
จำนวนผู้เข้าชม
ใครจะเชื่อว่าโกโก้
กลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ครองใจเกษตรกรยุคนี้ อาจเป็นเพราะ โกโก้เป็น
พืชยืนต้นขนาดกลางที่สูงไม่มากนัก โตได้ดีในลักษณะภูมิอากาศของประเทศเขตร้อนชื้นแบบประเทศไทย
ต้นโกโก้ไม่ต้องการแสงแดดมากนัก
และโดยมากมักอาศัยร่มเงาจากร่มไม้อื่นจึงสามารถปลูกแซมกันพืชอื่นๆได้ เมื่อปลูกได้อายุ 3 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวทุกสัปดาห์ หรือในรอบ 15 วัน ถ้ามีระบบน้ำในฤดูแล้งจะยิ่งเพิ่มผลผลิตทั้งพืชหลักและโกโก้ที่ปลูกเสริมในสวน
ที่สำคัญมีอายุยืนหลายสิบปีปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้ตลอดชีวิต ดูแลง่าย ไม่ค่อยมีศัตรูพืชรบกวน
โกโก้ผลสุกสีเหลืองและส้มเหลืองขายเข้าโรงงานแปรรูปที่มารับซื้อถึงหน้าสวน
ซึ่งเขาจะนำเมล็ดข้างในไปแปรรูปเป็นผงโกโก้ หรือ น้ำมันโกโก้ ช็อคโกแลตในอุตสาหกรรมอาหาร
และสารตั้งต้นจากธรรมชาติในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในตลาดสากล เป็นต้น ขณะนี้ตลาดมีความต้องการสูงมากทั้งในไทยและตลาดต่างประเทศ
เช่นญี่ปุ่นและยุโรป จึงไม่แปลกอะไรที่มีบริษัทหรือโรงงานแปรรูปเอกชน
เริ่มหันมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้แล้วมีการประกันราคารับซื้อสัญญาระยะยาว
หากแต่น้อยคนจะรู้ว่า
ลำปางก็เป็นแหล่งปลูกโกโก้แปลงใหญ่ ที่เรียกกันได้ว่าเป็นพื้นที่ปลูกโกโก้แปลงใหญ่กลุ่มแรกของประเทศไทย
ที่เกษตรกรรายเล็กๆมีพื้นที่ปลูก ตั้งแต่ 1 หลักสิบไร่
รวมตัวกันปลูกโกโก้ พันธุ์ลูกผสม I.M. 1
ซึ่งนักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิจัยและมีเทคนิคดูแลให้ได้ผลผลิตดี
แถมยังเป็นสายพันธุ์ที่มีตลอดรองรับแน่นอนระยะยาว
อาคม มีเมล์
ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้แปลงใหญ่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง บอกเล่าว่า
ก่อนหน้านี้ ราว 2-3
ปี มีเกษตรกรหลายรายในอำเภอวังเหนือปลูกโกโก้
แซมในสวนเกษตรที่มีอยู่ ตามคำแนะนำและการส่งเสริมของบริษัทเอกชนที่รับซื้อผลสุกโกโก้ไปแปรรูป
ซึ่งปลูกแล้วได้ผลผลิตดี มีรายได้สูง
เพราะโกโก้เติบโตเร็ว ให้ผลผลิต ออกดอกออกผลไปพร้อมๆกัน จึงเก็บผลิตได้ตลอดปี
ที่สำคัญอำเภอวังเหนือมีสภาพดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อมดี จึงมีเกษตรกรปลูกโกโก้ตามพื้นที่เกษตร
แต่อาจจะมีหลากหลายสายพันธุ์รวมแล้วประมาณ 150 ราย พื้นที่รวมเกือบ
400 ไร่
ขณะนี้ มีเกษตรกรในอำเภอวังเหนือที่ขึ้นทะเบียนแปลงปลูกโกโก้ที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินจำนวน
52 ราย ภายใต้ชื่อกลุ่ม “โกโก้เมืองวัง” ปลูกโกโก้พันธุ์ I.M.1
พื้นที่รวมประมาณ
163 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็น พื้นที่ปลูกโกโก้แปลงใหญ่
กลุ่มแรกของประเทศไทยและมีแนวโน้มจะขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันได้รับการสนับสนุนงบยุทธศาสตร์จังหวัด
ให้เกษตรจังหวัดลำปางที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย สนใจปลูกโกโก้เข้าร่วมโครงการฯได้
ผ่านศูนย์ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จึงได้ปลูกโกโก้แซมในแปลง
มะรุม ลำไย และสวนเกษตรผสมผสาน เพื่อเป็นแปลงต้นแบบให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ทั้งนี้วางเป้าหมายว่า
กลุ่มผู้ปลูกโกโก้อำเภอวังเหนือ จะกลายเป็นแหล่งท่อเที่ยวเชิงเกษตร
และวางแผนสร้างเรื่องราว Story ให้เป็นสัญลักษณ์การตลาดท่องเที่ยวในสวนโกโก้
“Home Of Cocoa”
มีเทศกาลต่างๆเกี่ยวกับโกโก้ ให้คนมาเที่ยวถ่ายรูปที่อำเภอวังเหนือ และสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอำเภออื่นๆ
