วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ตลาดสดต้นยางมิติใหม่ แปรรูปขยะเป็นเงิน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

จากขยะแต่ละวันในตลาดสดต้นยาง ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง มีปริมาณสูงไม่แพ้ตลาดสดทั่วไป เจ้าของตลาดหัวใส ใช้แนวคิดกระบวนการคัดแยกขยะ จัดสรรพวกขยะเปียกจากเศษพืชไปทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำเป็นปุ๋ยธรรมชาติใช้ในแปลงผักปลอดเคมีสร้างรายได้อย่างน่าทึ่ง

เสาร์คำ ฟูใจ ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านใหม่ หมู่ที่ 13 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง ผู้มีอาชีพเป็นเกษตรกรมานาน ต่อมาได้มีโอกาสทำธุรกิจให้เช่าแผงตลาดสด จนกลายเป็นเจ้าของตลาดสด ต้นยางมาจนถึงทุกวันนี้ เล่าว่า พื้นเพเดิมเป็นชาวบ้านตำบลเสด็จ ก่อนหน้านี้เขาทำอาชีพการเกษตร ปลูกสับปะรด และทำไร่ทำสวนมาหลายรูปแบบ ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี ส่งผลให้ต้นทุนค่อนข้างสูง สุดท้ายอาชีพการเกษตรก็ไปไม่รอด จึงหันมาทำอาชีพเสริม โดยหาพื้นที่ให้เช่าแผงเป็นตลาดเล็กๆ ที่ตำบลพิชัย ซึ่งกลายเป็นตลาดสดต้นยางที่ได้รับความนิยมมากในขณะนี้ ควบคู่ไปกับการทำเกษตรในสวนที่บ้านของตนเอง พื้นที่ราว 1.5 ไร่เรื่อยมา

โดยเน้นปลูกพืชผักสวนครัวแบบผสมผสาน ไว้กินในบ้าน ส่วนที่เหลือก็ขายตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หัวใจสำคัญของการทำเกษตรของเขา เป้าหมายแรกคือทำอย่างไรลดการใช้สารเคมี เพื่อไม่ต้องแบกภาระทุนและ มีผักปลอดภัยไร้สารเคมีให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่น เสาร์คำ จึงศึกษาหลักการทำเกษตรธรรมชาติ ที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี

เมื่อพิจารณาถึงแนวทางทำน้ำหมักชีวภาพก็พบว่า ที่ในแต่ละวันตลาดต้นยางมีขยะจำนวนมาก เขาจึงใช้กระบวนการคัดแยกขยะ และก็ได้รับร่วมมือจากร้านค้าขายผักผลไม้ เพื่อแยกเอาเศษพืชผักออกจากขยะทั่วไปก่อนไปทิ้งลงจุดรวมขยะของตลาด ไปเป็นวัตถุดิบส่วนผสมของการทำน้ำหมักชีวภาพ

ซึ่งในระยะแรกเขาก็ได้ทดลองทำน้ำชีวภาพหลายสูตร พัฒนาไปจนได้ส่วนผสมที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง ได้น้ำหมักชีวภาพเป็นปุ๋ยน้ำ และปุ๋ยหมักอินทรีย์อื่นๆ ไปใช้ในแปลงพืชผักได้ผลดี พืชผักที่เขาปลูกในสวน งอกงามเติบโตสมบูรณ์ ขายได้ราคา เพราะเป็นผักปลอดสารเคมี แต่ เสาร์คำ  ก็ยังขายในราคาย่อมเยาให้ชาวบ้านซื้อผักปลอดเคมีได้ในราคาปกติทั่วไป นอกจากนี้ยังมีไม้ผล ที่ปลูกสลับกันสามารถเก็บเกี่ยวหมุนเวียนทำรายได้ตลอดทั้งปี

ทุกวันนี้เขามีรายได้เพิ่มจากการขายผลผลิตเกษตร จากพืชผักไม่กี่ชนิดทุกวันนี้เขาปลูกทั้งผักเชียงดา ชะอม กล้วยน้ำหว้า มะนาว มะพร้าว มะปราง ลำไย เงาะ และทุเรียน โดยพืชหลักที่ได้สร้างรายได้ให้กับครอบครัว คือ กล้วยน้ำหว้า และชะอม ซึ่งรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายกล้วยน้ำหว้า อยู่ที่ประมาณ 700-1,000 บาทต่อเดือน ส่วนชะอมสามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 500-600 บาทต่อวัน และในช่วงหน้าแล้งของทุกปีระหว่างช่วงเดือนมกราคม ถึง เมษายน ราคาผักชะอมยังสามารถพุ่งสูงขึ้นไปได้อีก โดยสามารถที่จะขายผักชะอมได้ถึงประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อวัน

แถมที่ตลาดยังช่วยลดปัญหาขยะล้นในระบบการกำจัดอีกด้วย ทำแยกขยะได้ผลดีต่อการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในตลาด ควบคู่ไปกับการได้วัตถุดิบปุ๋ยอินทรีย์

“วิถีแห่งการจัดการแบบธรรมชาติให้ผลในทางบวกเสมอ” เสาร์คำ บอกด้วยความภาคภูมิใจว่า สิ่งที่เขาได้จากการทำขยะให้กลายเป็นทุนของการเกษตร เป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจ อยากให้คนในชุมชนและคนทั่วไปลองเอาวิธีนี้ไปใช้สำหรับการทำเกษตรลดสารเคมี  เพราะเขายืนยันว่าการเกษตรที่เราใช้สารเคมี ทำเท่าไหร่ก็ต้องแบกต้นทุนเป็นจำนวนมาก ความอยู่รอดหรือผลกำไรก็มีความเสี่ยง แต่เมื่อใช้ ปุ๋ยจากธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนน้อยมาก ปัญหาก็น้อย ผลกำไรดี ปลูกพืชที่คนนิยมกิน เก็บเกี่ยวขายได้ทั้งปี ยิ่งจะทำให้มีรายได้ดี

ส่วนเรื่องขยะ เขามองว่า การจัดการแยกขยะในตลาดเบื้องต้นก่อนจะนำไปสู่กระบวนการทิ้งทำลายตามระบบ เป็นเรื่องที่มีผลโดยรวมต่อสภาพแวดล้อมในตลาด ลดภาระการจัดการขยะของชุมชนด้วยเช่นกัน

แนวทางการนำขยะมาสร้างเป็นเงินของ เสาร์คำ ฟูใจ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ ไปช่วยสร้างอาหารสะอาดปลอดภัยขายให้ลูกค้าตลาดและในชุมชนที่ควรเอาอย่างน่าชื่นชม

เรื่อง - ศชากานท์ แก้วแพร่
ภาพ - ชาญณรงค์ ปันเต สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1234 วันที่ 21 - 27 มิถุนยน 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์