เรียกว่าเป็น talk of the town สนั่น กลุ่ม Lampang City เรื่อง การรับจองแพซ้ำซ้อนในเขื่อนกิ่วลม จนคนที่จองแพล่วงหน้านานเดือน
ตระเตรียมการ เตรียมเสบียงกันมา ฝันจะได้นั่งๆนอนๆ
สนุกสนานเฮฮากันพร้อมหน้าพร้อมตากับเครือญาติสักปีละครั้ง ต้องถูกลอยแพ
ทั้งๆที่ตั้งใจมาล่องแพ
ดู Feedback ในเพจแล้ว ออกอารมณ์รุ่มร้อนกันเสียส่วนใหญ่ คล้ายกับว่า คนที่ถูกลอยแพ
จากการรับจองแพซ้ำซ้อนนั้น มีอยู่มาก เกือบจะกลายเป็นชะตากรรมร่วมของคนที่มุ่งหวัง
เดินทางไปเก็บเกี่ยวความสุข ในช่วงเทศกาลหยุดยาว แต่กลับเหมือนตกตึก 5 ชั้น เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง
แต่ก็มีผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวรายอื่นๆ
สอดแทรกมารับประกันว่า ถ้าไปล่องแพกับเขา รับรองไม่มีจองซ้ำซ้อน สุข สบาย
บริการครบครัน ส่วนแพเจ้าปัญหาก็มีตัวแทนออกมายอมรับผิด ขอโทษ
และอธิบายว่าความผิดพลาดเกิดจากแอดมิน ซึ่งให้ออกไปแล้ว พร้อมชดเชยด้วย Gift Voucher มูลค่า 10,000 บาท
“..ผมขอน้อมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ซึ่งเกิดจากการรับจองที่ผิดพลาดจาก call center &
admin page นะครับ
ในวันนั้นมีเจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้คุณลูกค้า จึงทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร
แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามนำลูกค้าที่ยังต้องการเที่ยว
ลงแพขนาดเล็กและพาไปจอดพักที่เกาะวังแก้ว”
การแสดงความรับผิดชอบโดยผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของแพ
ที่เปิดจองซ้ำซ้อน ตามที่อ้างกันว่า เป็นแพชื่อ “สำเภาทอง” และ “วังแก้ว”
อาจไม่ได้ลดทอนความขุ่นข้องในใจของนักท่องเที่ยว ที่เสมือนถูกหลอก
แต่กลับเสนอคำถามใหม่ว่า ธุรกิจท่องเที่ยวล่องแพในเขื่อนกิ่วลม
ไม่มีระบบบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ
แต่กลับเปิดช่องทางให้ภาพพจน์การท่องเที่ยวกิ่วลม เสียหายได้ง่ายๆ
เพราะคนๆเดียวกระนั้นหรือ
ไม่มีระบบตรวจสอบความถูกต้อง
การสั่งจองก่อนวันจอง
แต่ต้องรอจนถึงวันที่กลุ่มนักท่องเที่ยวแบกความฝันมาถึงที่ก่อนเช่นนั้นหรือ
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้น
อิทธิพลจากการพูดต่อๆกันไปในสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ได้มีผลต่อกิจการแพอย่างน้อย 2 แห่ง
ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า เกิดจากความผิดพลาดของแอดมินคนเดียวกันหรือไม่เท่านั้น แต่ผู้ประกอบกิจการแพที่เขื่อนกิ่วลมเจ้าอื่นๆ
ก็อาจถูกระแวงสงสัยไปด้วย
จะปล่อยให้เป็นคลื่นกระทบฝั่ง
เดี๋ยวก็ลืมๆกันไป หรือจะมีหลักประกันอย่างไร
จะมีคำตอบจากคนที่ต้องรับผิดชอบในระดับไหนบ้าง เช่น สมาคมผู้ประกอบการ
สมาคมท่องเที่ยว รวมทั้งก็อาจเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ท้าทาย “ลำปาง..ปลายทางฝัน”
แคมเปญที่กำลังรณรงค์ให้เห็นเนื้อทองที่ซ่อนอยู่ในรูปเงาะเวลานี้
และอาจขยายความไปถึงกลุ่มคนที่ต้องถูกลอยแพว่า
แล้วความผิดของแพนั้น จะต้องมีโทษทัณฑ์อย่างไรหรือไม่ ผิดกฎหมายฉบับใด หรือไม่
จะไปร้องเรียนหน่วยงานไหนได้บ้าง
และจะมีวิธีเยียวยาความเสียหายนอกไปจากการแจกกระดาษ 1 แผ่นหรือไม่
เรื่องนี้น่าจะจัดการ
อธิบาย สร้างความเข้าใจอย่างเป็นระบบ โดยองค์กรตัวแทนที่เป็นทางการ เช่น
สมาคมท่องเที่ยว เพื่อแสดงถึงความเอาใจใส่ในปัญหา และเพื่อกู้ภาพพจน์ความเสียหายในการล่องแพกิ่วลม
ซึ่งน่าจะมีผลพอสมควร ถ้าวัดจากเสียงที่ได้ยินใน Lampang City
พ่อเมือง ทรงธรรม
สวาสดิ์ธรรม อาจไม่ถึงกับต้องมาจัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แต่ท่านจะเป็นตัวกลาง
ในการจัดการให้เรื่องนี้จบลงอย่างบอบช้ำต่อการท่องเที่ยวน้อยที่สุด และทำให้ภาพ
ลำปาง...ปลายทางฝัน ของท่าน ไม่มามีรอยด่างดวงจากเรื่องนี้ได้อย่างไร
ความรู้สึกของคนที่ต้องการมาล่องแพ
แต่กลับถูกลอยแพ เรียกว่าส่งแรงสะเทือนหลายริคเตอร์ทีเดียว ในกลุ่มสื่อสังคมออนไลน์ของคนลำปาง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1175 วันที่ 20 - 26 เมษายน 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น