เรื่องหวย 30 ล้าน
คิดแบบผิวเผิน ก็เป็นเรื่องของคนสองคน
เถียงกันเรื่องกรรมสิทธิ์ในสลากกินแบ่งรัฐบาล ฉบับที่ถูกรางวัล
สุดท้ายปลายทางใครจะแพ้หรือชนะ ใครจะได้เงิน 30 ล้านบาทไป
คนทั่วไปก็ไม่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อะไร แต่หากมองในอีกมิติหนึ่ง
นี่เป็นคดีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการสอบสวนของตำรวจที่ไม่โปร่งใส
และสมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิรูปตำรวจอย่างเร่งด่วน
โดยเฉพาะ เมื่อตำรวจระดับผู้บังคับการจังหวัด
เป็นเช่นนี้
พลันที่
พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์
ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก. )กล่าวคำ ว่า พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล
อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี ไม่ได้ทำงานด้วยความทุจริต
แต่วุฒิภาวะต่ำ ขาดทักษะในการสอบสวน คำถามก็ดังกระหึ่มขึ้นมาทันที
คนระดับนายพลตำรวจตรี
ซึ่งต้องผ่านชั้นยศ กระบวนการ ขั้นตอนการทำงานสืบสวน สอบสวน มายาวนาน
ยังไม่มีทักษะในการสอบสวน แล้วเราจะวางใจได้หรือไม่ว่า ผู้บังคับการตำรวจภูธร อีก 76 จังหวัด
จะไม่เป็นเช่นนี้ ดังนั้น
ก็แปลว่าประสบการณ์การทำงานของนายตำรวจที่ถือว่าเป็นหมายเลข 1 ของแต่ละจังหวัดนั้น
ไม่ได้เป็นหลักประกันเลยว่า การทำคดีจะมีประสิทธิภาพ เที่ยงธรรม
มีมาตรฐานที่ชาวบ้านจะหวังพึ่งพาได้
คำถามสำหรับคนที่เกาะติดคดีพิพาทสลากกินแบ่งรัฐบาล
30 ล้านบาท ที่ไหลเทมาทางด้านหมวดจรูญ
วิมูล คงกังขา และเริ่มสงสัยว่า ตำรวจจะปกป้องกันเอง เพราะก่อนหน้านั้น
ก็มีกระแสข่าวที่ทำให้เชื่อว่า เรื่องนี้มีการกระทำกันอย่างเป็นขบวนการ
มีข้อพิรุธหลายอย่าง มีข้อควรคิดว่านายตำรวจใหญ่บางคน น่าจะมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง
จนกระทั่งมีถ้อยคำว่า ให้ทำสำนวนให้กลมกลืน
สุดท้าย
กลับได้รับคำตอบว่า พล.ต.ต.สุทธิ ไม่ได้มีเจตนาทุจริต นั่นหมายความว่า
เขาจะไม่ต้องรับโทษหรืออย่างไร เพราะการกระทำความผิด น่าจะต้องทำด้วยเจตนาทุจริต
ความเป็นจริง กฎหมายอาญามาตรา
157 ไม่ได้เขียนว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องมี “เจตนาทุจริต”
แต่ประการเดียว กฎหมายมาตรานี้ แยกความผิดออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง คือ
เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
ทางหนึ่งคือ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดของ
พล.ต.ต.สุทธิ อยู่ในส่วนแรก คือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
สั่งการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขสำนวนการสอบสวนในสาระสำคัญ ซึ่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้ว
หมวดจรูญจะต้องถูกดำเนินคดีฐานยักยอก รับของโจร
ก็ถือว่าเกิดความเสียหายแก่หมวดจรูญ
ส่วนเรื่องทุจริต
จะต้องได้ความว่า มีเจตนา เรียก รับเงินหรือผลประโยชน์
แลกเปลี่ยนกับการทำสำนวนให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนมาตั้งแต่แรก
โดยไม่จำเป็นจะต้องมีผู้เสียหายหรือไม่ คดีนี้ได้ฟังจาก พล.ต.ท.ฐิติราช ว่า
มีการเสนอผลประโยชน์จริง แต่หลังจากที่คดีมีการสอบสวนแล้ว และพล.ต.ต.สุทธิ ก็ไม่ได้รับข้อเสนอแต่อย่างใด
ดังนั้น
แม้ภาพในใจของสังคมจะไม่ค่อยเชื่อถือตำรวจ
และเกิดข้อกังขาขึ้นมาฉับพลันเมื่อพล.ต.ท.ฐิติราช กล่าวคำว่า พล.ต.ต.สุทธิ
ไม่มีเจตนาทุจริต แต่ก็ต้องเข้าใจ และเชื่อในกระบวนการสอบสวนของตำรวจว่า
ไม่พบความผิดของพล.ต.ต.สุทธิ ที่ครบองค์ประกอบ ในการแจ้งข้อหาทุจริต ถึงกระนั้น พล.ต.ต.สุทธิ
ก็ยังไม่พ้นผิดในฐานความผิดเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 157 อีกทั้งกระบวนการจากนี้
ไปจนถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ก็ยังมีรายละเอียดในการไต่สวน และขั้นตอนอื่นๆอีกมาก เพื่อความรอบคอบ รัดกุม
ก่อนส่งคดีไปที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
ความผิดฐานทุจริต
อาจจะโผล่ในกระบวนการไหนก็ได้ ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นไปตามคำของ ผบช.ก.ทุกประการ
พล.ต.ต.สุทธิ คุกแน่
แต่กินแกงร้อนต้องใจเย็นๆ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1171 วันที่ 16 - 22 มีนาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น