ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศนั้น กรมควบคุมมลพิษประเทศไทยยังไม่มีการนำเอา PM 2.5 มาเป็นปัจจัยในการคิดคำนวณ โดยระบุว่า เครื่องตรวจวัด PM 2.5 ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ต้องรออีกอย่างน้อย 3 ปี ดังนั้น คนไทยก็ต้องรอการประกาศดัชนีคุณภาพอากาศ PM 2.5 ของประเทศอย่างไม่มีกำหนดต่อไป  
             
           
(หนังสือพิมพ์ล านนาโพสต์ ฉบับที่ 1167 วันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2561)



Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์