วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ไม่มีความรัก ที่ทัชมาฮาล

จำนวนผู้เข้าชม

ม้การมีอยู่ของ ทัชมาฮาล จะทำให้หลุมฝังศพชาร์เจฮาน กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โมกุล (พ.ศ.2135 – 2209) และพระมเหสีองค์ที่ 3 พระนางมุมตัซ มาฮาล  กลายเป็นสุสานสร้างด้วยหินอ่อนที่สวยที่สุดในโลก และกลายเป็นหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง อีกทั้งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับคนในเมืองอัคระอย่างมหาศาล

แต่นี่ย่อมมิใช่อนุสรณ์สถานแห่งความรัก หรือหลักฐานยืนยันอำนาจแห่งความรัก ที่ชาร์เจฮาน มีต่อมุมตัซ เมื่อมันแลกมาด้วยเงินพระคลังจำนวนมาก และความทุกข์ยากลำเค็ญของผู้คน จากกษัตริย์ที่ลุ่มหลงแต่ความรัก ไม่ใส่พระทัยในอาณาประชาราษฏร์

เมื่อมีเงิน มีอำนาจ ก็ย่อมบันดาลได้ทุกสิ่ง  แต่บันดาลใจให้กษัตริย์ชาห์เจฮานรู้คิดถึงชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนและทำหน้าที่อันควรของกษัตริย์ไม่ได้   

ชาร์เจฮาน พบกับอรชุมัน พานุ เพคุม ธิดาของรัฐมนตรี เมื่อเธออายุเพียง 14 ปี คล้ายรักแรกพบ ทรงหลงใหลนางมาก พระองค์ทรงซื้อเพชร ด้วยเงิน 10,000 รูปี หรือราว 20,000 บาท และบอกพระบิดาว่า มีพระประสงค์จะสมรสกับอรชุมัน ซึ่งกาลต่อมา คือพระนางมุมตัซ 5 ปี จากนั้นพิธีอภิเษกสมรสจึงมีขึ้น

ตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งสองพระองค์ไม่เคยอยู่ห่างกันเลย จนกระทั่งพระมเหสีมุมตัซ สิ้นพระชนม์ หลังจากให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 และนั่นคือจุดกำเนิดของทัชมาฮาล

ทัชมาฮาล (พ.ศ.2175 – 2197) สร้างในยุคเดียวกับแผ่นดินสยาม ห้วงเวลาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา คำว่าทัชมาฮาล  มาจากการสมาสคำในภาษาอาหรับ 2 คำ คือต้าจญ์ แปลว่ามงกุฎ และมาฮาล แปลว่า สถาน สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวนวลบริสุทธิ์  ประกอบด้วยศิลาแลง ประดับด้วยเพชร พลอย  โมรา และเครื่องประดับจากมิตรประเทศ ในรูปทรงสถาปัตยกรรมโดมแนวโมกุล และอาหรับเปอร์เซียน  ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากยุคไบเซนไทน์   ตลอดแนวโค้งประตูเขียนไว้ด้วยอักษรภาษาอาหรับ จากบางวรรคตอนในคัมภีร์อัล- กุรอาน เขียนลายเรขาคณิต และลายเครือเถา ที่มุมของทัชมาฮาลทั้ง 4 ทิศ วางไว้ด้วยหออาซานสูงตระหง่าน

ทั้งสองด้านของทัชมาฮาล ปรากฏอาคารสร้างด้วยศิลาแลงสีน้ำตาลเข้ม รูปทรงสถาปัตยกรรมโดมเช่นเดียวกัน  เป็นบริเวณที่ใช้เป็นมัสยิด  สำหรับปฏิบัติศาสนบัญญัติ  ละหมาด 5 เวลา เช่นเดียวกับมัสยิดทั่วไป  ดังนั้น  สถานะของทัชมาฮาล ส่วนหนึ่งจึงถือเป็นมัสยิดด้วย

