ผู้ว่าฯสั่งกลั่นกรองถี่ยิบ
โครงการกองทุนไฟฟ้าปี 62 รองผู้ว่าฯยันตรวจสอบให้ละเอียดมากที่สุด
เน้นตั้งอนุกรรมการตรวจสอบเข้มการซื้อหมู่ซื้อไก่ การศึกษา และสาธารณสุข หลังจาก 6
ปีที่ผ่านมาใช้เงินไม่ตอบโจทย์ เผยที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณสูงเกินจริง
เนื่องจากไม่มีการอิงราคากลาง
เมื่อวันที่
17 เม.ย.61 ที่ผ่านมา
นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ได้เป็นประธานการประชุมการกลั่นกรองโครงการ
งบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ปี 2562
ร่วมกับนายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และหัวหน้าส่วนราชการ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อ.แม่เมาะ
เพื่อเป็นการทำความเข้าใจในการนำเสนอโครงการการใช้งบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
ในปีงบประมาณ 2562
นายศรีโรจน์
นิมมานพัชรินทร์
รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้นัดประชุมให้แนวทางการใช้เงินกองทุนในปี
2562 เนื่องจากตั้งแต่ปี 2555 ที่มีการตั้งกองทุนขนาดใหญ่ขึ้นมาใช้เงินก็ยังไม่เกิดประโยชน์สูงสุด
ไม่ตอบปัญหาในพื้นที่จริง เมื่อช่วงเดือน ม.ค.61 ที่ผ่านมา
จึงได้มีการเริ่มปรับการขออนุมัติโครงการของปี 62
ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะที่ผ่านมาอาจเข้าถึงคนกลุ่มเดียว
ซึ่งทางอำเภอแม่เมาะมีแผนพัฒนาอำเภออยู่แล้ว
น่าจะนำแผนเหล่านี้มาประกอบกับการทำโครงการ
นอกจากนั้นยังได้มีการกลั่นกรองโครงการเพิ่มเติมกับปีก่อน คือ
มีการตั้งคณะกรรมการจากคนภายนอกเข้ามาร่วมกลั่นกรอง เช่น การซื้อหมู ซื้อไก่
เสนอแต่งตั้งให้ นายศรีโรจน์ รองผู้ว่าฯ
เป็นประธานอนุกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งโครงการจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านจริง นอกจากนั้นด้านการศึกษา ได้เชิญอาจารย์สมาน
ฟูแสง มาเป็นประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข
ได้ตั้งให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลงไปตรวจสอบ ซึ่งในปี 62
กำหนดทำโครงการเสนอคณะกรรมการกองทุนให้เสร็จภายในวันที่ 15
พ.ค.61 นี้
รองผู้ว่าราชการจังหวัด
กล่าวว่า
การเริ่มคัดกรองโครงการได้เริ่มมาตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
หลักเกณฑ์คือ
ต้องเป็นโครงการที่กฎหมายรองรับ จะซื้อของแจกเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ และ ต้องเป็นโครงการที่มีการดูแลทรัพย์สินต่อไป
เช่น ครุภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ แอร์ ตู้เย็น
ที่ผ่านมาไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงาน ต่อไปนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต้องเข้ามาดูแลต่อ
รวมไปถึงเรื่องสาธารณูปโภค ถนนหนทางด้วย จะไม่มีการตั้งงบกองทุนเข้ามาดูแลรักษา
หน่วยงานต้องรับดูแลเอง
โดยจะมีการแบ่งสัดส่วนงบประมาณทั้งหมด ให้ลงด้านการศึกษา 10
เปอร์เซ็นต์ แหล่งน้ำ 10 เปอร์เซ็นต์ และสาธารณสุข 10 เปอร์เซ็นต์ แบ่งให้นอกพื้นที่ 12
อำเภอ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 60
เปอร์เซ็นต์ นำมาแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกแบ่ง 3 ส่วน
ให้กับหมู่บ้าน ให้หมู่บ้านเสนอผ่านการประชาคม
หรือใช้การประชาคมตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนมาร่วมได้ ส่วนที่ 2 แบ่ง 3.5 ส่วน ให้กับตำบล เสนอโครงการของตำบล 5 ตำบล
ต้องเป็นโครงการที่สะท้อนมาจากการประชาคมหมู่บ้าน
และส่วนที่ 3 แบ่ง 3.5 ส่วน เป็นของอำเภอ
หลังจากที่เสนอโครงการมาแล้ว
ทางคณะกรรมการกองทุนฯ ก็จะนำมากลั่นกรองอีกครั้ง เน้นดูในเรื่องของตัวโครงการ
และการประมาณการราคา เพราะที่ผ่านมามีการบวกราคาเกินจริง ไม่มีการอิงกับราคากลาง
ซึ่งต่อไปนี้จะมีการตรวจสอบละเอียดและดูการใช้งบประมาณตามความเหมาะสม ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบภายในวันที่ 30
มิ.ย. 61 นายศรีโรจน์ กล่าว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1175 วันที่ 20 - 26 เมษายน 2561)
ทำซะทีก็ดีครับ จะได้ใช้งบให้คุ้มค่าและดูผลที่ได้รับด้วย ควรให้ มอราชภัฏลำปางตรวจสอบผลการดำเนินการที่ผ่านมาและที่จะทำว่าสำเร็จหรือล้มเหลว ใครควรรับผิดชอบส่วนใดบ้างแล้วประกาศแจ้งประชาชนทางหนังสือพิมพ์ก็ได้ครับ จะได้รับทราบร่วมกันมิให้เหลือบมาหากินสะดวกได้
ตอบลบน่าจะทำแบบนี้มาตั้งนานแล้วครับ เพราะงบที่เสียไปแต่ละปีมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ เอางบไปทิ้งๆขว้างๆ ไร้ประโบชน์ ควรมีการตรวจสอบงบย้อนหลังว่านำไปใช้ในทางใคบ้าง ถ้ามีการนำไปใช้ในทางที่มิชอบก็น่าจะมีการดำเนินการกับผู้ที่กระทำผิด เพราะเงินนี้เป็นของส่วนรวม
ตอบลบ