วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

วิชั่น 'ทรงพล' ป้องรุกป่า ปลูกพืชทดแทน หนุนก๊วนทัวร์ ท่องเที่ยวยั่งยืน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เดินหน้าลำปางเฟส 2 ผู้ว่าฯลุยต่อ ดันเกษตร-ท่องเที่ยว หนุนปลูกพืชเมืองหนาวและเมืองร้อน หวังลดพื้นที่บุกรุกป่า ส่วนด้านท่องเที่ยวเน้นแคมเปญเที่ยวเป็นก๊วน กลุ่มเป้าหมายชัดเจน ประเดิมหนาวนี้ “แม่แจ๋ม แจ่มแต๊หนา” เผยการจัดงานต่างๆไม่เน้นยอดคนมาก แต่อยากให้เป็นที่จดจำ และมาท่องเที่ยวตลอดทั้งปี

ในโอกาสที่นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เข้ามาดำรงตำแหน่งที่ จ.ลำปาง ครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.61 ที่ผ่านมา ลานนาโพสต์จึงได้สอบถามถึงการดำเนินงานต่างๆในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงแผนการทำงานในปี 62 ซึ่งเหลือระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งอีก 1 ปี ก่อนจะเกษียณอายุราชการ

นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า หลักคิดในการทำงานที่ผ่านมา คือต้องการทำงานในเชิงยุทธศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ชัดเจน  เน้นการทำงานเชิงรุก  คิดริเริ่มสร้างสรรค์  ต้องบริหารควบคู่ไปกับการพัฒนา ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือต้องการผลงานหรือชื่อเสียง เพราะจะทำให้เราเลือกทำแค่บางอย่าง จึงพยายามมองให้ครบทั้งระบบว่าควรจะทำอะไรบ้าง ให้บูรณาการทั้งหมด

สิ่งสำคัญคือการรับฟังความเห็น และการลงพื้นที่ดูของจริง มีการนัดพบพูดคุยกับทุกกลุ่มอาชีพจำนวนมาก ลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการว่าเมื่อได้รับงบประมาณไปแล้ว สิ่งที่ทำไปเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงหรือต่อยอดอย่างไรบ้าง เป็นการรับทราบปัญหาโดยตรง  การทำงานต้องมีจุดเน้น มองว่าลำปางควรเล่นเรื่องอะไร และกำหนดจุดเน้นออกมาให้ครอบคลุมทุกเรื่อง เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว เด็กและเยาวชน  ความยากจนฯลฯ  และในปีนี้ได้มีการทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมอบให้แต่ละอำเภอ 13 อำเภอ ค้นหาจุดเน้นของตัวเองเพื่อเป็นเป้าหมายในการทำงาน

ผู้ว่าราชจังหวัด กล่าวถึงการสนับสนุนด้านการเกษตรว่า  ปีที่แล้วได้วางไว้ชัดเจนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรสุขภาพ เกษตรคุณภาพ เกษตรผสมผสาน และวนเกษตร  ที่เห็นได้ชัดคือ พืชเมืองหนาวได้มีการปรับเปลี่ยนทั้งระบบ โดยเฉพาะพื้นที่ บ้านใหม่พัฒนา อ.เมืองปาน  ตั้งเป้าให้เป็นแหล่งของพืชเมืองหนาว  ซึ่งเดิมชาวบ้านจะปลูกผักกับพื้นโดยไม่มีโรงเรือน และควบคุมแมลงไม่ได้  ไม่มีสถานที่รวบรวม คัดแยก บรรจุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าลำบาก การไปส่งแต่ละครั้งต้องไปแล้วคุ้มจึงมีการตัดผักที่ไม่โตเต็มที่ไปขาย ซึ่งเป็นจุดอ่อนของพื้นที่ จึงได้เข้ามาสนับสนุนส่วนนี้ โดยการสร้างโรงเรือนเพาะพันธุ์กล้า อุปกรณ์หยอดเมล็ด ประสานโครงการหลวงให้เข้ามาส่งเสริมอย่างเป็นระบบ  การสร้างโรงรวบรวม คัดแยก ตกแต่ง และบรรจุภัณฑ์  และจัดหารถในการขนส่ง   นอกจากนั้นยังช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ นำวิทยากรจาก ม.เกษตรศาสตร์  และดอยปุย มาให้ความรู้เรื่องการปลูกพืชผักเมืองหนาว 