ทัชมาฮาล ตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 106 ไร่ ริมแม่น้ำยมุนา   สร้างและออกแบบด้วยคนจำนวนประมาณ 2 หมื่นคน ใช้เวลาสร้าง 22 ปี ด้วยงบประมาณก่อสร้างราว 19,000 ล้านบาท มูลค่าเมื่อ 386 ปีที่แล้ว เมื่อสร้างเสร็จ อุสตาด อาห์เหม็ด ลาเฮารี สถาปนิกและนายช่างหลายคนที่ร่วมกันก่อสร้าง ถูกประหารชีวิต เพราะชาห์ เจฮาน ไม่ทรงปรารถนาให้พวกเขาไปออกแบบและก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่สวยและงดงามกว่านี้อีก

ไม่เพียงการใช้เงินในท้องพระคลัง จำนวนมหาศาล ไปสร้างอนุสรณ์แห่งความรักที่พระองค์มีต่อมุมตัซเท่านั้น  ในยุคของชาห์ เจฮาน คือยุคแห่งความโหดร้าย ทารุณ ผู้คนทุกข์ทรมาน ถูกขูดรีดภาษี ข้าวยากหมากแพง มีชีวิตอยู่อย่างยากไร้ ในขณะที่กษัตริย์ทุ่มเทให้กับเรื่องส่วนพระองค์ สร้างอนุสรณ์สถาน สนองตอบความติดยึด หลงใหลในพระมเหสี ต่อมา ออรังเซบ พระโอรสองค์หนึ่ง จึงยึดอำนาจ ราชบังลังค์จากพระบิดา จับพระองค์ไปคุมขังไว้ภายในป้อมอัครา เป็นป้อมปราการประจำเมือง ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นพระราชวัง  ตั้งอยู่ไม่ห่างจากทัชมาฮาลมากนัก

ชาห์ เจฮาน ถูกขังไว้ในป้อมอัครานาน 8 ปี ทุกวัน ทุกคืน พระองค์ได้แต่มองทัชมาฮาลผ่านลูกกรงที่คุมขัง และสิ้นพระชนม์ในที่สุด ก่อนสิ้นพระชนม์ พระองค์ยังทรงกำเศษกระจกอยู่ในมือ เป็นเศษกระจกเปื้อนพระโลหิตที่พระองค์คงปรารถนาที่จะมองเห็นภาพสะท้อนของทัชมาฮาล จนลมหายใจสุดท้าย พระศพของพระองค์ถูกนำไปฝังเคียงข้างพระนางมุมตัซ ใต้โดมภายในทัชมาฮาล  

ทัชมาฮาลวันนี้ เมื่อไปสัมผัสใกล้ๆ หินอ่อนสีขาวนวลที่งดงามยิ่งเมื่อมองจากระยะไกล กลับมัวหม่น พระองค์ถูกฝังไว้เคียงข้างพระนางมุมตัซ ด้วยขนาดพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร ในขณะที่อาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตหลายผู้คน เป็นเพียงเศษซากประวัติศาสตร์ เป็นบทเรียนของกษัตริย์พระองค์หนึ่งของอินเดีย ที่มีคนเรียกขานเขาว่าทรราช

 นี่คือบางเรื่องราวในการไปเยือนอินเดียอีกวาระหนึ่ง ของ “ม้าสีหมอก” หลังจากเคยไปท่องแดนพุทธภูมิ ในเส้นทางพุทธคยา พาราณสี เมื่อหลายปีก่อน ครั้งนี้ คือทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานอันใหญ่โตโอฬาร ซึ่งผู้คนเรียกมันว่า เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรัก แต่หากความรักเพียงหนึ่ง แล้วทำลายอีกหลายชีวิต ย่อมไม่อาจเรียกว่าเป็นความรักได้ แต่มันคือความหลง และยึดติดเท่านั้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1178 วันที่ 11 - 17 พฤษภาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์