วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ระดมพลทั้งวงการ ตามหาแผงพระไม้

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

“ต้นลำปาง”เซียนพระชื่อดังเผยแผงพระพุทธรูปไม้ โบราณอายุหลายร้อยปีที่ถูกขโมยหายไปจากวัดม่อนคีรีชัย มูลค่าสูงนับแสน ระบุวงการคนเล่นพระทั่วประเทศช่วยสอดส่องติดตาม  และไม่สนับสนุนโบราณวัตถุหรือพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ถูกขโมยเด็ดขาด เชื่อจะตามคืนได้ในเร็ววัน

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 62 ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย มีการประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กชื่อ “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย ลำพูน” ให้ช่วยกันตามหา แผงพระพุทธรูปไม้ ขนาดสูง 122 ซ.ม. กว้าง 17 ซ.ม. และยาว 61 ซ.ม. ที่ถูกโจรกรรมจากวัดม่อนคีรีชัย ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  โดยผู้ขโมย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และผู้จำหน่าย รับซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้สื่อข่าวได้เข้าตรวจสอบ ที่วัดม่อนคีรีชัย หมู่ 1 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง พบพระอธิการยงยุทธ ธมมยุตโต เจ้าอาวาสวัดม่อนคีรีชัย  ได้นำไปยังจุดที่ตั้งของ แผงพระพุทธรูปไม้ โบราณอายุหลายร้อยปี ชนิดไม้และโลหะ ศิลปะล้านนา ที่ได้หายไปจากที่ตั้งเหลือเพียงฐานที่ตั้งแผงพระเท่านั้น โดยในที่เกิดเหตุเป็นศาลาการเปรียญที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน จึงใช้เป็นที่เก็บของ ไม่ค่อยมีใครผ่านเข้าออกเพราะมีกุญแจปิดล็อกไว้ทั้งหมด

พระอธิการยงยุทธ ธมมยุตโต เจ้าอาวาสวัดม่อนคีรีชัย กล่าวว่า ทราบว่าแผงพระหายไปเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากว่าจะต้องนำแผงพระโบราณแผงนี้ไป แสดงโชว์ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปรากฏว่า เมื่อเปิดกุญแจศาลาการเปรียญเพื่อที่จะเอาแผงพระโบราณก็เหลือเพียงฐานเท่านั้น จึงได้รีบแจ้งผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการวัดหมู่บ้านมาตรวจสอบ จากนั้นจึงส่งเรื่องไป พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ลำพูน และแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน 5 ลำปาง ได้เข้ามาตรวจสอบและเก็บพยานหลักบานในที่เกิดเหตุ เพื่อนำไปตรวจสอบหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีให้รวดเร็วที่สุด

ด้านเซียนพระชื่อดังของจังหวัดลำปาง และระดับแถวหน้าในภูมิภาคและระดับประเทศ เปิดเผยว่าแผงพระพุทธรูปไม้ (พิมพ์พระแผง)โบราณอายุ 100 กว่าปีที่ถูกขโมยไปนั้น วงการคนเล่นพระจะไม่สนับสนุนให้สะสมโบราณวัตถุหรือหรือพระเก่าแก่ที่ถูกขโมย  หากพบเห็นก็จะรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัดการทันที  คาดว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้ อาจจะถูกคนที่ไม่ประสีประสาขโมยไปหวังเพียงแค่เงินเล็กน้อยในการขาย  และหลังเป็นข่าวไปแล้วอีกไม่นานน่าจะคืน เพราะบทลงโทษทางกฎหมายค่อนข้างรุนแรง

นายธีรเดช จังตระกูล ประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย สาขาจังหวัดลำปาง หรือที่รู้จักกันในวงการพระเครื่องพระบูชา “ต้นลำปาง” กล่าวถึงกรณีที่มีเหตุคนร้ายเข้าไป โจรกรรมแผงพระพุทธรูปไม้หรือพิมพ์พระแผง โบราณอายุ 100 กว่าปี ของวัดม่อนคีรีชัย ต.พิชัย อ.เมืองลำปางว่า  ก่อนหน้านี้ไม่กี่อาทิตย์ เคยเห็นมีการโพสต์ ขายโบราณวัตถุคล้ายๆแผงพระพุทธรูปไม้หรือพิมพ์พระแผงที่ถูกขโมยไปนี้ แต่ขณะนั้นไม่มีใครสนใจเพราะไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ จนกระทั่งมีข่าวว่าถูกขโมยมาจากวัดม่อนคีรีชัย  โพสต์ดังกล่าวถูกลบไปแล้ว  ซึ่งทางกลุ่ม ก็ได้ค้นหาและติดตามว่ามาจากที่ไหน แต่ก็ยังค้นหายังไม่เจอ  สำหรับในวงการผู้ที่ชื่นชอบสะสมพระเครื่องพระบูชาหรือโบราณวัตถุที่ได้รับครองครองอย่างถูกกฎหมายต่างตื่นตัวช่วยกันหาเบาะแส โบราณวัตถุชิ้นนี้ให้กลับมาคืนสู่วัดโดยเร็วที่สุด  โดยได้ส่งข้อมูลไปทางกลุ่มต่างๆที่รู้จักกัน  ซึ่งคาดว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้คงจะขายยากแล้ว และไม่มีใครกล้ารับซื้อ ส่วนคนที่ขโมยไปก็ไม่มีความรู้เรื่องโบราณวัตถุ และหากเป็นนักสะสมก็จะไม่กล้ารับซื้อแล้วเพราะโบราณวัตถุต่างจะมีการขึ้นทะเบียน มีตัวเลขกำกับ หากมีไว้ในครอบครองจะไม่คุ้ม เพราะเมื่อถูกจับกุมจะถูกดำเนินคดี ข้อหาค่อนข้างหนัก   และเชื่อว่าหลังออกข่าวไปแล้วจะได้คืนมาโดยเร็ว เพราะคนที่ขโมยโบราณวัตถุชิ้นนี้ น่าจะเอามาคืนที่วัดหรืออาจจะทิ้งไว้ที่ไหนสักแห่ง  หากให้ตีเป็นมูลค่าแล้ว ตนคิดว่าน่าจะหลักแสนบาท

นายธีรเดช กล่าวอีกว่า  ฝากเตือนกลุ่มคนที่ชอบขโมยสิ่งของโบราณวัตถุ พระพุทธรูปเก่าแก่ เพื่อที่จะเอาไปขายโดยไม่คิดถึง คุณค่าทางจิตใจ และคุณค่าทางโบราณวัตถุ เพียงแค่เอาเงินเล็กน้อยๆ ให้เลิกพฤติกรรมนี้ เพราะการติดตามจับกุมปัจจุบันนี้จะสามารถติดตามได้เกือบทุกราย เพราะการสื่อสารในสมัยนี้รวดเร็วมาก และโทษขโมยโบราณวัตถุ มีโทษหนักกว่าลักทรัพย์ธรรมดาหลายเท่าตัว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1232 วันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์