วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561

โครเชต์‘ไก่ฟ้า-หงส์ฟ้า’ สร้างมูลค่าให้เส้นด้าย

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

แต่ไหนแต่ไรมาชาวบ้านหนองนาว อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร ทำไร่ ทำนา ทำสวน และรับจ้าง ตามฤดูกาล แต่หลังจากงานหลักก็จะใช้เวลาว่างทำอาชีพเสริม ไม่ว่าจะเป็นการจักตอก สานไซ ข้อง แห สวิง ของใช้ต่างๆ ที่ชาวบ้านหนองนาวก็จะช่วยกันถักทอ ตามภูมิปัญหาที่สืบทอดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย รวมถึงการทอผ้าและการถักโครเชต์ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยใจรัก

ที่แห่งนี้นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่อง น้ำผัก-น้ำปู ของเด็ดของดี ของขึ้นชื่อที่ใครๆก็รู้จักแล้ว ก็ยังมีงานฝีมือที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กันนั้นคือ ผ้าถักโครเชต์ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เห็นที่ไหน รู้ได้ทันทีว่าเป็นของดีบ้านหนองนาว แน่นอน

จากคำบอกเล่าชาวบ้านหนองนาวเล่าว่าเมื่อ 60 กว่าปีก่อน ชุมชนแห่งนี้ยังไม่มีไฟฟ้า การคมนาคมขนส่งยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ทำให้ในหมู่บ้านจะมีการปลูกฝ้ายเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำเป็นเส้นด้ายใช้สำหรับการทอผ้า รวมไปถึงใช้ถักโครเชต์ ซึ่งแรกเริ่มได้มีการถักเป็นสวิง แห อวน ต่อมาได้ประยุกต์เป็นการถักคอเสื้อ ผ้าปูโต๊ะ ผ้าห่ม ผ้าถุง เย็บเป็นที่นอน หมอน ของใช้ต่างๆ ว่าจะเป็นของชำร่วย ของขวัญ ขายได้ก็นำมาทำทุน แต่ส่วนใหญ่ทำไว้เพื่อเป็นของใช้ในบ้านลดรายจ่ายในครัวเรือนมากกว่า เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีตลาดรองรับ แต่ก็มีการสอนและถ่ายทอดเทคนิคการถักโครเชต์กันในชุมชน จนปัจจุบันการปั่นฝ้ายเพื่อผลิตด้ายนั้นไม่ได้ทำแล้ว เนื่องจากการขนส่งสะดวกขึ้นก็จะซื้อด้ายสำเร็จรูปมาใช้งาน แต่อาจจะมีการปั่นเป็นม้วนด้ายขึ้นมาใช้กันเองภายในกลุ่มอาชีพ จนปัจจุบันมีกลุ่มถักโครเชต์ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มผ้าถักโครเชต์ไก่ฟ้าพญาลือ และ กลุ่มผ้าถักโครเชต์หงส์ฟ้า

กลุ่มผ้าถักโครเชต์ไก่ฟ้าพญาลือ รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนมานานกว่า 20 ปี หากแต่ประวัติของกลุ่มยาวนานกว่านั้นจนถึงปัจจุบันนับได้ว่าเป็นเจเนอเรชันที่ 3 ของกลุ่มก็ว่าได้

 


ความเป็นมาของกลุ่มกลุ่มผ้าถักโครเชต์ไก่ฟ้าพญาลือ เริ่มตั้งแต่คุณแม่บัวคำ  พงษ์นิกร คือ ผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการถักโครเชต์ ให้กับ ลำดวน พงษ์นิกร  ซึ่งเป็นลูกสาวของครอบครัว พงษ์นิกรที่คุณแม่ได้ถ่ายทอดเทคนิควิธีการถักโครเชต์ให้ ตั้งแต่อายุ 8-9  ขวบ ย้อนความทรงจำก็ราวๆ พ.ศ. 2499 แต่สมัยนั้นไฟฟ้ายังไม่มีแต่ต้องสอนในเวลากลางคืนเพราะกลางวันลำดวนต้องไปเรียนหนังสือ ส่วนแม่บัวคำก็ต้องไปทำไร่ทำสวน ต่อมา พ.ศ. 2505 แม่บัวคำก็ได้จากไปขณะอายุ 48 ปี นับจากนั้นมา ลำดวน ก็เป็นผู้สืบทอดและศึกษาค้นคว้ารวมถึงพัฒนารูปแบบการถักโครเชต์ให้มีความหลากหลายและสร้างลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์  โดยได้มีการรวมกลุ่มตั้งแต่ปี 2548  จากนั้นลำดวน ได้สอนเทคนิควิธีการถักโครเชต์ให้กับ เสาวลักษณ์ พงษ์นิกร  หลานสาวและคนในชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงมาโดยตลอด จนมาถึงปัจจุบัน เสาวลักษณ์ พงษ์นิกร ก็เป็นประธานกลุ่มคนปัจจุบันและดูแลการตลาดรวมถึงพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผ้าปูโต๊ะ กล่องใส่ทิชชู เสื้อถักริม ปลอกหมอนอิง ฯลฯ  ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผ้าถักโครเชต์ไก่ฟ้าพญาลอ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ไก่ขาวในรูปทรงสามมิติ ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำกลุ่มแทนสัญลักษณ์จังหวัดลำปาง