สิ่งที่ทำคู่กันไป คือผลไม้เมืองหนาว ส่งเสริมการปลูก อะโวคาโด้  แมคคาดีเมีย บ๊วย โกโก้  โดยให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรได้เข้ามาช่วยดู และสนับสนุนกล้าพันธุ์  เพื่อให้เกษตรกรนำไปแทรกกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ลดการทำไร่เลื่อนลอย เช่น บ้านทุ่งยาง หมู่ 6  ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน  บ้านช่อฟ้า สาขาแม่จอกฟ้า ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม  บ้านแม่คำหล้า ต.บ้านร้อง อ.งาว  และในปี 62 จะเพิ่มเรื่องดอกไม้เมืองหนาว ในพื้นที่ จ.ลำปางก็มีแหล่งเพาะพันธุ์อยู่ที่บ้านใหม่พัฒนา อ.เมืองปาน เช่นกัน

ในขณะเดียวกันได้ส่งเสริมเรื่องการปลูกพืชเมืองร้อนไปด้วย เช่น เงาะ ทุเรียน สะตอ เป็นต้น ได้มีการลงพื้นที่ส่งเสริมในหลายพื้นที่ แก้ปัญหาการบุกรุกป่าและการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ยกตัวอย่าง บ้านปางมะโอ ได้ส่งเสริมปลูกทุเรียน ในอนาคตจะมีแบรนด์ทุเรียนปางมะโอ และแหล่งสะตอแหล่งใหญ่ของลำปาง 

 ด้านการท่องเที่ยว  นายทรงพล กล่าวว่า  เรื่องนี้พยายามวางเป็นระบบมาก เป็นแคมเปญลำปางปลายทางฝัน  ถึงแม้ว่าลำปางเป็นส่วนหนึ่งของ 12 เมืองต้องห้ามพลาด แต่ก็ยังเป็นเมืองรองอยู่  ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ต้องหาสิ่งที่ตอบโจทย์ให้กลับกลุ่มที่หลากหลายกว่าเดิม  ซึ่งต้องดูส่วนประกอบกัน 5 สิ่ง คือ การตลาด ประชาสัมพันธ์ กิจกรรม การพัฒนาพื้นที่ การเข้าถึง   ในปีนี้จึงจะมีการจัดแคมเปญย่อยต่างๆเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น คนทันสมัยไปลำปาง จะเจาะในกลุ่มของคนรุ่นใหม่  เที่ยวตามรอยภาพยนตร์ ซึ่งจะมีจุดที่สร้างเป็นป๊อบอัพขึ้นมา จะมีภาพยนตร์และละครอยู่ประมาณ 7 เรื่อง เช่น The Coup  หรือ No Escape   Twilight over Burma  The Game  ละครไทยรากนครา  ภาพยนตร์เรื่องหลวงพี่ 4G    นำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันให้เป็นเรื่องราว อาจจะทำเป็นจุดถ่ายภาพของคู่รัก ถ่ายพรีเวดดิ้งต่างๆ  นอกจากนั้นจะมีการท่องเที่ยวเชิง CSR เน้นการปลูกป่าทำฝาย เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มจิตอาสา  ท่องเที่ยววัยเก๋า เจาะกลุ่มวัยเกษียณ ที่รวมตัวกันท่องเที่ยวแบบสบายๆ   ซึ่งแคมเปญย่อยเหล่านี้จะค่อยๆปล่อยออกมาเป็นระยะตลอดปี

ด้านบ้านหลุยส์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มอนุรักษ์ จนทำให้เกิดเป็นงานท่ามะโอเรโทรแฟร์ขึ้น ในปีนี้จะมีการปรับปรุง และสร้างสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับประวัติของบ้าน  รวมทั้งสตรีทอาร์ตเกี่ยวกับการทำไม้ในอดีต โดยขอสนับสนุนงบจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ส่วนของนอกเขตพื้นที่ มาทำการปรับปรุงบ้านหลุยส์ทั้งหมด

