สื่อมวลชน
ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงอีกครั้ง ในสถานการณ์ข่าว
เจ้าหมูป่าติดถ้ำ ตั้งแต่เริ่มต้นค้นหา พบ 13 ชีวิต
จนกระทั่งทยอยเคลื่อนย้าย ออกมาจากถ้ำ โดยมีทั้งประเด็นการเกะกะกีดขวาง
การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ใช้เล่ห์กลในการเข้าไปทำข่าว
จนกระทั่งละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิส่วนบุคคล และอื่นๆอีกมากมาย
ในคนหมู่มาก ย่อมมีความผิดพลาดได้ ทั้งเจตนา
และไม่เจตนา ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับสื่อส่วนใหญ่ ที่ทำงานเคร่งครัดตามวิชาชีพ
มีความรับผิดชอบ มี “ปลาเน่า” เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น ที่ทำให้ภาพในใจของคนในสังคม
เหมารวมพวกเขาเป็นสื่อเลวไปทั้งหมด
ถึงกระนั้น ก็เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยกัน
ที่จะต้องเป็น “แมลงวันที่ตอมแมลงวัน”
หรือต้องเป็นสื่อที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ยอมรับความจริง
และกล้าที่จะปัดกวาดบ้านตัวเองให้สะอาด กล้าที่จะตรวจสอบกันเอง หาไม่แล้ว
ก็ป่วยการที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบคนอื่น หรือประกาศตนว่า
เป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง
ในขณะเดียวกันนักวิชาการ ที่เอาแต่บ่น วิพากษ์
วิจารณ์ การทำงานของสื่อมวลชน ก็ควรรวมตัวกัน “บอยคอต” เรียกร้องให้สังคม ปฏิเสธ
ไม่ฟัง ไม่อ่าน ไม่ดู สื่อมวลชนที่ไร้ความรับผิดชอบ เพื่อให้การใช้มาตรการ Social
Sanction ที่เป็นความล้มเหลวขององค์กรวิชาชีพสื่อมีผลจริงจัง
เหมือนเช่นที่อาจารย์วรัชญ์ ครุจิต แห่งนิด้า เป็นหัวหอกอยู่ขณะนี้
แน่นอนว่า สภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูง
ย่อมกดดันให้สื่อต้องรายงานข่าว ถ่ายภาพ หาประเด็นที่ฉีกออกไป
หรือแหลมคมมากกว่าสื่อสำนักอื่น
แต่มิได้แปลว่า การเข้าถึงข่าว ภาพ เหล่านั้น จะต้องทำทุกวิถีทางโดยไม่ต้องคำนึงถึงจริยธรรม
เช่น
การเสนอข่าวโดยดักฟังจากสัญญาณวิทยุสื่อสาร ของเวิร์คพอยท์
เป็นการเข้าถึงแหล่งข่าวโดยไม่สุจริต การเปิดเผยรายชื่อเด็ก 4 คนแรกที่ได้รับความช่วยเหลือออกมาจากถ้ำ
โดยมีทั้งสื่อบุคคลที่เป็นสื่ออาชีพด้วย เช่น กรณีวาสนา นาน่วม
และสื่อโทรทัศน์เกือบทุกช่อง โดยไม่เข้าใจว่า การที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แถลงข่าวโดยระบุเพียงว่า เป็นหมูป่าตัวที่ 1
หมูป่าตัวที่ 2 นั้น
เป็นการป้องกันมิให้เกิดผลกระทบในแง่จิตใจ กับพ่อแม่
ผู้ปกครองของเด็กทื่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
ท่ามกลางข่าวลือเรื่องสุขภาพของเด็กๆที่แพร่สะพัดออกมามากมาย
แต่ระหว่างผิด ไม่รู้ผิด และผิดและยอมรับผิดก็ยังยกย่องชมเชยได้
เช่น กรณีข่าวเวิร์คพอยท์ ประกาศยอมรับความผิดพลาด
จากการนำเสนอเสียงจากสัญญาณวิทยุสื่อสาร และตรวจสอบความถูกต้อง
อีกทั้งแก้ไขข้อผิดพลาดโดยพลัน ในขณะที่อีกหลายสื่อ ยังเพิกเฉย
ไม่ว่ากระแสสังคมจะวิพากษ์ วิจารณ์ จะมีคำเตือนจากองค์กรวิชาชีพอย่างไรก็ตาม
มีคำเตือนอย่างน้อย 3 ฉบับ จากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 2 ฉบับ
และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้คำนึงถึงจริยธรรมและสิทธิส่วนบุคคล และผลกระทบต่อจิตใจ
และความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องในการรายงานข่าว โดยเฉพาะการเปิดเผยภาพ ชื่อ
ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ในเวลาที่สื่อโทรทัศน์จำนวนมาก
ฝ่าฝืนคำเตือนนี้ไปก่อนหน้านี้แล้ว
พ่อ แม่
ผู้ปกครองที่ตั้งตารอลูกที่ยังอยู่ในถ้ำ
โดยที่เขายังไม่รู้ว่าชะตากรรมของลูกเป็นอย่างไร เป็นความกระวนกระวาย เป็นความทุกข์ใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในช่วงที่ยังไม่พบตัว
13
หมูป่า ถ้าสื่อมีความรู้สึกของความเป็นมนุษย์อยู่บ้าง
เขาจะเข้าใจได้ว่า เพียงถ้อยคำหนึ่งที่บอกว่า เด็กคนไหนอยู่รอดปลอดภัยแล้ว
มันทำร้ายจิตใจของเขาหนักหนาเพียงใด
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1187 วันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น