วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

วันแห่งการอนุรักษ์ มักไม่มีในปฏิทิน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์
          
วันเวลาเคลื่อนเร็วจนล่วงเลยมาถึงเดือน 9 เหลือเพียงไม่กี่เดือนปี 2561 ก็กำลังจะผ่านไป หากมีเวลาว่างเลยได้นั่งมองหาวันสำคัญในปฏิทินดูเล่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เราก็พอจะรู้กันอยู่บ้างแล้ว แต่สำหรับคนบางกลุ่ม (มักเป็นส่วนน้อยในสังคม และถูกค่อนขอดเสมอว่าโลกสวย) วันสำคัญของพวกเขาไม่ได้ถูกระบุไว้ในปฏิทิน หากแต่แจ่มชัดอยู่ในหัวใจเสมอเมื่อวันเหล่านั้นเวียนมาถึง

เดือนมกราคม วันที่ 14 วันทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ
เดือนกุมภาพันธ์ วันที่ 2 วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก วันที่ 13 วันรักนกเงือก
เดือนมีนาคม วันที่ 13 วันช้างไทย วันที่ 21 วันป่าไม้โลก วันที่ 22 วันน้ำโลกและวันอนุรักษ์โลก
เดือนเมษายน วันที่ 2 วันอนุรักษ์มรดกไทย วันที่ 12 วันป่าชุมชนชายเลนไทย วันที่ 13 วันประมงแห่งชาติ วันที่ 22 วันคุ้มครองโลก
เดือนพฤษภาคม วันที่ 22 วันความหลากหลายทางชีวภาพ วันที่ 23 วันเต่าโลก วันที่ 25 วัน Car Free Day
เดือนมิถุนายน วันที่ 5 วันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 8 วันทะเลโลก วันที่ 17 วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก
เดือนกรกฎาคม วันที่ 29 วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก วันที่ 31 วันผู้พิทักษ์ป่าโลก
เดือนกันยายน วันที่ 1 วันสืบ นาคะเสถียร วันที่ 16 วันโอโซนโลก วันที่ 20 วันรักต้นไม้และวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ วันที่ 22 วันแรดโลก วันที่ 26 วันอนุรักษ์ทะเลโลก
เดือนตุลาคม วันที่ 21 วันรักต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ
เดือนพฤศจิกายน วันที่ 16 วันพิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก
เดือนธันวาคม วันที่ 4 วันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 9 สัปดาห์อนุรักษ์มรดกโลก วันที่ 26 วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ

แต่รู้หรือไม่ว่าสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ เราต่างตื่นเต้นและให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก แต่ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน วันที่ 13 กุมภาพันธ์ คือ วันรักนกเงือก แม้พื้นที่ป่าในจังหวัดลำปางบ้านเราจะไม่มีรายงานการพบนกเงือก เพราะแหล่งอาศัยของพวกเขาที่สำคัญ คือ ผืนป่าเขาใหญ่-ดงพญาเย็น ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และผืนป่าภาคใต้ แต่นกชนิดนี้มีชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองที่เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้

นกเงือก (Hornbill) เป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตาโบราณ ถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า 45 ล้านปี มีอยู่ด้วยกัน 52 ชนิดในโลก พบได้ในป่าและทุ่งหญ้าเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชียเท่านั้น ในประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกเงือกปากดำ นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกหัวหงอก* นกเงือกดำ* นกเงือกหัวแรด* นกเงือกปากย่น* นกเงือกกรามช้างปากเรียบ* นกเงือกคอแดง* นกชนหิน* (* คือ นกเงือกที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์)

นกเงือกมีลักษณะเด่นอยู่ที่ปากขนาดใหญ่โค้ง มีโหนกประดับเหนือปาก (ยกเว้นนกเงือกคอแดงไม่มีโหนก) ลักษณะของโหนกแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของนก ส่วนใหญ่เป็นโพรง มีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำอยู่ภายใน (ยกเว้นโหนกของนกชนหินที่ครึ่งหนึ่งตันเหมือนงาช้าง) เวลาบินเสียงจะดังมาก เพราะใต้ปีกไม่มีขนปกคลุม เมื่อกระพือปีกแต่ละครั้งอากาศจึงผ่านช่องว่างโคนขนปีกทำให้เกิดเสียงดัง

นกเงือกจับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว นกเงือกหนุ่มจีบนกเงือกสาวด้วยการนำอาหารมาให้ เมื่อถึงเวลาที่พร้อมจะวางไข่ ตัวผู้และตัวเมียจะหาโพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ที่เหมาะ ๆ เมื่อถูกใจแล้ว ตัวเมียจะเข้าไปวางไข่และกกไข่อยู่ในนั้น ส่วนตัวผู้มีหน้าที่ไปคาบเศษดินโคลน แล้วผสมโคลนนั้นกับน้ำลาย บางครั้งก็ผสมกับมูลของตัวเมียด้วย และเอาโคลนนั้นช่วยกันปิดปากโพรงจนเหลือเพียงช่องเล็กๆ ให้ตัวเมียโผล่แต่ปากออกมารับอาหารจากตัวผู้ ซึ่งต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า เพื่อหาอาหารมาเลี้ยงตนเองและลูกเมียที่อยู่ในโพรง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่หากนกเงือกตัวผู้ถูกล่า นั่นหมายความว่าอีกสองชีวิตในโพรงก็ต้องดับสูญ

จากการวิจัยของโครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า นกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด ซึ่งบางชนิดนกขนาดเล็กไม่สามารถกินได้ จึงไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ ต้องอาศัยนกเงือกเป็นกำลังสำคัญ เพราะนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก กินทั้งแมลงและสัตว์เป็นอาหาร ธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่ากว้าง ส่งผลให้นกเงือกเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า ขณะเดียวกันก็ช่วยควบคุมประชากรของสัตว์เล็ก ๆ ด้วย เป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ นกเงือกจึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้อย่างดี

ทุกเวลานาทีในป่าใหญ่ ดูเหมือนทุกอย่างดำเนินไปตามครรลอง หลายชีวิตเกิดมาเพื่อรับใช้ธรรมชาติ ขณะที่นกเงือกเพียรใช้ทั้งชีวิตปลูกป่า แต่ป่าของพวกเขากลับหดหายไปอย่างง่ายดายในชั่วเวลาแค่ข้ามคืน


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1197 วันที่ 21 - 27 กันยายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์