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะส่งเสริมให้โดดเด่นมากขึ้น เช่น อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีการปรับในหลายด้าน การปลูกดอกไม้บริเวณป้ายด้าน การจัดปรับปรุงสถานที่นวดแผนโบราณ จากนั้นได้มีการขยายกลยุทธ์ต่อมาคือการจัดงานแจ้ซ้อนมิวสิคเฟสติวัล เป้าหมายไม่ได้หวังให้คนมาร่วมงานเยอะขนาดนั้น แต่ต้องการใช้งานเพื่อโปรโมทว่าลำปางมีแหล่งท่องเที่ยวให้คนจดจำ และเชื่อมโยงไปถึงการโฆษณาให้คนมาเที่ยวต่อเนื่องทั้งปี   สิ่งที่ทำคู่ขนานเชื่อมโยงกันคือ บ้านแม่แจ๋ม ซึ่งได้มีการปรับจุดถ่ายภาพ จุดชมวิว ไปเรียบร้อยแล้ว โดยในปีนี้ได้ประสานพัฒนาชุมชน เพื่อโปรโมทบ้านแม่แจ๋ม คือการจัดงาน แม่แจ๋ม แจ่มแต๊หนา  ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ อาจจะไม่ใช่งานใหญ่เหมือนมิวสิคเฟสติวัล แต่อย่างน้อยต้องมีศิลปินระดับประเทศมาร่วมงาน เพื่อเป็นการโปรโมทไปยังส่วนกลาง ดึงให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงนั้น หรือหลังจากนั้นก็ได้   โดยทุกวันเสาร์-อาทิตย์ บริเวณศาลาหมู่บ้านต้องมีสินค้าและการแสดงวัฒนธรรมของสินค้าชนเผ่ามาจัดแสดง มีพืชผัก ผลไม้เมืองหนาว และอื่นๆที่น่าสนใจหลายประเภท เช่นเดียวกับงานดอกเสี้ยวบานบ้านป่าเหมี้ยง ต้องมีกิจกรรมมาเสริม ยกระดับมากขึ้น และโปรโมทต่อไปในวงกว้างให้ทราบถึงของดีเมืองป่าเหมี้ยง

เช่นเดียวกับที่เขื่อนกิ่วลม ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่ง  ที่ผ่านมาได้ปรับปรุงท่าเรือ และศูนย์บริการ  ลานกางเต็นท์มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่  ต่อไปจะมีการจัดกิจกรรมบริเวณลานกางเต็นท์ที่เขื่อนกิ่วลม สไตล์ชิคแอนด์ชิล สบายๆกับธรรมชาติ เพื่อเจาะคนรุ่นใหม่  เสริมกีฬาทางน้ำเข้าไป เช่น ล่องแก่ง เรือแคนนู  เรือคะยัก เชื่อมโยมแคมเปญท่องเที่ยววัยเก๋าด้วย

ทั้งนี้ นอกจากด้านการท่องเที่ยวแล้ว  ยังมีลำปางนครหัตถศิลป์ สนับสนุนการจัดจำหน่ายสินค้าเซรามิก  สนับสนุนอุปกรณ์กลุ่มอาชีพ กลุ่มโอทอปต่างๆ  ด้านลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองน่าอยู่สำหรับเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ผู้สูงวัย  ได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา  พัฒนาการด้านสมองในการอ่านในเด็กปฐมวัย  เป็นต้น   ด้านพัฒนาบริการ แก้ปัญหาความเดือดร้อน ขจัดความยากจน มีการซ่อมแซมบ้าน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ  ปรับโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนที่ห่างไกล  ด้านเมืองสะอาด ร่มรื่น ปลอดภัย  พัฒาระบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียครบวงจร  ขับเคลื่อนลดการใช้โฟสและพลาสติก ฯลฯ   
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1201 วันที่ 19 - 25 ตุุลาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์