ชาวบ้าน
4 หมู่บ้าน ต.แม่ทะ ค้านบริษัทยักษ์ใหญ่ เตรียมเข้ามากว้านซื้อที่ดิน
สร้างโรงเชือดหมู หวั่นเกิดปัญหามลพิษทุกด้าน จังหวัดเรียกประชุมด่วนทุกฝ่ายเพื่อหาทางออก
ขณะที่ซีพีเอฟระบุอยู่ระหว่างขั้นตอนการสำรวจพื้นที่เท่านั้น ด้านนายก ทต.แม่ทะ
วอนทบทวนยุติโครงการ
-รวมตัว
เมื่อเวลา 09.00
น.วันที่ 24 เม.ย.61 ชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้าน ใน ต.แม่ทะ ประกอบด้วย บ้านแม่ทะ หมู่ 1 บ้านน้ำโทกหัวดง หมู่ 4 บ้านน้ำโทก หมู่ 8 และบ้านแม่ทะม่วงคำ หมู่ 9 รวมตัวกันประมาณ 50 คน มาที่สี่แยกแม่ทะ พร้อมกับนำป้ายไวนิลขนาดใหญ่มาติดตั้งบริเวณกลางแยกว่า
“คนแม่ทะ เราไม่เอาโรงฆ่าหมู” พร้อมกับยืนเรียงแถวชูป้ายและส่งเสียงพร้อมกันว่า ไม่เอาโรงฆ่าหมู
เพื่อแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานเชือดหมูของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง
ที่มีแผนจะมาตั้งโรงงานขนาดใหญ่ในพื้นที่ หมู่ 8 ต.แม่ทะ
-ไม่เอาโรงเชือดหมู
นายศรัณย์พร อินแถลง ตัวแทนชาวบ้าน
กล่าวว่า การเข้ามาตั้งโรงงานดังกล่าวจะทำให้เกิดผลเสียระยะยาวหลายข้อ
ชาวบ้านต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ในเรื่องมลพิษ กลิ่น เสียง โดยเฉพาะเรื่องน้ำ
ในเขต ต.แม่ทะ ก็ขาดแคลนน้ำอยู่แล้ว หากมีโรงงานมาตั้งก็ต้องใช้น้ำจำนวนมากต้องเกิดปัญหาการแย่งน้ำกันอย่างแน่นอน
ตามมาด้วยปัญหาแรงงาน ที่จะต้องนำคนจากที่อื่นเข้ามา ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน
อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมาได้ อีกทั้งจะมีเรื่องถนนหนทางที่ชำรุดเสียหายเพราะมีการขนส่งทั้งขาเข้าขาออก
พื้นที่การเกษตรถูกทำลายไปด้วย
-ข้อดีมีน้อยนิด
ส่วนข้อดีของการตั้งโรงงาน
มีเพียงน้อยนิดซึ่งก็ยังไม่รู้ได้ว่าจะดีจริงหรือไม่ เช่น
เรื่องเศรษฐกิจดีมีความเจริญ ก็เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น หรือการได้ซื้อหมูในราคาถูก
ชาวบ้านก็มีตลาดของชาวบ้านเองที่เป็นผู้ค้ารายย่อย ซึ่งมีมาตรฐานราคาอยู่
หากมีโรงงานเข้ามากลุ่มแม่ค้าเขียงหมูในตลาดก็คงต้องตกงาน
และอีกข้อคือลูกหลานมีงานทำใกล้บ้าน หากลูกหลานคนรุ่นใหม่จบ ป.ตรี
มาคิดว่าคงไม่มีใครเข้าไปทำงานรับจ้างแล่ชิ้นส่วน ล้างเลือด ล้างขี้หมู
โดยได้ค่าจ้างรายวันขั้นต่ำตามที่รัฐบาลประกาศ และสวัสดิการตามกฎหมายกำหนด โดยการมารวมตัวกันครั้งนี้
ก็เพื่อแสดงออกอย่างชัดเจนว่าชาวบ้านไม่เอาโรงฆ่าหมูอย่างเด็ดขาด และจะต่อต้านทุกด้าน
ทั้งนี้ จากรายงานข่าวทราบว่า
ทางตัวแทนจากบริษัทดังกล่าวได้พยายามเข้ามาให้การสนับสนุนในพื้นที่
โดยการสมทบทุนในการจัดกิจกรรมต่างๆของหมู่บ้าน
และผ่านทางผู้นำชุมชนบางคนเพื่อต้องการให้ประชาคมหมู่บ้านผ่าน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำประชาคมไปแล้ว 1
หมู่บ้าน คือ หมู่ 8 บ้านน้ำโทก
แต่ไม่ผ่านการประชาคมแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หากจะมีการประชาคมในครั้งต่อไป ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า
จะต้องทำประชาคมทั้ง 4 หมู่บ้าน
โดยชาวบ้านจะคัดค้านทุกทางไม่ว่าจะเป็นกรณีใดทั้งสิ้น
