วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

นายกฯบ้านดง จี้บิ๊กตู่ เร่งอพยพ-ภาคหลวง จับตาโรงไฟฟ้าใหม่

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

นายก อบต.บ้านดง เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอเร่งรัดการอพยพ และค่าภาคหลวงแร่  ขณะที่ มะลิวรรณ ติง กฟผ. มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่แม่เมาะอีกโรง แต่ปัญหาเก่ายังค้างคาอีกมาก

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.61 นายศุกษ์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้เดินทางไป จ.ลำพูน เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ จ.ลำพูน  โดยนายศุกษ์ได้เข้ายื่นหนังสือบริเวณศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี  ที่ได้มาตั้งโต๊ะให้บริการประชาชนภายในบริหารงานดังกล่าว

ทั้งนี้ นายก อบต.บ้านดง ได้ยื่นหนังสือในประเด็นการขอความช่วยเหลือเร่งรัดการอพยพและการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่  โดยระบุว่า  อบต.บ้านดงได้รับร้องเรียนจากราษฎร ต.บ้านดง จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านหัวฝาย หมู่ 2 บ้านดง หมู่ 7 บ้านสวนป่าแม่เมาะ และ หมู่ 8 บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง  ซึ่งมีมติ ครม.วันที่ 15 ต.ค.56 ให้อพยพราษฎรออกจากพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านฝุ่น กลิ่น เสียง ที่เกิดจากการใช้พื้นที่จำนวน 2.2 หมื่นไร่เศษ เป็นพื้นที่ทิ้งดินของเหมืองถ่านหินแม่เมาะ  ภายใต้การดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ซึ่ง ครม.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินการอพยพตั้งแต่ปี 2556  กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายใน 5 ปี  ต่อมามีการขยายเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2562  ซึ่งพบว่า ปัจจุบันการอพยพราษฎรยังไม่มีความคืบหน้า พื้นที่รองรับยังไม่แล้วเสร็จ การประเมินทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน ส่งผลให้ราษฎรที่ต้องการอพยพได้รับความเดือดร้อน  ราคาทรัพย์สินไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ เกิดความไม่เป็นธรรม

สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่น มี 3 ข้อด้วยกัน คือ  1.ขอให้เร่งรัดระยะเวลาการดำเนินการปรับพื้นที่ จัดระบบสาธารณูปโภค รองรับการอพยพให้เสร็จตามกำหนดภายในปี 2562  2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนการประเมินราคาทรัพย์สิน และปรับราคาประเมิน ค่าชดเชยทรัพย์สิน ที่ดิน ต้นไม้ สิ่งปลูกสร้าง ให้เกิดความเป็นธรรมกับราษฎร เนื่องจากความล่าช้าในการดำเนินงานอพยพ  และ 3.ขอพิจารณาเร่งรัดการจัดทำร่าง พ.ร.บ.รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การจัดสรรภาษีค่าภาคหลวงแร่ เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560   เนื่องจาก พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560  ได้ประกาศใช้วันที่ 2 มี.ค.60  ได้กำหนดขอบเขตเหมืองแร่ให้คลอบคลุมพื้นที่ทิ้งมูลดินทราย ซึ่งมีเขตติดต่อกับประทานบัตร มีผลให้พื้นที่ทิ้งดินซึ่งอยู่ใน ต.บ้านดงจะได้รับการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการจัดสรรแต่อย่างใด เนื่องจากความล่าช้าของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.รายได้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... ดังกล่าว ยังไม่แล้วเสร็จ  จึงขอให้เร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 1 ต.ค.61 ที่ผ่านมา ผู้บริหาร กฟผ.ได้เปิดเผยข้อมูลเรื่องแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงเก่าหน่วยที่ 8 และ 9 กฟผ.แม่เมาะ ที่จะปลดระวางลงในปี 2563  พร้อมเผยความคืบหน้าโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7  เตรียมเข้าระบบในเดือน พ.ย. 2561 นี้

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคเหนือ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 และ 9 ที่จะหมดอายุในปี 2563 นี้ หรือไม่ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ฉบับใหม่ที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการจัดทำอยู่ในขณะนี้ หากได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างได้จะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี  โดยจะสร้างเพียง 1 โรง กำลังผลิตรวม 650 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 4-7

เมื่อสอบถามไปยัง กฟผ.แม่เมาะ ได้ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ยังเป็นเพียงแค่แผนการดำเนินงานเท่านั้น เนื่องจากต้องรอให้ รัฐบาลประกาศใช้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580 (PDP)ฉบับใหม่ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำร่างแผนพัฒนาฯดังกล่าว เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่

ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ  กล่าวถึงกรณีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ.ว่า  กฟผ.จริงใจที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนแค่ไหน ในประเด็นที่ว่าเทคโนโลยีใหม่ดีกว่าของเดิม ไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม  เพราะในอดีตชาวบ้านที่เดือดร้อนต้องออกมาเรียกร้อง และหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่ามันมีผลกระทบเกิดขึ้นจริงๆ และยังต้องเสียเวลาในการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ได้รับค่าชดเชยค่าเสียหาย แม้จะได้มาจากการต่อสู้ที่ยาวนาน แต่ก็ไม่ได้คุ้มค่ากับการสูญเสียที่เกิดขึ้นจริงทั้งที่ กฟผ.เองก็ทราบมาตลอดว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ แต่ก็ยื้อเวลาต่อสู้กับชาวบ้านที่เป็นผู้เสียสละ และไม่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าตั้งแต่ต้น

“ไม่ใช่เราไม่ให้สร้าง เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินนโยบายที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องการและกำหนด. แต่พวกเราเรียกร้องว่าให้ดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในอดีตที่พิสูจน์แล้วจากกระบวนการยุติธรรมการต่อสู้ที่ยาวนาน การแบ่งแนวกั้นระหว่างชุมชน การอพยพชาวบ้านในรัศมี 5 กิโลเมตร ควรเกิดขึ้นและเป็นจริง”  นางมะลิวรรณ กล่าว

ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันนี้ เรื่องคดีความต่างๆทยอยปิดคดีลงในชั้นศาลปกครองสูงสุด แต่บางเรื่องยังคงดำเนินการตามที่ชาวบ้านยื่นฟ้องและมีมติ ครม.รองรับแล้วอย่างเช่น การอพยพชาวบ้านอีกกว่า 1,800 ครัวเรือนของ ต.บ้านดง  ที่ยังไม่มีความคืบหน้า พิสูจน์ชัดแล้วว่า กฟผ.ไม่ได้มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการแก้ไขปัญหาต่างๆในพื้นที่ยังขาดหลักธรรมมาภิบาลการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  กฟผ.ลวงโลกตลอดมา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1199 วันที่ 5 - 11 ตุลาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์