วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ไล่ล่านักการเมืองถือหุ้นสื่อ เรื่องไร้สาระของสื่อ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์
วามสับสน วุ่นวาย เรื่องนักการเมืองถือหุ้นสื่อ กลายเป็น “ก้อนกรวดในรองเท้า” ที่อาจส่งผลต่อการเมืองภาพใหญ่ อย่างคาดไม่ถึง เมื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกแขวน พรรคอนาคตใหม่ก็ยื่นรายชื่อ ส.ส.รัฐบาล 41 คนที่ถือหุ้นสื่อให้นายชวน หลีกภัย นายศรีสุวรรณ จรรยายื่นให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐอีก 16 คน

ยังมีกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ 21 วุฒิสมาชิก ถือหุ้นสื่อ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน เป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ได้ และคนที่ร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ จะเข้าใจอย่างถ่องแท้หรือไม่ว่า การห้ามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อ โดยยึดหลักฐานทางทะเบียนนั้น สามารถป้องกันการที่นักการเมือง จะใช้อิทธิพลสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง หรือทำลายฝ่ายตรงข้ามได้จริงหรือไม่

คนที่รู้เท่าทันสื่อ รู้ว่าภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปแล้ว เขาคงเห็นเป็นเรื่องตลก ถ้าคนเขียนกฎหมายเชื่อว่า การห้ามไม่ให้เห็นชื่อนักการเมืองถือหุ้นสื่อ จะเป็นการป้องกันการครอบงำความคิดของผู้คนได้ คนเขียนกฎหมายซึ่งอาจไม่มีความรู้เรื่องสื่อมากพอ อาจเขียนกฎหมายไปตามจินตนาการ จนกระทั่งสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในวันนี้

ถ้าจะมีอิทธิพลในการใช้สื่อไม่จำเป็นต้องมีชื่อ มีหุ้น หรือต้องปรากฏหลักฐานทางทะเบียนชัดเจน ก็มีอิทธิพลได้

ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งได้วินิจฉัยคดีนายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร ว่าขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร ส.ส.เนื่องจากนายภูเบศวร์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส มีวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิว่า ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ ในขณะสมัครรับเลือกตั้ง

หรือไม่ว่า จะเป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างการวินิจฉัยคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อีกทั้ง ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด กรณีถือหุ้นสื่อ ทั้งที่เคยดำเนินการจริงและเลิกไปเช่นกรณีนายธนาธร และเพียงปรากฏในหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งเป็นแบบจดทะเบียนสำเร็จรูป
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ หากตีความตามตัวอักษรก็คงเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน แต่หากศาลพิเคราะห์จากเจตนารมณ์ของกฎหมาย ประกอบกับสภาพความเป็นจริง ทั้งกรณีเคยประกอบกิจการสื่อ หรือเพียงปรากฏในหนังสือบริคณห์สนธิ ไม่ได้ส่งผลกระทบหรือจะเป็นเหตุป้องกันไม่ให้นักการเมืองใช้สื่อเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตัวเลย

ตรงกันข้าม ไม่ได้ถือหุ้นสื่อ ไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนที่เชื่อมโยงแม้เพียงนิดเดียว แต่มีอิทธิพลล้นฟ้า ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งป้อมโจมตีฝ่ายตรงข้าม เป็นสื่อที่ผู้คนมองเห็นความไม่เที่ยงธรรมอย่างชัดเจน ใช้อคติส่วนตัวบนพื้นที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง แต่ไม่มีใครทำอะไรได้

รู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า เมียเจ้าขององค์กรสื่อ ที่เคยเป็นนายใหญ่ขององค์กรสื่อแห่งนั้น เป็น ส.ส.รัฐบาล ใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ตรงตามเจตนารมณ์ที่คนร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญหวาดกลัว แต่กลไกรัฐเข้าไม่ถึง ศาลใช้ข้อกฎหมายวินิจฉัยไม่ได้

สื่อมีหน้าที่สะท้อนสังคม เป็นหมาเฝ้าบ้าน มีเป้าหมายในการเสนอข้อมูล ข่าวสาร เพื่อประโยชน์สาธารณะ สื่อไม่มีหน้าที่เป็นเครื่องมือของนักการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายใด ในการโจมตีหรือทำลายความเชื่อถือของคู่ขัดแย้งทางการเมือง ในขณะเดียวกันสื่อก็ควรทำหน้าที่ให้ความรู้ ให้ความจริงกับสังคม

เราปล่อยให้ปัญหานักการเมืองถือหุ้นสื่อ ไหลไปเป็นขยะข่าว โดยไม่เคยให้ความรู้กับผู้คนเลยว่า ข้อห้ามนี้มีไว้เพื่อสิ่งใด และมันได้ทำหน้าที่เหมือนที่คนเขียนรัฐธรรมนูญคิดไว้หรือไม่

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1235 วันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์