วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

สำเภาทองโต้ล่องแพเถื่อน ขออนุญาตแล้วถูกกลั่นแกล้งรับผิดจองซ้ำ

จำนวนผู้เข้าชม url and counting visits

ลูกค้าโวยแพรับนักท่องเที่ยวซ้ำซ้อน บานปลายพบแพไม่ได้รับอนุญาต สำเภาทองโต้ ยื่นขอแล้วแต่ถูกจำกัดจำนวน ลั่นแพอื่นที่ไม่ถูกต้องมีอีกเพียบยังไม่จัดการ  หากสั่งจอดแพต้องสั่งให้หมด  ส่วนกรณีการรับลูกค้าซ้ำซ้อนยอมรับผิด ได้ขอโทษลูกค้าและคืนเงินมัดจำไปแล้ว ด้าน ผอ.กิ่วลม เผยการจัดการแพผิดกฎหมายเป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่า ส่วนทางโครงการฯดูแลเรื่องการเช่าพื้นที่เท่านั้น

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนจังหวัดลำปางจำนวนมาก ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังหลายแห่ง ต่างคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย บรรยากาศต่างเป็นไปอย่างคึกคัก แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ดร่ามาในสื่อสังคมออนไลน์ หรือกลุ่มลำปางซิตี้  กรณีที่มีนักท่องเที่ยวจองคิวแพ เพื่อล่องท่องเที่ยวชมธรรมชาติในเขื่อนกิ่วลม ได้โพสต์ข้อความอ้างว่าแพวังแก้ว และแพสำเภาทอง มีปัญหาการจองซ้ำซ้อนทำให้ลูกค้าไม่ได้ขึ้นแพตามที่ต้องการไว้ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกโซเชียลกันมาก ว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาหนาแน่น  ในเรื่องดังกล่าวได้มีการกล่าวอ้างไปถึงแพที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง และแพผิดกฎระเบียบยังฝ่าฝืนวิ่งรับผู้โดยสารอยู่

นายปองพล ไชยยะ ประธานชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวแพกิ่วลม กล่าวว่า ปัจจุบันชมรมชาวแพ มีสมาชิกอยู่ 34 ลำ อีกหนึ่งลำยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก เนื่องจากต้องจ่ายค่าสมาชิกแรกเข้า 30,000 บาท ซึ่งเป็นกติกาที่ตั้งกันมาตั้งแต่การตั้งชมรม เพื่อนำเงินไปทำกิจกรรมต่างๆของชมรม นอกจากนั้นการจดทะเบียนขอเช่าพื้นที่ จะมีการแยกแพออกเป็น 2 ประเภทคือ แพป้ายเหลืองรับผู้โดยสารได้ และแพป้ายดำใช้ส่วนตัว แต่การขออนุญาตเช่าพื้นที่ราชพัสดุกับธนารักษ์นั้น ออกใบให้เหมือนกันหมด ไม่ได้กำหนดว่าเป็นแพประเภทใด จึงมีการนำแพส่วนตัวมารับผู้โดยสารเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งในเรื่องนี้ตนเองจะได้มีการพูดคุยกับทางธนารักษ์อีกครั้ง เพื่อให้มีการแยกประเภทแพให้ชัดเจน

ส่วนกรณีที่มีการแชร์กันทางโซเชียลมีเดีย เรื่องการรับจองผู้โดยสารซ้ำซ้อนนั้น ทางชมรมไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเนื่องจากเป็นการบริหารจัดการของทางผู้ประกอบการเอง อาจจะเกิดจากการประสานงานที่ผิดพลาดมีการรับจองหลายคน ซึ่งทราบว่าทางแพได้มีการแก้ปัญหาไปแล้ว โดยทางแพวังแก้วซึ่งเป็นสมาชิก ทางลูกค้าก็ได้โทรมาแจ้งให้ตนเองทราบ จึงได้แนะนำไป ทางแพได้แก้ปัญหาโดยการตกลงกับลูกค้าโดยการให้แพเล็กรับไปส่งที่เกาะ ซึ่งตกลงกันด้วยดี  กรณีนี้เคยเกิดขึ้นเช่นกัน ถ้าเป็นกลุ่มสมาชิกก็จะช่วยกันแก้ปัญหากันได้ แต่ถ้าเป็นแพนอกคงต้องมีการทำหนังสือเตือนเท่านั้น นายปองพล กล่าว

