วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นายอำเภอแม่ทะ ถกปัญหา กฟผ. ขาดงบช่วยชาวบ้านขอร่วม กก.กองทุน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

นายอำเภอแม่ทะเรียกประชุม หาข้อสรุปหลัง ส.อบจ.แม่ทะ และกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้านยื่นหนังสือร้อง กฟผ.ไม่เหลียวแล ขาดงบประมาณช่วยเหลือชาวบ้าน ขณะที่ สจ.บุญเลิศลั่น แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ปัดคุยเรื่องเยียวยาชาวบ้าน เตรียมยื่นหนังสือขอส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการกองทุนฯ

นายบุญเลิศ แสนเทพ ส.อบจ.ลำปาง อ.แม่ทะ พร้อมด้วยนายควง ทากอง กำนันตำบลดอนไฟ  นายมงคล เสนาธรรม กำนันตำบลวังเงิน  นายเจนศักดิ์ เยี่ยมวัฒนาพร กำนันตำบลหัวเสือ และนายณรงค์ วงค์กันทะ กำนันตำบลนาครัว ได้ร่วมกันเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง  รวมทั้งยื่นต่อนายอำเภอแม่ทะ  เรื่องความเดือดร้อนผลกระทบของชาวบ้าน 8 ตำบล อ.แม่ทะ จ.ลำปาง  ที่มีความเสี่ยงต่อการใช้น้ำที่มีสารปนเปื้อนการปล่อยน้ำจากกระบวนการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะสู่ลำน้ำแม่จาง แต่กลับไม่ได้รับการดูแล เยียวยาเท่าที่ควร  รวมถึงลำน้ำแม่จางที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตคนแม่ทะ กลับแห้งเหือด เน่าเสีย มีวัชพืช  ขณะที่พื้นที่ของ ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้ามากกว่าพื้นที่ของ อ.แม่เมาะบางพื้นที่ด้วยซ้ำ แต่กลับได้รับการดูแล แก้ไข ทั้งในด้านงบประมาณและวิธีการต่างๆ  

ความคืบหน้าเรื่องนี้  เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน  62   นางสุรีย์ มาปลูก นายอำเภอแม่ทะ  นางศุกลรัตน์ จันทร์มณี ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ อำเภอแม่ทะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (โรงไฟฟ้าแม่เมาะ) โครงการชลประทานลำปาง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ชุด ชป.มวลชล มทบ.32 ชุด ชป. มวลชน อำเภอแม่ทะ  ได้ร่วมกันประชุมหาทางออกกับ ผู้ร้องเรียน ซึ่งนำโดย นายบุญเลิศ แสนเทพ ส.อบจ.อำเภอแม่ทะ   พร้อมด้วยนายควง ทากอง กำนันตำบลดอนไฟ  นายมงคล เสนาธรรม กำนันตำบลวังเงิน  นายเจนศักดิ์ เยี่ยมวัฒนาพร กำนันตำบลหัวเสือ และนายณรงค์ วงค์กันทะ กำนันตำบลนาครัว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลแม่ทะ และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 12 ตำบลนาครัว

ถึงกรณีปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านพื้นที่ อ.แม่ทะ  จากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแม่จาง เพื่อนำน้ำมาใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบในช่วงฤดูฝนมีน้ำหลากจากเขื่อนไหลเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน และในช่วงฤดูแล้ง โรงไฟฟ้ามีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำให้เกิดน้ำแห้งแล้ง ชาวบ้านไม่มีน้ำใช้ในการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งการปล่อยน้ำจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าลงสู่แม่น้ำจาง อาจทำให้มีความเสี่ยง มีสารปนเปื้อนในการนำน้ำมาอุปโภคและบริโภค

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า มอบหมายให้ทาง กฟผ. ดำเนินการจัดทำแผนโครงการบริหารจัดการน้ำในการปล่อยให้ประชาชนใช้ และดำเนินการจัดทำแผนเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันในการกำจัดวัชพืช ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ผู้นำชุมชนของแต่ละหมู่บ้านในเขตอำเภอแม่ทะ รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาลำน้ำจาง ในรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า ให้ครอบคลุมถึงเขตอำเภอแม่ทะ ทั้งนี้ การขุดลอกคลองทางกรมเจ้าท่ามีแผนโครงการในการดำเนินการซึ่งให้ทางกรมเจ้าท่าดำเนินการแล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถให้ทางผู้นำชุมชนเสนอแผนส่งเข้าท้องถิ่นเพื่อดำเนินการยื่นต่อ กฟผ. ในการของบประมาณสนับสนุนการแก้ไขปัญหาลำน้ำจางในอนาคต  ส่วนประเด็นการเสนอขอให้มีตัวแทนของ อ.แม่ทะเป็น ครฟท. และการขอขยายเขตพื้นที่ในการดูแลของ กฟผ.ให้ครอบคลุมพื้นที่ อ.แม่ทะ ให้ทำข้อเสนอแนะเป็นหนังสือและให้มีผู้นำเสนอ ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นในการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนฯ ในวันที่ 13 ก.ค.62

นายบุญเลิศ แสนเทพ ส.อบจ.ลำปาง อ.แม่ทะ กล่าวว่า  จากการพูดคุยในที่ประชุมได้พูดถึงเรื่องปัญหาลำน้ำจางเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน แต่ก็ยังไม่ได้พูดคุยกันตรงประเด็นในเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ทาง กฟผ.จึงไม่ได้ตอบอะไรมากนัก จึงสรุปกันได้ว่า จะมีการทำหนังสือร้องเรียนยื่นเข้าไปอีกครั้งในวันที่ 13 กรกฎาคม 62   ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 8-9 นี้ เพื่อผลักดันขอให้มีคณะกรรมการจากอำเภอแม่ทะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจำนวน 2 คน  เพราะที่ผ่านมาจะมีแต่คนจากอำเภอแม่เมาะเป็นคณะกรรมการ ทั้งที่ราษฎรอำเภอแม่ทะก็ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  รัศมีระยะห่างจากโรงไฟฟ้าก็ใกล้กว่าพื้นที่อำเภอแม่เมาะบางตำบล  ซึ่งเป้าหมายของกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านก็คือต้องการให้ กฟผ.เข้ามาดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตของชาวบ้านเป็นหลัก  โดยมีงบประมาณเข้ามาอุดหนุนในด้านการส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำแม่จาง เป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงถึง 121.1049 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในทุกๆปี กฟผ.แม่เมาะ จะปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่จางปีละกว่า 35 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้าสู่ลำน้ำจางผ่านชุมชน 7 ชุมชนในอ.แม่เมาะ สิ้นสุดปลายทาง อ.เกาะคา ระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร โดยตลอดลำน้ำชุมชนจะมีฝายคอยกักเก็บน้ำไว้ใช้ถึง 17 ฝาย และสามารถสูบน้ำไปใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี และเพื่อความมั่นใจในคุณภาพน้ำและการใช้น้ำของชุมชน ทุกๆ 6 เดือนจะมีเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบคุณภาพน้ำจากฝายต่างๆของลำน้ำจางจำนวน 4 จุด ได้แก่ ฝายสบเมาะ ฝายหัวเสือ ฝายน้ำโท้ง และฝายวังพร้าว โดยจะรายงานข้อมูลผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ http://www.pcd.go.th/index.cfm ตลอด 24 ชั่วโมง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1235 วันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์