วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รักชีวิต เลิกคิดใช้เครื่องสำอางปลอม

จำนวนผู้เข้าชม

ปัจจุบันเครื่องสำอางราคาถูกหรือเลียนแบบแบรนด์เนมที่มีราคาถูกเกินจริง รวมถึงเครื่องสำอางปลอมที่จำหน่ายอยู่ตามตลาดนัดและในสื่อโฆษณาขายสินค้าออนไลน์มักจะเป็นทางเลือกลำดับต้นๆของผู้ที่รักสวยรักงามแต่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ซึ่งเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจจะพบสารปรอทหรือสารสเตียรอยด์ที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังและร่างกายได้

รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเครื่องสำอางปลอมที่ไม่ได้คุณภาพจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก การเลือกใช้เครื่องสำอางหรือยา เพื่อเสริมความงามต่างๆ ก็อาจใช้ได้ดีในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อติดตามผลในระยะยาวก็อาจจะเกิดผลเสียได้ ซึ่งโดยทั่วไปเครื่องสำอางที่เราใช้ มี 2 ชนิด ได้แก่ 1.เดกเคอเรทีฟคอสเมติก คือ ชนิดที่เติมแต่งสีสันต่าง ๆให้กับผิวหนัง ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องการแพ้เท่านั้นเอง 2.ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ ซึ่งจะบำรุงได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะผิวหนังของเราจะนำเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก ซึ่งเมื่อมีการออกกำลังกาย รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ผิวหนังก็จะดีในระยะยาว และดีกว่าการใช้เครื่องสำอาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นเซลล์ผิวหนังในระยะสั้น หากมีการกระตุ้นมากๆ ความเสื่อมก็จะเกิดขึ้นและจะเกิดภูมิแพ้ผิวหนังเรียกว่า ไฮเปอร์เซ็นส์ซิทีฟสกิน สำหรับเครื่องสำอางที่ได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. บางครั้งเมื่อได้รับการรับรองครั้งที่ 1 แต่เมื่อมีการติดตามผลไปเรื่อยๆ และมีการติดตามผลไปนานๆ คุณภาพของเครื่องสำอางนั้นๆ จะลดลงไป เมื่อไม่มีการติดตามในระยะยาว ผลเสียก็จะเกิดกับประชาชนผู้บริโภค จึงขอฝากเตือนว่าให้ธรรมชาติรักษาตัวเองดีที่สุด ซึ่งจะเห็นว่ามียาบำรุงหรือวิตามินต่างๆออกมาอย่างมากมาย แต่โดยความจริงแล้วเกินความจำเป็น สิ่งที่เราใช้เป็นการสังเคราะห์ขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่ร่างกายสร้างเอง

นอกจากนี้ ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเตือนโดยตลอดว่าการซื้อของหรือซื้อเครื่องสำอางออนไลน์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไม่เห็นลักษณะของผลิตภัณฑ์จริง บางครั้งเห็นจากรีวิวของคนดัง หรือคนที่ไม่รู้จัก ก็รู้สึกอยากใช้ตาม เหมือนการซื้อสินค้าที่ไม่รู้จักและไม่รู้ว่าคุณภาพเป็นอย่างไร

สำหรับการสังเกตเครื่องสำอางปลอมนั้น ทำได้ยากโดยเฉพาะสินค้าลอกเลียนแบบทั้งหลาย บางครั้งจะมีสินค้าเหล่านี้อยู่ตามตลาดนัด หรือมีสินค้าที่ผลิตและทำแบรนด์ยี่ห้อขึ้นมาเองหรือแพ็คเกจจิ้ง ที่มีลักษณะคล้ายกับยี่ห้อดังแต่ราคาถูกกว่ามาก ซึ่งเป็นสินค้าเครื่องสำอางปลอมแน่นอน วิธีหนึ่งที่สังเกตได้คือ เมื่อดูรีวิวก่อนใช้และหลังใช้ แล้วดูดีเกินไป จนเกินความน่าเชื่อถือก็ต้องระวัง หรืออีกเรื่องที่เตือนอยู่เสมอ คือเรื่องของสรรพคุณของสินค้า ว่าสามารถรักษาได้ทุกอย่างเช่น รักษาสิวฝ้าหน้าขาวกระจ่างใส ผมขึ้นดกดำ ผิวดูดี เต่งตึงกระชับเกินกว่าที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำได้ ต้องระวังเช่นกัน

ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็เตือนมาตลอดว่ายังคงตรวจพบสารปรอทในยารักษาฝ้าบางตัวที่ทาแล้วหน้าขาวใสในเวลารวดเร็วนั้น ควรพึงระวังเพราะมีผลต่อ ตับ ไต ปอด ได้ และเรื่องของสีที่ใช้ผสมในเครื่องสำอางที่ลอกเลียนแบบ สีเหล่านี้จะมีสารพิษปนเปื้อนอยู่เช่น โลหะหนัก เป็นต้น

นอกจากนี้ สารเคมีอีกชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศคือ ไฮโดรควิโนน คือยารักษาฝ้า ซึ่งหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญก็จะไม่อันตราย แต่หากมีการนำไปใช้ในลักษณะทำให้ผิวขาว หรือรักษาฝ้าในเปอร์เซนต์ที่สูงจนเกินไป อาจเกิดอันตรายได้ เช่น ทำให้หน้าขาวเป็นปื้น และสีผิวจะไม่ค่อยคืนมา รวมถึงเครื่องสำอางที่ผสมสารสเตียรอยด์ก็เช่นกัน เมื่อเข้าไปสู่ร่างกายจะเข้าไปกดการทำงานของร่างกาย ซึ่งสารสเตียรอยด์เมื่อใช้ในทางการแพทย์นั้นมีข้อดีมากมาย แต่ต้องระวังเพราะอาจทำให้กระดูกบาง กดภูมิคุ้มกัน กดฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย เพราะฉะนั้นหากใช้เครื่องสำอางโดยไม่รู้ว่ามีสาร สเตียรอยด์เมื่อทาบริเวณกว้างและนานเกินไป ก็จะก่ออันตรายต่อร่างกายด้วยเช่นกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1183 วันที่ 15 - 21 มิถุนายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์