ด้านนายประยูร แก้วเดียว นายกสมาคมท่องเที่ยวนครลำปาง กล่าวว่า ตนเองทราบข่าวแล้วก็เป็นห่วงมากในภาพลักษณ์รวมของการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง ตามข้อกฎหมายแล้วทางการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปางในฐานะภาครัฐ ต้องเข้าไปดูแลเรื่องนี้ ทั้งในเรื่องมาตรฐานราคาการเช่าแพ การดูแลนักท่องเที่ยวรวมถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย เพราะจังหวัดลำปางเป็นเมืองรอง ที่ทางรัฐบาลกำลังให้ความสำคัญ เรื่องนี้คงต้องนำมาพูดคุยกันในระดับจังหวัดอีกครั้ง

ขณะที่นายดุสิต พรหมจำปา เจ้าของแพสำเภาทอง  เปิดเผยว่า จากปัญหาการจองแพซ้ำซ้อนดังกล่าว ตนเองได้ยอมรับและกล่าวขอโทษกับลูกค้า พร้อมคืนเงินมัดจำให้แล้ว และยังเสนอส่วนลดให้หากมาใช้บริการในครั้งต่อไป แต่ลูกค้าก็ยังไม่พอใจและได้มีการนำไปโพสต์ในกลุ่มลำปางซิตี้  โดยที่ผ่านมาตนเองได้ประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวเขื่อนกิ่วลมให้เป็นที่รู้จัก และมีนักท่องเที่ยวเข้าจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีรายการโทรทัศน์ติดต่อเข้ามาขอถ่ายทำรายการท่องเที่ยวในวันที่ 22 เม.ย.61 นี้ด้วย  เป็นเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง ช่วยให้ผู้ประกอบการมีลูกค้าและมีรายได้

มากขึ้น จะเห็นว่าช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเต็มเพียงไม่กี่วัน แต่หลังช่วงเทศกาลคนก็เงียบไป  หลังจากที่ตนเข้ามาทำธุรกิจตรงนี้ก็พยายามที่จะประชาสัมพันธ์ออกไปให้นักท่องเที่ยวทราบว่า ลำปางยังมีสถานที่ท่องเที่ยวดีๆและน่าสนใจอยู่ เพราะคนต่างจังหวัดจำนวนมากก็ยังไม่ทราบว่าที่ลำปางมีล่องแพ หากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วแพของตนเต็ม ก็จะแนะนำให้สอบถามผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อกระจายรายได้ออกไปอีกด้วย

เมื่อสอบถามกรณีที่แพสำเภาทองยังไม่ได้รับอนุญาต 1 ลำ  นายดุสิต กล่าวว่า ตนเองมีแพ 2 ลำ มีใบอนุญาต 1ลำ โดยได้จ่ายค่าเช่าตามเวลาทุกครั้ง ส่วนอีก 1 ลำได้มีการยื่นขออนุญาตไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการอนุมัติโดยให้เหตุผลว่ามีการจำกัดจำนวนแพให้มีเพียง 35 ลำเท่านั้น ซึ่งตนเองไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด หากในอนาคตมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นก็คงไม่สามารถขยายแพออกไปได้ นอกจากนี้ยังทราบว่ามีแพอีกหลายลำที่ไม่ได้จ่ายค่าเช่า ซึ่งก็เท่ากับว่าไม่ได้ต่อสัญญาเช่าเช่นกัน แต่ก็ยังวิ่งรับผู้โดยสารได้ หากจะให้ตนหยุดวิ่งแพได้ รายอื่นที่ไม่ได้ต่อใบอนุญาตก็ต้องหยุดด้วยเช่นกัน  อีกทั้งแพที่ผิดกฎระเบียบซึ่งเป็นแพ 2 ชั้น ตามข้อห้ามของกรมเจ้าท่า ก็ยังมีการออกวิ่งอยู่กว่า 10 ลำ  หากจะให้ตนจอดแพก็ต้องแจ้งให้แพเหล่านี้จอดให้หมด เพราะไม่ถูกต้องเช่นกัน และกรณีที่ตนเองไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมแพ เนื่องจากต้องมีการจ่ายเงินเข้าชมรม 30,000 บาท โดยที่ไม่มีหลักฐานใดๆมายืนยันได้ว่า เงินที่ผู้ประกอบการจ่ายให้นั้นนำไปทำอะไรบ้าง ซึ่งตนเองต้องการความชัดเจน หากมีรายรับรายจ่ายให้เห็นอย่างถูกต้องครบถ้วน ตนเองก็อาจจะเข้าร่วม