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ
            - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 การประกวดกระเช้าสินค้าชุมชน  นตผ.โอท็อป ปี 2545
- ได้มาตรฐาน มผช. เลขที่ 195/2546
- ผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับ 4 ดาว ในปี 2546
- ผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับ 3 ดาว ในปี 2547
- รางวัลดีเด่นในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรในปี 2549
- รางวัลดีเด่น ประเภทผลิตภัณฑ์ผ้าแปรรูปและเครื่องแต่งกาย เมื่อวันที่10  สิงหาคม 2549
- ผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับ 3 ดาว   ในปี  2549
- ผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับ 2 ดาว   ในปี  2552
- ผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับ 5 ดาว   ในปี  2553
- ผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับ 4 ดาว   ในปี  2556

ติดต่อสั่งซื้อหรือสอบถามรายละเอียด
กลุ่มกลุ่มผ้าถักโครเชท์ไก่ฟ้าพญาลือ  252  บ้านหนองนาว  หมู่  8  ตำบลแจ้ห่ม  อำเภอแจ้ห่ม  จังหวัดลำปาง  52120 โทร.  080-671-3659
           
กลุ่มผ้าถักโครเชต์หงส์ฟ้า
บัวคำ สุรินทร์ ประธานกลุ่ม เล่าว่า เดิมกลุ่มนี้คือกลุ่มสตรีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสหราษฎร์ออมทรัพย์ แรกเริ่มเดิมทีกลุ่มแม่บ้านจะถักแห ถักอวน สวิง ไว้ใช้เอง และได้มีการถ่ายทอดสอนเทคนิคการถักทอ การจักสานให้ลูกหลาน โดยเชื่อกันว่าผู้ที่สามารถถักทอได้นั้นเป็นผู้ที่ละเอียดอ่อน มีความมุ่งมั่น อดทนในการทำงาน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ประสบความสำเร็จเสมอ เดิมนิยมใช้เชือกปอ มาถักเป็นกระเป๋าย่าม จากนั้นก็นำทักษะการถักกระเป๋ามาประยุกต์เชื่อมโยงกับการถักโครเชต์ ต่อมากลุ่มแม่บ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพทำผลิตภัณฑ์จากการถักโครเชท์ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 โดยการระดมหุ้น คนละ 100 บาท ได้มีการพัฒนารูปแบบการถักมาโดยตลอด จนปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง ผ้ารองแก้ว ผ้ารองจาน ปลอกหมอน  กล่องใส่กระดาษทิชชู ผ้าปูโต๊ะลายลีสับปะรด  ผ้าสไบ รวมไปถึง เสื้อถักโครเชต์ ล้วนแต่มีลวดลายที่สวยงาม แสดงถึงทักษะความชำนาญของคนในกลุ่มเป็นอย่างมาก

 


วัสดุอุปกรณ์ในการผลิตมี ด้ายถักซึ่งสมัยก่อนปั่นเส้นด้ายและนำมาพันเป็นกลุ่มก้อนกันเอง แต่ปัจจุบันซื้อด้ายถักสำเร็จรูป โครเชท์  กรรไกรตัดด้าย อุปกรณ์เพียงเท่านี้บวกกับฝีมือและความปราณีตในการถักโครเชต์ก็ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและเพิ่มมูลค่าด้วยลวดลายถักที่สวยงาม สร้างความประทับใจเมื่อไปออกแสดงสินค้าได้ไม่อยาก

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มหงส์ฟ้ามีเอกลักษณ์ที่เด่นชัดนั่นคือ  หงส์สีขาว ในรูปทรงสามมิติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่ม การถักโครเชต์ขึ้นรูปเป็นตัวหงส์สามมิตินั้นต้องทำตัวหงส์ ปีกทั้งสองข้างแยกกัน แล้วจึงนำมาถักต่อเชื่อมกัน จากนั้นตกแต่งปากหงส์ด้วยด้ายสีแดง และใช้ลูกปัดขนาดเล็ก ๆ แต่งเป็นตาทั้งสองข้าง นอกจากนี้ตรงบริเวณปลายปีกหงส์อาจมีการถักชอบด้วยด้ายสีทอง เพื่อเพิ่มความสวยงามและมูลค่าของชิ้นงานอีกด้วย

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ
            -  มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เลขที่ ๔๓-๓/๑๙(ลป) (๑๗พ.ย./๒๕๕๑)
            -  ประกาศนียบัตรจาก หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๖ (๔ ดาว)
            -  ประกาศนียบัตรจาก หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๗ (๓ ดาว)
            -  ประกาศนียบัตรจาก หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙ (๒ ดาว)
            -  ประกาศนียบัตรจาก หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ (๕ ดาว)

ติดต่อสั่งซื้อหรือสอบถามรายละเอียด
กลุ่มผ้าถักโครเชต์หงส์ฟ้า  232 หมู่ที่ 8 บ้านหนองนาว ตำบลแจ้ห่ม อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง 52120 โทร. 089-427-3352

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1209 วันที่ 14 - 20 ธันวาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์