ซึ่งพบว่ามีสวนโกโก้ ทุกอำเภอ
นางเบญจวรรณ
สิทธิตุ่น เกษตรอำเภอวังเหนือ บอกว่า
จากตัวอย่างเกษตรกรหลายรายที่ปลูกโกโก้แล้วได้ผลผลิตดี
มีรายได้เพิ่มจากการทำสวนเกษตรเดิม หลักแสนบาทต่อปี
โมเดลนี้จะนำขยายผลให้เกษตรกรทั่วไปที่ปลูกไม้ผล หรือ แปลงเกษตรที่สามารถนำต้นโกโก้ปลูกแซมได้ไปปลูก
เพื่อลดพื้นที่การทำไร่ข้าวโพด หรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งมีรายได้น้อย
ลงทุนต่อไร่สูง นอกจากนี้การปลูกโกโก้ ยังลดการใช้สารเคมีเพราะ
เป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่ต้องการปุ๋ยเคมีบำรุง ในอนาคต แปลงเกษตรที่มีโกโก้ที่ใช้น้ำเกษตรแบบน้ำบาดาล
ยังยกระดับเป็น แปลงเกษตรอินทรีย์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
แม้ว่าการปลูกโกโก้จะเป็นเรื่องใหม่ในวงการเกษตรลำปาง
แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะเห็นแปลงปลูกโกโก้ พืชที่ปลูกง่ายลงทุนน้อยแต่สร้างรายได้ตลอดปี
ได้ผลผลิตยาวนาน เป็นแรงดึงดูดให้เกษตรกร ที่ทำพืชไร่ เปลี่ยนใจหันมาปลูกต้นโกโกโก้มากขึ้น
“ผมเคยปลูกพืชไม้ผลมาหลายชนิด
ต้องดูแลใส่ใจเยอะมาก แต่ เมื่อทดลองเอาต้นโกโก้มาปลูกแซมในสวนลำไย และสวนยาง จำนวน
240
ต้น เก็บผลสุกขายส่งให้กับโรงงานที่มารับซื้อเป็นรอบๆ
กิโลละ 27 บาท บางลูกมีน้ำหนักเกือบ 1 ก.ก.
ทำรายได้เดือนละไม่น้อยกว่าหมื่นบาท ที่ดีต่อเกษตรกรมากคือ ผลโกโก้เก็บแล้วไม่เสี่ยงต่อความเสียหาย
เพราะเขาใช้เมล็ดข้างในไปแปรรูปซึ่งความเสียหายต่อผิวหรือเปลือกไม่ต้องใช้ทักษะเทคนิคอะไรมากก็ทำไร่โกโก้ได้” ลุงบุญมี
เดชปทุม กล่าว
นายธวัชชัย
สิทธิวีระกุล เกษตรจังหวัดลำปาง ระบุว่า การส่งเสริมปลูกโกโก้ในจังหวัดลำปางเป็นไปตามแผนงานยุทธศาสตร์เกษตรคุณภาพ
ซึ่งเป้าหมายคือยกระดับการทำเกษตรในพื้นที่น้อยให้ได้มูลค่าและ มีรายได้มากขึ้น
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ให้ความสนใจในประเด็นปลูกพืชทางเลือก
นอกเหนือจากพืชหลัก ลดการทำพืชไร่ ลดการใช้สารเคมี ซึ่งโกโก้เป็นหนึ่งในพืชทางเลือกที่เกษตรกรให้ความสนใจอย่างมาก
โกโก้เป็นพืชที่มีตอนนี้ตลาดมีความต้องการสูงเพราะ ไทยยังต้องนำเข้าโกโก้ในราคาสูง
ขณะที่ลักษณะภูมิประเทศของไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ รวมถึงลำปาง
มีศักยภาพในการปลูกที่ได้ผลดี ซึ่งแปลงปลูกโกโก้ต้นแบบที่
ศพก.วังเหนือจะเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกโกโก้คุณภาพ ขณะนี้เกษตรจังหวัดลำปาง
กำลังรวมรวมแปลงปลูกโกโก้ที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน
ทุกอำเภอให้พัฒนาเป็นสวนโกโก้คุณภาพ
กลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของจังหวัดลำปางในอนาคตด้วยเช่นกัน
สำหรับจังหวัดลำปางจุดเริ่มต้นของการปลูกโกโก้ขณะนี้จะเพิ่มเริ่มตั้งไข่
แต่เส้นทางยังมีอนาคตสดใส เพราะในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในและต่างประเทศ
ต่างยอมรับว่ากันว่าช็อคโกแลตที่ได้จากผลโกโก้สายพันธุ์ไทย
มีกลิ่นและรสจากคุณค่าคล้ายสมุนไพรจากสารอาหารในดินพื้นที่ปลูกที่แตกต่างกันออกไป
เช่นเดียวกับกาแฟที่ให้กลิ่นรส และคุณค่าแตกต่างกันไปกลายเสน่ห์เฉพาะและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรไม่น้อยเลยทีเดียว
ในอนาคต อาจจะได้ยินชื่อช็อคโกแลตหรือ โก้โกลำปาง เป็นเทรดมาร์ค ...อะไรก็เป็นได้
แต่เริ่มต้นก็เห็นรำไรถึงปลายทาง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1183 วันที่ 15 - 21 มิถุนายน 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น