วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

สุดยอดศาสตราวุธทำมือ บ้านขามแดง-เหล่าดอนไชย

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ในแหล่งอารยธรรมล้านนาเป็นที่รู้กันว่างานศิลปวัฒนธรรมยังคงมีเหลืออยู่ให้เห็นในภาคเหนือมากมาย  จังหวัดลำปางก็มีงานหัตกรรมที่ขึ้นชื่อมากมาย หากแต่วงการศาสตราวุธโบราณ ก็จะมีช่างฝีมือดีอยู่ที่ 2 หมู่บ้าน ใน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง คือ บ้านขามแดง ซึ่งเป็นแหล่งตีใบมีดดาบ สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย  ส่วน งานหัตกรรมทำส่วนของการเหลาฝักดาบ การถักหวาย และทำสายดาบ ให้ครบองค์ประกอบที่สวยงามมีช่างฝีมือดีที่ บ้านเหล่าดอนไชย

ขณะนี้มีความร่วมมือจากหลายฝ่าย สนับสนุนให้เกิด พิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้ศาสตราวุธโบราณ ที่วัดดอนไชย บ้านเหล่าแห่งนี้ ให้ลูกหลานได้ชื่นชมและเป็นแหล่งถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลัง

ลานนา Bizweek ไม่รอช้า เก็บเรื่องราวสีสันจากงานจังหวัดเคลื่อนที่ ณ วัดดอนไชย บ้านเหล่า อ.ห้างฉัตร เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสล่าฝีมือดียกงานมาสาธิตให้ได้ชื่นชม

ลุงบุญช่วย มาปะละ ช่างทำฝักดาบ วัย 66 ปี ที่บ้านเหล่า บอกเล่าว่า ช่างหัตกรรมทำฝักดาบในหมู่บ้านเหล่า ล้วนแต่เป็นช่างที่สืบทอดอาชีพต่อจากพ่ออุ้ยแม่อุ้ยเป็นรุ่นมาแต่โบราณ ยุคปัจจุบันคนชอบสะสมดาบ หรือนำไปใช้เพื่อการแสดงทำให้ตลาดยังมีความต้องการสูง ลุงบุญช่วยบอกว่า ทุกวันนี้ งานทำด้ามมีดและฝักดาบ เป็นอาชีพที่มีรายได้ดีและมีความสุขกับการได้ทำงานอยู่กับบ้านแบบสบายๆ เหนื่อยก็พัก แต่แทบไม่หยุดเพราะมีคนสั่งทำต่อคิวยาวตลอดทั้งปี 

“ งานทำด้ามและฝักมีดหรือดาบอาจไม่ยุ่งยากเท่ากับงานตีมีด แต่ถือว่าเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิ ฝีมือความเชี่ยวชาญการตัดประกอบเหลาไม้ให้เป็นด้ามที่พอดีกับลำดาบ ให้สวยงามสมบูรณ์ ดาบจะดูมีคุณค่า สวยงามแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับด้ามและองค์ประกอบภายนอกด้วยเช่นกัน ”

ลุงบุญช่วยเล่าต่อ ขณะที่มือก็ง่วนอยู่กับการเหลาด้ามดาบโบราณไปพลางว่า การคัดเลือกไม้มาทำด้ามและปลอกมีดดาบ เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะต้องเลือกชนิดไม้ที่ดีเหมาสม งานด้ามดาบโบราณของลุงบุญช่วยจะเลือกใช้ไม้ไผ่ตงจากในป่า โยเลือกเอาโคนไผ่ตงที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ข้อดีของไผ่ชนิดนี้คือเหนียวและหนา เลือกเอามาเหลาเป็นด้ามตันได้ดี ดาบที่เก็บไว้หรือใช้งานไปนานๆด้ามจะไม่แตก ส่วนปลอกดาบนิยมใช้ไม้เนื้ออ่อนจากต้นซ้อ ซึ่งมีเนื้ออ่อน เหลาง่ายแต่แลงหรือปลวกไม่กินไม้ชนิดนี้  และยังพอหาได้ในท้องถิ่น ด้ามและฝักที่ลุงบุญช่วยทำจะเน้นงานดิบๆคือเหลาไม้ไม่ตกแต่งทาสีราคาค่าฝีมือ ด้ามละ300 บาทขึ้นไปจนถึงหลักพันบาท แล้วแต่ความยากง่าย ลูกค้าส่วนใหญ่สั่งซื้อไปทำสีเอง หรือบางส่วนเป็นพ่อค้าที่สั่งซื้อไปทำสีขายต่อให้ลูกค้าอีกทีหนึ่ง

