วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สตรอว์เบอร์รียอดฮิต

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ดูเหมือนว่า สตรอว์เบอร์รีจะเป็นผลไม้ยอดนิยมในการนำมาสังเคราะห์เลียนแบบกลิ่นและรสชาติมากที่สุด น่าจะพอ ๆ กับส้ม ตั้งแต่น้ำผลไม้ ขนมต่าง ๆ น้ำยาล้างจาน ยาสีฟัน ยันแชมพู อ้อ ถุงยางอนามัยก็ด้วย

ในช่วงฤดูหนาวเราต่างเฝ้ารอที่จะได้กินสตรอว์เบอร์รีสดฉ่ำหอมหวาน มากกว่านั้น การได้ไปเดินเฉิดฉายกลางไร่สตรอว์เบอร์รี พร้อมกับก้มลงเก็บผลสตรอว์เบอร์รีด้วยมือของตนเอง ก็เป็นอะไรที่ฟินสุด ๆ เมื่อก่อนคนลำปางคงต้องดั้นด้นไปแถวอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยปลูกกันมากถึง 3,000 กว่าไร่ แต่เดี๋ยวนี้ เมืองลำปางเราก็มีไร่สตรอว์เบอร์รีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ไร่สตรอว์เบอร์รี่ฟาร์มแม่ต๋ำ อำเภอเสริมงาม และไร่สตรอว์เบอร์รีปางมะโอ อำเภอแม่ทะ ซึ่งกำลังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนพูดถึงอย่างมาก

สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ชนิดแรก ๆ ที่มีการนำเข้ามาขยายพันธุ์เพื่อปลูกทดแทนฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยของชาวไทยภูเขา ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และด้วยความที่ได้รับพระราชทานพันธุ์มาเพื่อการวิจัยปรับปรุงพันธุ์และเสาะหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศของประเทศไทย การตั้งชื่อนำหน้าพันธุ์ที่ได้จากทุกงานวิจัยจึงใช้ชื่อว่า พันธุ์พระราชทาน แล้วจึงตามด้วยหมายเลขพันธุ์ หรือหมายเลขแปลง

ปัจจุบันมีสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน 50 ซึ่งตรงกับปีกาญจนาภิเษก พันธุ์พระราชทาน 70 และ 72 ที่ตรงกับพระชนมพรรษา พันธุ์พระราชทาน 60 ตรงกับปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และสำหรับพันธุ์พระราชทาน 80 ตรงกับพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2550

สตรอว์เบอร์รีส่วนใหญ่ที่ปลูกกันในเมืองลำปางเป็นพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสตรอว์เบอร์รีกินผลสด ซึ่ง ดร. ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ตลอดจนคณะนักวิจัย Hiroshi Akagi อาสาสมัครมูลนิธิโครงการหลวง รวมทั้งนายเวช เต๋จ๊ะ นักวิจัยอาสาสมัครมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกันปรับปรุงพันธุ์จนได้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ที่มีรสชาติหวานอร่อยถูกใจคนไทย

ทั้งนี้ โดยการนำเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่นมาปลูก ทดสอบ และคัดสายพันธุ์ครั้งแรกในฤดูกาลผลิตปี พ.ศ. 2545 ณ แปลงทดลองของสถานีวิจัยดอยปุย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ก็ได้ถูกขยายต้นพันธุ์โดยวิธีผลิตต้นไหลแบบธรรมดาและการเพาะเลี้ยงต้นเนื้อเยื่อปลอดโรค เพื่อใช้ปลูกทดสอบในพื้นที่แปลงทดลองของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ได้มีการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมทางด้านการเจริญเติบโต การให้ผลผลิต คุณภาพของผลผลิตและรสชาติ ความทนทานต่อศัตรูพืช รวมทั้งการผลิตไหลและต้นไหลสำหรับการขยายต้นพันธุ์ให้แก่เกษตรกร จนได้ผลเป็นที่พอใจ

ความโดดเด่นของสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 อยู่ที่รูปร่างของผลที่สวยงาม โดยทั่วไปเป็นทรงกรวย ถึงทรงกลมปลายแหลม ผิวไม่ขรุขระ เนื้อผลแน่น สีแดงสดใส รสชาติหวาน เมื่อผลสุกเต็มที่จะมีกลิ่นหอมจัด อีกทั้งทนทานต่อโรคแอนแทรคโนสและราแป้ง สามารถปลูกเป็นการค้าได้ในพื้นที่ที่มีความสูง 800 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง นอกจากนี้ ยังต้องการความหนาวเย็นปานกลาง คือ ประมาณ 15-18 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20-30 วัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างตาดอกอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการปลูกสตรอว์เบอร์รีจะใช้วิธีปลูกต้นไหล ซึ่งก็คือส่วนของลำต้นเหนือดินที่ทอดไปตามพื้นและแตกหน่อใหม่ พร้อมกับราก เพื่อเติบโตเป็นต้นสตรอว์เบอร์รีใหม่นั่นเอง การปลูกต้นไหลจะต้องนำไปปลูกไว้บนที่สูง เพื่อให้เกิดการพัฒนาตาดอกและเพื่อความแข็งแรงก่อนปลูก โดยจะปล่อยให้ได้รับอากาศเย็นในเวลากลางคืน ซึ่งจะทำให้ออกดอกเร็วกว่าต้นไหลที่ผลิตบนพื้นราบ หลังจากนั้น ต้นไหลจะถูกนำไปปลูกในแปลงที่ปกติจะเป็นแปลงที่อยู่ในแนวเหนือ-ใต้ เพื่อให้ต้นได้รับแสงเต็มที่ อันจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและสีของผล และยังต้องคลุมแปลงด้วยฟางข้าว หรือใบตองตึง เพื่อช่วยลดปัญหาผลเน่า

สตรอว์เบอร์รีอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดและยังมีวิตามินซีสูง เป็นผลไม้เมืองหนาวที่หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์พระราชทาน 80 นั้น กว่าจะมาถึงมือเรา ให้เราได้ลองลิ้มชิมรสกันต้องผ่านเรื่องราวมากมาย ก่อนฤดูหนาวจะจากไป สตรอว์เบอร์รีสักหยิบมือหนึ่งนอกจากจะให้ความรื่นรมย์ในรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ต้นกำเนิดและการเดินทางของชนิดพันธุ์นี้ ล้วนมีที่มาที่ไป และมีค่ามากกว่าจะใช้เป็นคำด่าว่าเสียดสีกันเสียอีก

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1209 วันที่ 14 - 20 ธันวาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์