
กฟผ.ใช้โดรนบินสำรวจ
เก็บข้อมูลวิเคราะห์เหตุดินสไลด์ ส่งผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศและธรณีวิทยา
เบื้องต้นพบเกิดการสไลด์จากดินชั้นที่ 3 ห่างจากพื้นราบ 100 เมตร ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ครอบคลุมเนื้อที่ 200 ไร่
ลักษณะเป็นดินเหนียวอุ้มน้ำ ผู้บริหารเผยเร่งดำเนินการเรื่องใช้เส้นทาง วาง 2 แนวทาง กู้เส้นทางเดิม
หรือเปลี่ยนใช้เส้นทางใหม่ ส่วนกรณีคนสูญหายยังไม่มีหลักฐานชี้ชัด
เมื่อวันที่
18 มี.ค. 61 นายถาวร งามกนกวรรณ
รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. นายบรรพต
ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ นายสมชาย หวลกสิน อุตสาหกรรมจังหวัด
ตัวแทนฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง อ.แม่เมาะ
ร่วมแถลงข่าว กรณีเกิดเหตุดินสไลด์บริเวณที่ทิ้งดินด้านตะวันตกของเหมืองแม่เมาะ
เมื่อเวลา 01.01 น.
ของวันที่ 18 มี.ค. 61
ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ
จ.ลำปาง
ส่งผลให้เสาส่งไฟฟ้าแรงสูงจำนวน 5 ต้น สายพานลำเลียงดิน
ได้รับความเสียหายบางส่วน
และถนนบริเวณเลียบคลองส่งน้ำ ต.แม่เมาะ เชื่อมต่อบ้านห้วยคิง ต.แมเมาะ
และบ้านดง ต.บ้านดง ถูกปิดเส้นทางรถไม่สามารถผ่านได้ โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตแต่อย่างใด
นายถาวร งามกนกวรรณ
รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า
เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าของภาคเหนือและยังสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามปรกติ
ส่วนสายพานลำเลียงดินบางส่วนบริเวณเหมืองแม่เมาะได้รับความเสียหาย และเส้นทางสัญจรบริเวณถนนเลียบคลองส่งน้ำไม่สามารถใช้งานได้ จึงทำการปิดถนน และรายงานสถานการณ์ให้จังหวัดลำปาง ฝ่ายความมั่นคง หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชน
พร้อมแจ้งประชาชนให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางสัญจรบริเวณถนนเลียบอ่างเก็บน้ำแม่ขามแทนเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะต้องเพิ่มระยะทางการเดินทางประมาณ 5
กิโลเมตร
นายบรรพต
ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าวว่า การเกิดเหตุดินสไลด์ดังกล่าว
ได้มีสัญญาณเตือนมาตั้งแต่ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 17 มี.ค.
พบว่าดินมีการเคลื่อนตัว ทางเจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้ผู้ปฎิบัติงานทราบ
ให้ออกจากพื้นที่ใกล้เคียงและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด กระทั่งเกิดเหตุช่วง 01.01 น. และการปิดเส้นทางไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าในพื้นที่นั้น เนื่องจาก
กฟผ.จะต้องเฝ้าระวังการเคลื่อนตัวของดินอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
เพื่อความปลอดภัย ไม่ได้กีดกันแต่อย่างใด
จากนั้นนายทรงพล
สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ สำหรับการทิ้งดินนั้นจะมีการทิ้งเป็นขั้นบันไดการสโลป
ประมาณ 70 องศา
และกองดินสูงสุดอยู่ที่ 250-300 เมตร
โดยดินที่สไลด์ตัวลงมานั้น พบว่าเกิดจากดินชั้นที่ 3 สูงจากพื้นราบประมาณ 100
เมตร ซึ่งเป็นจุดทิ้งดินเก่านานประมาณ 20 ปี
และมีการปลูกต้นไม้ทดแทนไปแล้ว
สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการอุ้มของต้นไม้และน้ำในดินที่สะสมไว้นาน
อาจมีลำห้วยไหลผ่านในจุดดังกล่าว
จึงทำให้ดินเคลื่อนตัวในช่วงกลางและกวาดเอาดินชั้นบนไหลลงมาด้วย ระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร กว้าง 300 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งลักษณะของดินมีสีเข้มและม้วนตัว เหมือนดินเหนียว
มีดินสีเทาที่ลักษณะแห้งคล้ายดินทรายปะปนคาดว่าเป็นช่วงหน้าดิน ซึ่งต้องตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป
ส่วนการดำเนินการต่อไปนั้น
นายบรรพต กล่าวว่า กฟผ.ได้ประสานผู้เชี่ยวชาญด้านดินสไลด์จากต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบอย่างเร่งด่วนเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
