วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561

บางช่วงบางตอนของล้านนา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

นาทีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนั้น ได้นำมาซึ่งเทรนด์ใหม่ในคำพูดคำจา การแต่งกาย หรือแม้แต่แนวโน้มในการหันมาท่องเที่ยวโบราณสถาน โดยเฉพาะแหล่งมรดกโลกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ขณะเห็นภาพความรุ่งโรจน์ เจิดจรัสของกรุงศรีอยุธยา เรากลับสงสัยว่า แล้วอาณาจักรล้านนาของเราล่ะ เป็นอย่างไรบ้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงครองราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2199-2231 ค้นข้อมูลดูแล้วก็ปรากฏว่า เป็นยุคที่อาณาจักรล้านนาอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า (ช่วงปี  พ.ศ. 2101-2317)

ย้อนกลับไปในสมัยท้าวเมกุ (เมกุฎิ) (ปี พ.ศ. 2094-2107) นับเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรล้านนา โดยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพเข้าตีอาณาจักรล้านนาได้ในปี พ.ศ. 2101 ล้านนาจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ารับตั้งแต่นั้น เมื่อพระเจ้าบุเรงนองตีอาณาจักรล้านนาได้แล้ว ได้แต่งตั้งพระนางวิสุทธเทวีขึ้นเป็นเจ้าเมืองภายใต้การปกครองของพม่า ซึ่งถือเป็นองค์สุดท้ายในราชวงศ์มังราย ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลากว่า 200 ปี แม้ว่าบางช่วงจะขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ทั้งนี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงส่งทัพหน้าที่มีแม่ทัพคู่ใจอย่างเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) มาตีเมืองลำปางและเมืองลำพูนก่อน ส่วนเมืองเชียงใหม่พระองค์จะจัดทัพหลวงมาเสริม

ในการปกครองล้านนา พม่าส่งขุนนางพม่า หรือบางครั้งก็เป็นเจ้านายล้านนาขึ้นปกครองภายใต้อำนาจของพม่า โดยมีนโยบายที่สำคัญ คือ สนับสนุนให้ชาวล้านนาหัวเมืองต่าง ๆ ปกครองกันเอง แล้วขึ้นต่อพม่า เป็นนโยบายที่ไม่ให้หัวเมืองเหล่านั้นรวมตัวกันได้ จึงทำให้ล้านนาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองครั้งนี้เป็นเวลายาวนาน ดูเหมือนว่าพม่าได้ใช้เมืองเชียงแสนเป็นศูนย์กลางในการปกครองในช่วงเวลานี้ และใช้ล้านนา อันเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งเสบียงในการทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาและล้านช้าง จนสามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ในเวลาต่อมา

ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าจนถึงสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี จึงสามารถเป็นอิสระจากพม่าได้ โดยการรวมตัวของเจ้าเมืองในล้านนาและขอกำลังสนับสนุนจากกรุงธนบุรี แต่ล้านนาก็กลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เมืองลำปางของเรามีวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นแหล่งรวมมรดกล้านนายุคทอง ได้แก่ วิหารพระพุทธ ซึ่งถือเป็นวิหารล้านนาที่ไม่ใช้วิหารร้างที่เก่าแก่ที่สุด สร้างในปี พ.ศ. 2019 / วิหารน้ำแต้ม อายุเก่าเป็นอันดับสอง และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังล้านนาที่เก่าแก่ อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 / วิหารหลวง อายุเก่าเป็นอันดับสาม มีซุ้มโขงพระเจ้าล้านทองที่งดงามสมบูรณ์ที่สุด / ซุ้มประตูโขงวัด สร้างในปี พ.ศ. 2019 ถือเป็นซุ้มประตูทางเข้าวัดล้านนาที่มีความสมบูรณ์และมีลวดลายปูนปั้นงดงามที่สุด / หอธรรมล้านนาที่เก่าที่สุด สร้างในปี พ.ศ. 2067 / องค์พระธาตุลำปางหลวง พระเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา อายุต้นพุทธศตวรรษที่ 21

ส่วนวิหารที่มีการสร้างในพุทธศตวรรษที่ 23 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาก็คือ วิหารวัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2226

ไม่อาจคาดเดาได้เหมือนกันว่า การตื่นขึ้นของกระแสรักชาติจะอยู่ในสังคมไทยนานแค่ไหน แต่มันได้นำมาซึ่งการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะอยากรู้จักบุคคลสำคัญในอดีต สถานที่ในอดีต ที่นอกจากจะทำให้ดูละครสนุกขึ้นแล้ว ยังซึมซับรับรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยในมิติต่าง ๆ อีกด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1171 วันที่ 16 - 22 มีนาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์