วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ศักดิ์ศรีที่ตายแล้ว เมื่อคนข่าวต้องหาข่าวแลกเงิน

จำนวนผู้เข้าชม

อนที่ทำงานอยู่เนชั่น คนที่เรามีโอกาสปะทะสังสรรค์มากที่สุด คือคนที่ทำงานในฝ่ายทราฟฟิคโฆษณา  หรือเข้าใจกันว่า คือผู้ประสานงานโฆษณา หน้าที่ของเขา คือถือกระดาษเย็บเล่ม เล่มเล็กๆ ที่เราเรียกว่า ดัมมี่ ที่มิใช่ไพ่ มีจำนวนหน้าเท่ากับหน้าหนังสือพิมพ์ที่จะตีพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น ในดัมมี่แต่ละหน้า จะมีการกำหนดขนาดของพื้นที่โฆษณาไว้ สำหรับบอกให้กองบก.รู้ว่า จะต้องทำข่าว หรือสามารถลงเรื่องราวที่ได้ไปทำมา มากน้อยเพียงใด

ผมทำหน้าที่นี้ในฐานะ บก.อยู่เป็นสิบปี และเข้าใจมาอยู่เสมอว่า ไม่ว่าอย่างไร ไม่ว่าจำนวนชิ้นโฆษณาจะมากมายซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เราอุ่นใจมากเพียงใด แต่เนื้อหา และรูปแบบการจัดหน้าที่เป็นมาตรฐาน จะต้องเป็นตัวกำหนดคุณภาพของหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ มิใช่พื้นที่โฆษณา พูดง่ายๆคือ กองบก.ต้องเป็นฝ่ายกำหนดเนื้อหา ไม่ใช่ฝ่ายโฆษณา

ดังนั้น ในบางหน้า ที่เป็นตำแหน่งพิเศษ  มีคอลัมน์ประจำที่คนติดตาม มีบทความที่น่าสนใจ เราถือเป็นกฎเหล็กเลยว่า  ห้ามมีโฆษณา เช่น หน้า 3 หน้า 5 และแน่นอนที่ปกหน้า ห้ามรุกล้ำพื้นที่ข่าว

วันหนึ่ง โฆษณาเข้ามาจนแทบไม่เหลือพื้นที่ข่าว แม้จะเพิ่มเป็น 32 หน้า มากสุดเท่าที่เราเคยพิมพ์แล้ว ในความรับผิดชอบเรื่องเนื้อหา ผมจึงต่อรองให้ยก ให้ย้ายตำแหน่งโฆษณาบางชิ้น เพื่อให้หนังสือพิมพ์ยังคงเป็นหนังสือพิมพ์ หาใช่หนังสือโฆษณา

ปฏิกิริยาที่ได้รับจากทราฟฟิควันนั้น คือการลำเลิกบุญคุณ และว่า หากไม่มีโฆษณาหนังสือพิมพ์จะอยู่ได้อย่างไร

ถึงกระนั้น เราก็ยังสามารถยืนยันอิสรภาพของกองบก.ที่ไม่เป็นเมืองขึ้นของฝ่ายโฆษณาได้ แต่ก็มีการกระทบกระทั่งกันอยู่ตลอดเวลา เหตุผลของผมคือ หากเราทำหนังสือพิมพ์คุณภาพ มีเนื้อหาดี มีความรับผิดชอบ เขาควรจะเลือกเราด้วยคุณภาพของเนื้อหา  มิใช่ด้วยการอ้อนวอนไปขอโฆษณา และยอมให้โฆษณามีอิทธิพลเหนือ กองบก.

เพราะหาไม่แล้ว หากหน่วยงาน กิจการ ที่เราไปขอโฆษณา หรือได้โฆษณามาด้วยวิธีพิเศษ ทำผิด ทำชั่ว หรือเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดปัญหากับสังคม เช่น โรงงานที่ปล่อยน้ำเน่า น้ำเสีย หรือหน่วยงานของรัฐในกิจการพลังงาน ที่สร้างปัญหาอากาศเป็นพิษ ปัญหา สิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน  เราอาจต้องเกรงใจเขา โดยไม่ทำข่าวตามหน้าที่ก็เป็นได้

คนกองบก.ต้องรู้หน้าที่ของตัว ที่จะต้องเสนอข่าวบนพื้นฐานข้อเท็จจริง อย่างครบถ้วน และรอบด้าน โดยปลอดจากอิทธิพลภายนอกใดๆ แม้เป็นคำสั่งของ บก. หากคำสั่งนั้นไม่ชอบธรรม  และเป็นคำสั่งที่ตอบสนองความต้องการของผู้โฆษณา

แปลว่าทั้งสองฝ่ายต้องขีดเส้นชัดเจน ที่จะไม่ล้ำแดนซึ่งกันและกัน หากยังต้องเคารพบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ในขอบเขตที่เหมาะสม คือต้องเข้าใจว่าฝ่ายโฆษณามีหน้าที่หารายได้จากการโฆษณา ฝ่ายบก.ผลิตเนื้อหา ที่มีคุณภาพ มีคนอ่าน คนดู คนฟัง มากพอที่จะจูงใจให้โฆษณามาลงในสื่อของตัวเอง

ผ่านมานานปี ผมถอยออกมาจากบทบาทของ บก.นสพ.ขนาดใหญ่ ที่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้มาหลายก้าว และก็ต้องตกใจ  ที่เส้นแบ่งระหว่างสองฝ่ายในสื่อวันนี้  พัฒนาการไปรวดเร็วจนตามไม่ทัน เพราะวันนี้ ปรากฏตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวแต่ละด้าน  นั่งรวมอยู่ในกอง บก.เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีหน้าที่ ประสานกับหน่วยงาน เจ้าของธุรกิจ สถานประกอบการต่างๆ เพื่อหาโฆษณา โดยมีอำนาจสั่งนักข่าวให้ไปทำข่าวนั้นๆ

ทำหน้าที่คล้ายผู้ช่วย บก.หรือหัวหน้าข่าว ซึ่งอาจมีความสำคัญเหนือ บก.เพราะเขาคือคนหารายได้ มาเลี้ยงองค์กร ในยามที่กิจการสื่อหลายแห่งอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย

อาจจะไม่มีใครต้องวิตก วิจารณ์ในเรื่องนี้ ในสถานการณ์ของสื่อขณะนี้มากนัก เพราะเราอาจได้คำตอบว่า ความอยู่รอดสำคัญกว่าการทำงานอย่างเคร่งครัดในหลักการ เมื่อสื่อกลายเป็นอุตสาหกรรม ต้องใช้เงินลงทุนด้านเครื่องมือ เครื่องจักรสูง ต้องจ้างแรงงานจำนวนมาก นักข่าวก็คือคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องทำงานเป็นหนูถีบจักร เพื่อสร้างผลกำไรให้กับนายจ้าง

ถ้ายังไม่ปรารถนาที่จะสูญเสียความเป็นนักข่าวที่ยังยึดมั่น ศรัทธาในคัมภีร์จริยธรรรม ก็ต้องออกไปจากวงการนี้เลย เพราะองค์กรสื่อยุคทุนเป็นใหญ่ คงไม่มีที่ว่างให้กับนักข่าวประเภทนี้อีกแล้ว  

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1178 วันที่ 11 - 17 พฤษภาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์