เมื่อด้ามดาบถูกเหลาประกอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว งานขั้นถัดไปคือการตกแต่งด้ามดาบด้านงานถักเส้นหวายพันรอบด้าม และปลอกให้สวยงาม  โดยฝีมือของ ป้าพลอย ศิริ พี่สาวของลุงบุญช่วย ซึ่งบอกว่า งานถักเส้นหวายพันด้ามดาบเป็นงานละเอียดมาก ต้องซื้อหวายเป็นเส้นมาจักเป็นเส้นเล็กๆเหมือนเชือกด้าย แล้วถักเป็นลวดลาย นอกจากนนั้นยังมีงานถักเชือกสายสะพายดาบ ซึ่งยังคงเอกลักษณ์ด้วยเชือกสีแดง มีพู่สวยงาม รายได้จากการทำงานหัตกรรมนี้ถือว่าเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ แถมยังมีเวลาว่างพอไปทำนาข้าวทำสวนผักในครัวเรือนได้แบบสบายๆ

นอกจากดาบ โบราณแล้ว ผลงานที่น่าสนใจและเป็นงานที่หลงเหลือคนทำได้น้อยมากในประเทศไทย หนึ่งในภาคเหนือก็เห็นจะเป็น ลุงแสวง เพียงคนเดียวที่ทำหมวกโบราณ ที่เรียกกันว่า กุบละแอ คือหมวกสานที่คนยุคโบราณใช้เป็นเครื่องสวมศีรษะทรงยอดแหลม โครงสร้างสานด้วยไม้ไผ่และหวาย ในยุคโบราณจะนำไป อาบพื้นผิวให้แข็งแรงกันแดดฝนด้วยการลงรัก ให้ใช้งานคงทน

ลุงแสวงบอกว่า เดิมทีเป็นช่างจักสาน ที่มีทักษะจักสานงานได้ทุกแนว หลายปีก่อนมีคนเอาแบบของกุบละแอ จากวัดไหล่หินหลวงมาให้เป็นแบบสานขึ้นมาใหม่เพื่อนำไปใช้ในการแสดง ลุงจึงสร้างแบบแม่พิมพ์ที่มีขนาดเท่ากับของจริง ขนาด 15 นิ้ว ยอดแหลม ขึ้นมา แล้วดูแบบลายถัก ทดลองนำตอกไม้ไผ่และเส้นหวายจักเป็นเส้นเล็กๆมาสานตามแบบ ก็ได้ชิ้นงานที่น่าพอใจทำขายให้กับผู้สนใจ และกลายเป็นที่ต้องการในตลาดนักสะสม หรือนำไปใช้ในการแสดง ทุกวันนี้ทำเป็นอาชีพหลักไปแล้ว โดยหมวก 1 ใบใช้เวลาทำ2-3 วัน ยอดสั่งผลิตที่รอทำอยู่ยาวไปถึงกลางปี สนนราคาใบละ 600-900 บาท

“งานสานกุบละแอ ไม่ยาก เพียงแค่มีแบบแม่พิมพ์ แล้วก็ถักขึ้นรูปตามแบบ แต่เหตุที่หาคนทำยากเพราะมันเป็นงานละเอียด ต้องใจเย็น ถักขึ้นรูปทีละเส้นใช้สมาธิ ความเพียรและใจรัก ลุงเคยสอนให้ผู้สนใจหลายคน รวมถึงเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ เขาก็บอกว่ายาก ใช้เวลาทำนานเขาไม่ชอบใช้เวลากับอะไรนานๆ เลยไม่มีใครสานต่อจริงจัง”

งานหัตกรรมที่ดูเหมือนจะเป็นงานเฉพาะ ที่มีตลาดเฉพาะเช่นกันนั้น กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จิตวิญญาณของงานอนุรักษ์ของโบราณที่สามารถสร้างรายได้แบบพอเพียงให้กับช่างพื้นบ้านให้อยู่ดีกินดี มีงานทำไปจนแก่เฒ่า

เรื่องราวของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมแห่งศาสตราวุธโบราณกำลังเป็นที่สนใจในวงกว้าง และวงการนักสะสมอาวุธดาบ มีดโบราณก็ยังไม่ร้างรา อาชีพสล่าทำมีดก็ยังพอมีหนทางให้รุ่นลูกหลานเห็นโอกาสสานต่อเป็นงานอดิเรกหรือเป็นอาชีพสร้างรายได้ ให้ลำปางยังคงเป็นแหล่งผลิตศาสตราวุธโบราณสืบไป

                                                                        เรื่อง/ภาพ : ศชากานท์ แก้วแพร่ 

(หนังสือพิมพ์ลลานนาโพสต์ฉบับที่ 1215 วันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์ 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์