หาแนวทางการแก้ไข และการดำเนินการเปิดเส้นทาง
คงใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องศึกษาให้ละเอียดไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก
ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ
เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง
กฟผ.ได้ดำเนินการใช้โดรนบินสำรวจและบันทึกภาพทางอากาศ นำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเกิดเหตุดังกล่าว
และจะรวมรวบข้อมูลส่งให้ทางผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบอีกครั้ง
รวมไปถึงส่งข้อมูลให้ทางสำนักทรัพยากรธรณี เขต 1 ลำปาง
เพื่อขอข้อคิดเห็นด้วย
นอกจากนั้นได้เร่งดำเนินการในเรื่องเส้นทาง 2 แนวทาง
คือ การกู้เส้นทางเดิม โดยนำดินออกให้เร็วที่สุด มีการทำกำแพงเสริม อีกแนวทางคือเปลี่ยนเส้นทางใหม่เลย
ตอนนี้ได้จัดการให้ประชาชนใช้เส้นทางเลี่ยงไปชั่วคราวก่อน
โดยจะมีทำป้ายแจ้งบอกไว้
ขณะที่นายศุกษ์
ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง ได้ยื่นข้อเสนอให้ทาง กฟผ.เร่งดำเนินการ
ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค.61 ที่ผ่านมา
เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในเขตตำบลบ้านดง
โดยขอให้
กฟผ.แม่เมาะดำเนินการในระยะสั้นเร่งด่วน คือ
การสัญจรใช้เส้นทางไปอำเภอแม่เมาะโดยไป
ทางอ้อมนั้นให้
กฟผ.ติดป้ายประชาสัมพันธ์บอกทางให้ชัดเจนให้มี รปภ.คอยโบกบอกเส้นทางตลอด 24ชั่วโมงหรือเท่าที่มีความเสี่ยงในแต่ละช่วงเวลาของการใช้ทางร่วม ให้
กฟผ.แม่เมาะเร่งดำเนินการเปิดเส้นทางสายในให้กับพนักงานบริษัทต่างๆ
โดยไม่ไปเส้นทางอ้อม
รวมทั้งติดตามในกรณีอาจมีผู้คนสูญหายจากอุบัติเหตุดินถล่มที่เกิดขึ้น
และสัตว์เลี้ยง โดยขอให้มีการแสดงต่อ ความรับผิดชอบต่อสังคม
เร่งเข้าพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆค้นหาสาเหตุของการเกิดดินถล่มแผ่นเปลือกดินแตกแยกนั้น
ควรมีสัญญาณเตือนภัยบริเวณพื้นที่เขตทำเหมืองและที่ทิ้งดิน
เร่งให้มีการสำรวจเส้นทางใหม่ที่มีความปลอดภัยให้กับการใช้เส้นทางของประชาชนในเขต
บ้านดง-แม่เมาะ
พร้อมจัดทำประกาศการใช้เส้นทางทดแทนให้ชัดเจน
เพื่ออาจเกิดกรณีอุบัติเหตุหรือกรณีต่างๆในการใช้เส้นทางร่วมของ กฟผ.แม่เมาะ และให้ทางฝ่ายรับผิดชอบของ กฟผ.แม่เมาะ
รายงานถึงการแก้ไขปัญหาและรายงานการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในทุกเวลา มายัง
อบต.บ้านดง เพื่อจะได้ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชน ได้รับทราบต่อเนื่อง
สำหรับกรณีที่มีผู้สูญหาย
นายบรรพต กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการเกิดเหตุดินสไลด์ไม่ได้เกิดขึ้นกะทันหัน
แต่ดินค่อยๆเคลื่อนตัวลงมา
เมื่อมีสัญญาณของดินเคลื่อนตัวจึงเฝ้าระวังและปิดเส้นทางดังกล่าว โดยดินได้มีการเคลื่อนตั้งแต่ช่วงเวลา 01.00 น.
ของวันที่ 18 มี.ค.และค่อยๆขยับตัวมาเรื่อยๆจนถึงเวลา 03.00
น.
ไม่ได้ถล่มลงมาครั้งเดียวจบ และจากการสอบถาม
รปภ. ทราบว่าพบน้องคนที่หายตัวไปขี่รถผ่านมา แต่ได้ปิดทางไว้ไม่ให้รถจักรยานยนต์ผ่านเข้ามาในเส้นทางดังกล่าวแต่อย่างใด
ซึ่งการตามหาตัวเป็นกระบวนการสืบสวนสอบสวนของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป
ด้าน
พ.ต.ท.ยงศักดิ์ มาวงค์ หัวหน้าพนักงานสอบสวน สภ.แม่เมาะ กล่าวว่า
กรณีการหายตัวไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ดินสไลด์ของ นายภัททิยา บัวงาม อายุ 25 ปี หรือตูน ซึ่งญาติได้แจ้งความไว้เมื่อวันที่ 19
มี.ค.ที่ผ่านมานั้น
ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบกล้องวงจรปิดจากจุดที่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุมากที่สุด
และติดตามสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งสอบสวนผู้ใกล้ชิด
โดยยังไม่ได้มีหลักฐานชี้ชัดว่าหายตัวไปลักษณะใด ส่วนกรณีที่มีการแจ้งว่าพบศพใต้กองดิน
เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น