-จังหวัดประชุมด่วน
ต่อมาวันที่ 25
เม.ย.61 เวลา 14.00 น. นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์
รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
เป็นประธานการประชุมการจัดตั้งโรงงานชำแหละสุกรในพื้นที่ ต.แม่ทะ อ.แม่ทะ
จ.ลำปาง โดยมีหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง
ปลัดอำเภอแม่ทะ นายกเทศมนตรีตำบลแม่ทะ ตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด
สาขาเชียงใหม่ หรือซีพีเอฟ ตัวแทนจากอุตสาหกรรมจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
เข้าร่วมประชุม
โดยทางปลัดอำเภอแม่ทะ ได้รายงานถึงปัญหาการคัดค้านการก่อสร้างโรงชำแหละสุกรดังกล่าว
ให้ทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้รับทราบในเบื้องต้น จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ตัวแทนชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ซึ่งตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมประมาณ 10
คน
ต่างยืนยันว่าไม่ต้องการให้มีการตั้งโรงชำแหละในพื้นที่ ต.แม่ทะ
อย่างเด็ดขาด เนื่องจากชาวบ้านเป็นห่วงเรื่องมลภาวะ
และเรื่องการทำประชาคมไม่ครอบคลุมพื้นที่ได้รับกระทบในการก่อสร้าง
-อย่าเพิ่งกังวล
นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ปศุสัตว์มีกฎหมายควบคุมการฆ่าสัตว์
รวมถึงทางโยธาและผังเมือง
อุตสาหกรรมต่างๆ
สิ่งสำคัญคือการทำประชาคม ที่ผ่านมาทำกันผิดทั้งนั้น เทศบาล และ อบต.ในพื้นที่ต้องไปทำประชาคม
ไม่ใช้ให้ผู้มาขออนุญาตไปทำเอง
ต้องไปฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าต้องการอะไร จะย้ำเสมอว่าการทำประชาพิจารณ์คือการรับฟังความคิดเห็น
ถ้า ผู้ประกอบการตอบคำถามได้ชัดเจนทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วง เป็นดุลพินิจที่ผู้มีอำนาจขออนุญาตไปประกอบการพิจารณา
แต่ถ้ามีประเด็นที่ยังตอบไม่ได้ ทางผู้ขออนุญาตต้องหาแนวทางมาให้ได้ ต้องใช้เหตุผลในการดำเนินการ ความห่วงกังวลของประชาชนตนเองเข้าใจดี
เพราะทำงานในพื้นที่เมื่อครั้งเป็นนายอำเภอมาหลายสิบปี
พบปัญหาแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานในพื้นที่ย่อหย่อน
ไม่เคยตรวจดูว่าหลังก่อสร้างไปแล้ว ทางโรงงานดำเนินการถูกต้องเรียบร้อยหรือไม่
เมื่อเก็บภาษีแล้วก็ปล่อยปละละเลย ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความไม่ไว้วางใจ
เกรงว่าถ้ามีบริษัทมาตั้งใหม่ก็จะเกิดความเดือดร้อน
-ต้องผ่านกฎหมายหลายฉบับ
รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า
การขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานในลักษณะนี้ จะต้องผ่านกฎหมาย 4 ฉบับ
ประกอบด้วย พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535
พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2529 พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ทั้ง 4
ฉบับนี้จะมีกฎกระทรวงกำหนดรูปแบบการกลั่นกรองไว้ว่าผู้ขออนุญาตจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง
รวมไปถึงกฎหมายอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เพราะต้องมีการนำเครื่องจักรเข้ามาในพื้นที่ ขอให้มั่นใจว่าการอนุญาตในเรื่องที่เกี่ยวข้องจะเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
ในความเป็นห่วงของชาวบ้านเรื่องน้ำบาดาล
ทางเจ้าหน้าที่ทรัพยากรน้ำบาดาลจะสามารถให้ข้อมูลได้ ตอนนี้ชาวบ้านอาจจะกังวลไป
บางทีเราอาจหาเหตุผลเข้ากับความเชื่อของเรา ถ้าเปิดใจกว้างรับความคิดเห็นของคนอื่น
ก็อาจจะเป็นผลดีเกิดมากกว่า แต่ถ้ามีผลเสียเกิดขึ้นก็จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
มีการพักใบอนุญาต ถอนใบอนุญาต
-แม่ทะไม่มีความสุข
นายศุภรัช ตุ้ยใจ
นายกเทศมนตรีตำบลแม่ทะ กล่าวว่า ทางเทศบาลทราบเรื่อง แต่ไม่ได้รับเรื่อง
ซึ่งทราบว่าทางหมู่บ้าน หมู่ 8 ได้มีการประชุมหมู่บ้าน แต่ไม่ใช่การทำประชาคม และมีตัวแทนบริษัทซีพีเอฟเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
ข้อวิตกกังวลหลังจากที่ทางผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งมติในที่ประชุม
มีราษฎร หมู่ 1 หมู่ 4 หมู่ 8 หมู่ 9 ยื่นหนังสือมายังเทศบาลขอคัดค้านการก่อสร้างโรงเชือด
ทางเทศบาลจึงแจ้งว่าจะจัดเวทีให้ทางซีพีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมชี้แจง
โดยได้จัดขึ้นวันที่ 3 เม.ย.61
ที่ผ่านมา
ชาวบ้านหวาดผวาถึงสิ่งที่เป็นผลกระทบ และเกิดการขัดแย้ง
ระแวงสงสัยกันขึ้นในชุมชน
ก่อให้เกิดปัญหาสังคม แม่ทะจะไม่มีความสุขแล้ว ลำปางมี
13 อำเภอ มีอีก 12 อำเภอ และหาก
ต.แม่ทะ ไม่ต้องการก็ยังเหลืออีก 9 ตำบล ถ้าสร้างความเดือดร้อนไม่สบายใจก็ขอให้ทบทวนกันใหม่ดีหรือไม่
ให้วิถีชีวิตของชุมชนกลับมาเป็นดังเดิม
-อยู่ระหว่างสำรวจ
ขณะที่ตัวแทนจากซีพีเอฟ กล่าวว่า เนื่องจากเราเป็นบริษัทใหญ่
คือมีมาตรฐานของการสร้างโรงงานและการดูแลสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่ลงตรงพื้นที่เป็นโรงเชือดขนาดเล็ก
เราทำโรงเชือดทั่วทุกภูมิภาค และตางประเทศ คงไม่เอาชื่อเสียงมาทิ้งตรงนี้
เหนือสิ่งอื่นใดสาเหตุที่จะมาทำโรงชำแหละที่ลำปางเนื่องจากคิดว่าในอนาคตการบริโภคเนื้อสัตว์ต้องสะอาดปลอดภัย มีคอนแท็กฟาร์มมิ่งเกษตรกรนับร้อยราย ป้อนให้กับลำปางและเชียงใหม่
อยากจะยกระดับให้มีโรงเชือดที่ได้มาตรฐานและตรวจสอบย้อนกลับได้
มีใบรับรองที่สากลยอมรับ ผลิตเนื้อหมูให้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
การเลือกสถานที่ต้องผ่านหน่วยงานราชการ
ไม่มีการทำผิดกฎหมายแน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ว่าพื้นที่เป้าหมายเป็นพื้นที่เหมาะสม
สำรวจการขุดเจาะน้ำบาดาลว่ามีเพียงพอหรือไม่ สำหรับระยะห่างของโรงงานกับหมู่บ้าน จากกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์
เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559
เงื่อนไขในการตั้งโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์
สถานที่ตั้งต้องอยู่ในทำเลที่เหมาะสม การคมนาคมสะดวก อยู่ห่างจากแหล่งชุมชน ภายในระยะ 100 เมตร ซึ่งพื้นที่จะใช้ก่อสร้างเป็นพื้นที่ หมู่
8 รวม 40 ไร่ ห่างจากชุมชนประมาณ 1
ก.ม. และห่างจากพื้นที่ หมู่ 4 ประมาณ 2
ก.ม.