นายฤทัย พัชรานุรักษ์  ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา เปิดเผยว่า ทางโครงการฯ จะมีอำนาจหน้าที่ดูแลประสานงานกับธนารักษ์พื้นที่ ในเรื่องการเช่าพื้นที่ราชพัสดุในการจอดแพ ส่วนกฎหมายเรื่องรูปแบบการก่อสร้าง การวิ่งแพในน่านน้ำ เป็นความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่าทั้งหมด  โดยการวิ่งแพในเขื่อนกิ่วลมทางชมรมชาวแพเขื่อนกิ่วลม ได้ขอควบคุมจำนวนแพให้ไม่เกิน 35 ลำ เพื่อความปลอดภัยในการท่องเที่ยว ซึ่งทางโครงการฯก็เห็นด้วยว่าไม่ควรเกินจากนี้ แต่กรณีที่ผู้ประกอบการจะเข้าชมรมหรือไม่เป็นสิทธิของเขาเอง ไม่สามารถบังคับได้  สำหรับเหตุการณ์แพรับลูกค้าซ้ำซ้อนนั้น เป็นการบริหารจัดการของทางแพเอง ทางโครงการฯไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง

เมื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีที่ยังมีแพที่ไม่ได้รับอนุญาตวิ่งอยู่ ผอ.โครงการฯ กล่าวว่า กรณีของแพที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้เช่าพื้นที่ราชพัสดุวิ่งรับผู้โดยสารนั้น ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า ทางโครงการฯจะได้มีการกำหนดจำนวนแพให้ไม่เกิน 35 ลำ ถึงแม้ว่าจะมีการยื่นขอเพิ่มเติมเข้ามาก็ตาม หากทางโครงการฯไม่อนุมัติก็ไม่สามารถขอเช่าพื้นที่จากธนารักษ์ได้  นอกจากนั้นยังมีแพที่ยังค้างชำระค่าเช่า ซึ่งเดิมผู้ประกอบการมาเช่าพื้นที่ตั้งแต่ปี 45 และมีการจ่ายค่าเช่าเพียง 2 ปี คือ ปี 45-46 จากนั้นพอเปลี่ยน ผอ.โครงการฯ ก็อาจจะไม่ได้ติดตาม  เมื่อตนเองเข้ามาดูแลต่อจึงได้เริ่มจัดระบบใหม่ทั้งหมด ให้ทางผู้ประกอบการมาจ่ายค่าเช่าย้อนหลังตั้งแต่ปี 47 จนถึงปัจจุบัน หากไม่ปฏิบัติตามก็จะรื้อถอนไม่ให้จอดแพ ซึ่งทางผู้ประกอบการก็ยินยอมจ่าย แต่มีบางรายที่ยังดื้อแพ่งไม่ยอมจ่ายเพราะยอดสะสมเป็นเงินหลายหมื่นบาท จึงต้องยื่นคำขาดไปว่าจะรื้อถอนออกอย่างเด็ดขาด ก็ทราบว่าทางผู้ประกอบการได้มีการขอผ่อนชำระกับทางธนารักษ์  จะให้ผ่อนชำระหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตกลงกันเอง ทางโครงการฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง   หลังจากนี้ทางโครงการฯ จะทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการขอให้ตรวจสอบความปลอดภัยของแพ และตรวจสอบเรื่องแพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เช่าพื้นที่

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1175 วันที่ 20 - 26 เมษายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์