
สุดท้ายปลายทางฝัน
ในมิติการท่องเที่ยว อาจมองเห็นภาพไม่ชัดนักสำหรับจังหวัดลำปาง
คล้ายไม่แตกต่างเมื่อแต่ละจังหวัดก็ขึ้นป้ายโฆษณากลางแจ้งประชันกันในกรุงเทพ
เชิญชวนให้ไปเที่ยวจังหวัดของตนเอง มีภาพแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปอยู่แล้วเป็นภาพประกอบ
เช่น ลำปางปลายทางฝัน ปรากฏฉากหลังเป็นอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
ความเป็นจริงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
เริ่มเป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไปนานพอสมควรแล้ว เชียงใหม่มีบ่อน้ำพุร้อนฝาง
โป่งเดือด ดอยสะเก็ด แจ้ซ้อนก็มีบ่อน้ำพุร้อน ที่มีสภาพเกิดทางธรณีวิทยา
บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน อุณหภูมิเฉลี่ย 73 องศา นิยมเอาไข่ไก่
ไข่นกกระทาไปแช่ไว้ เป็น ไข่น้ำแร่แจ้ซ้อนที่ขึ้นชื่อ
บ่อน้ำร้อน
9 บ่อ ไอน้ำลอยกรุ่น โอบล้อมด้วยป่าเขา และธารน้ำตกแจ้ซ้อน
อากาศสะอาดบริสุทธิ์ จนมีการเปรียบเทียบกันว่าสภาพอากาศในพื้นที่แม่เมาะ
มีค่าเท่ากับสภาพอากาศที่แจ้ซ้อน
จากภาพของอุทยานแห่งชาติ
และน้ำพุร้อนที่แจ้ซ้อน เราก็คิดถึงรถม้าลำปาง
ซึ่งเป็นเรื่องที่เอาไปเปรียบเทียบกับคนที่เอาแต่เดินไปข้างหน้า ไม่มองซ้ายมองขวา ว่าเป็นเหมือนรถม้าลำปาง มาเที่ยวลำปาง ก็ต้องนั่งรถม้าชมเมือง
เป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ยังมีการเดินทางด้วยรถม้า แต่เป็นการเดินทางเพื่อท่องเที่ยว
มิใช่การเดินทางแต่ครั้งอดีต ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นำรถม้าพร้อมกับการวางรางรถไฟมาถึงลำปาง
เพื่อใช้รถม้าเป็นพาหนะรับส่งคนจากสถานีรถไฟเข้าตัวเมือง
ถัดจากอุทยานแห่งชาติและน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน
ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
ถึงลำปางคนก็ต้องคิดถึงวัดพระธาตุลำปางหลวง และที่เป็นอันซีนลำปางไม่นานปีนี้ คือภาพหมู่เจดีย์สีขาวที่สร้างบนยอดภูสูงเสียดฟ้า
ในมุมมองนกที่เผยแพร่ไปในรายการท่องเที่ยวหลายรายการ
นี่คือวัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์
เดิมชื่อ"วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง" อยู่ที่ อำเภอแจ้ห่ม
ความโดดเด่นของสถานที่แห่งนี้อยู่ที่ไม่เพียงความงดงามของเจดีย์เล็ก ๆ สีขาว ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูง
เป็นภาพดึงดูดทีใครหลายคนอยากที่จะมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้งเท่านั้น ภายในบริเวณวัดด้านล่างยัง
เป็นที่ตั้งของ "วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์"ซึ่งมองจากด้านบนก็เป็นความงดงามที่หาดูได้ยากยิ่ง
คนยังรู้จักลำปางจากศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย
และสวนป่าทุ่งเกวียน ซึ่งโปรแกรมทัวร์เชียงใหม่หลายปีก่อน ศูนย์อนุรักษ์ช้าง
ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย
และสวนป่าทุ่งเกวียน ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเกวียน ตำบลเวียงตาล
อยู่ในความดูแลของอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.)
แต่เดิม ออป. เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่
พ.ศ. 2512
ศูนย์แห่งนี้
เป็นสถานที่เลี้ยงและฝึกลูกช้างเพื่อให้เชื่อฟังคำสั่งและมีความชำนาญในการทำไม้ขณะที่แม่ช้างไปทำงานในป่า
และเนื่องจากมีนโยบายปิดป่า ทำให้ช้างต้องว่างงาน ศูนย์ฝึกลูกช้างจึงถูกปรับมาเป็นสถานที่ดูแลช้างแก่และเจ็บป่วย
และยังเป็นสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลช้าง
ทั้งหมดนี้
อาจเรียกว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยว กระแสหลัก คือเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปแล้ว
แม้ยังไม่มีภาพจำเท่าจังหวัดเชียงใหม่ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ
ทำให้ความเป็นเมืองผ่านของลำปาง กลายเป็นเมืองห้ามพลาดชัดขึ้น
แต่การท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง
ที่น่าส่งเสริมสนับสนุนอย่างยิ่ง คือการท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชนหรือ Community – Based
Tourism เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทั้งมิติของธรรมชาติ
ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตพื้นบ้าน ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่จัดการโดยชุมชน
บริหารโดยชุมชน มิใช่บริหารแบบราชการ หรือเป็นทางการเช่นการท่องเที่ยวกระแสหลัก
เพื่อช่วยกันค้นหาความหมายและคุณค่าของการท่องเที่ยววิถีชุมชน
ลานนาโพสต์ได้จัดเสวนา ลานนาฟอรัม ครั้งที่ 1 หัวข้อ
“ท่องเที่ยววิถีชุมชนยั่งยืน โอกาสและความท้าทาย” ที่โรงแรมลำปางเวียงทอง
วันพุธที่ 28 พฤศจิกายนนี้
ขอเชิญทุกท่าน
ร่วมกันหาคำตอบว่า ท่องเที่ยววิถีชุมชน จะเป็นปลายทางฝันของลำปางได้หรือไม่
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น