แต่จะห่างจากหน่วยป้องกันรักษาป่าฝั่งตรงข้ามถนน 400 เมตร โดยตัวโรงงานจะมีขนาด 3,000
ตารางเมตร ใช้พื้นที่ก่อสร้าง 1.88 ไร่
-ขอความเป็นธรรม
ตัวแทนซีพีเอฟ
กลาวอีกว่า ส่วนที่ทางบริษัทเข้าร่วมกิจกรรมกับประชาชน
ถ้าเราไปอยู่ที่ไหนก็จะมีกิจกรรม CSR ให้กับชุมชน ในเรื่องนี้สุดท้ายแล้วทางซีพีก็ต้องเคารพกฎหมายเคารพชุมชน
อยากให้พิจารณาทบทวนให้ความเป็นธรรมกับบริษัท เพราะเรามาถูกกฎหมาย
ถ้าทำประชาคมแล้วในหมู่บ้านไม่รับเราก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ขอให้เสียงส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสิน
ทางตัวแทนชาวบ้านได้สอบถามว่า
ขอให้ทางซีพีเอฟตอบให้ชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่
ซึ่งทางผู้แทนของซีพีเอฟกล่าวว่า จะต้องขออนุญาตอีกหลายฝ่าย
จะต้องทำเรื่องไปหารือกับทางผู้บริหารต่อไป
-นายกฯขอทบทวนยุติโครงการ
ขณะเดียวกัน
นายกเทศมนตรีตำบลแม่ทะ กล่าวทิ้งท้ายว่า
สิ่งที่อยากขอความร่วมมือซีพีช่วยทบทวนโครงการหากว่าโครงการนี้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
แล้วจะอยู่บนความทุกข์ของประชาชนได้หรือไม่ หากจำเป็นต้องใช้พื้นที่แม่ทะ
ก็พอจะแนะนำพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อย
ถ้ายังไม่ได้ลงทุนอะไรมากมายก็ขอให้ซีพีทบทวน
ถือว่าสงสารประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และใกล้เคียง
ขอให้ทางซีพีให้คำตอบที่จะทำให้พี่น้องประชาชนสบายใจ
-ต้องทำประชาคม
ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นเวทีที่ผู้แทนของทุกภาคส่วนได้มาใช้เหตุผลในการพูดคุยกัน
ประชาชนจะได้รับทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการ
อย่างไรก็ต้องมีการรับฟังความคิดเห็น มีการทำประชาคมอย่างแน่นอน
ซึ่งต้องเคารพเสียงอื่นๆในหมู่บ้านด้วย บริษัทต้องนำเรื่องนี้ไปพิจารณา ซีพีเอฟเป็นบริษัทขนาดใหญ่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยส่วนหนึ่งต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้
เชื่อว่าทางบริษัทมีวิธีการที่จะตัดสินใจ ฝากไปยังทางนายอำเภอแม่ทะให้ประชุมทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วยว่าขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการใดตามขั้นตอนของกฎหมาย
ถ้าจะยื่นขออนุญาตต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างแน่นอน
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบ