วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ไม่ใช่โรคร้าย ตื่น 'เนื้อเน่า' ย้ำตายแค่ 10% สสจ.เตือนพบ 122 ราย

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ลำปางพบผู้ป่วยเนื้อเน่าอาการลุกลามเข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลลำปาง อาการปลอดภัยดี นายแพทย์สาธารณสุขเตือนอย่าตื่น โรคนี้โอกาสเสียชีวิตเพียง 10 เปอร์เซ็นต์  ขณะที่นายแพทย์เชี่ยวชาญเผย ปี 62 พบป่วยลักษณะเดียวกัน 122 ราย แต่ไม่รุนแรง ซึ่งเกิดได้กับทุกคน ควรรักษาความสะอาด

นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง  เปิดเผยว่า  จากประวัติของผู้ป่วยรายนี้ ได้ไปตักกองขี้วัว และเกิดอาการผื่นผิวหนังคัน และมีตุ่มน้ำพอง คนไข้ได้นำเข็มไปเจาะออกเอง จึงเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ซึ่งแบคทีเรียจะมีอยู่หลายชนิด ถ้าเป็นชนิดที่ต้องการออกซิเจนในการเติบโตจะกินเนื้อเยื่อชั้นผิวด้านบน  ผู้ป่วยรายนี้ได้รับเชื้อโรคที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการดำรงชีวิต มีความรุนแรงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์  เชื้อโรคจึงได้ทะลุเนื้อเยื่อเข้าไปทางผิวหนัง ลึกเข้าไปในชั้นของกล้ามเนื้อ

การรักษา คนไข้แต่ละคนการรับเชื้อโรคกับภูมิต้านทานของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เมื่อไปโรงพยาบาลก็ให้ยาฆ่าเชื้อและยาปฏิชีวนะ แต่เชื้อรุนแรงครอบคลุมไม่ถึง จึงทำให้เชื้อโรคลงไปกินเนื้อเยื่อชั้นล่าง เกิดภาวการณ์อักเสบในชั้นกล้ามเนื้อ จึงต้องส่งมาโรงพยาบาลใหญ่เพื่อทำการผ่าตัดระบายเชื้อออก ล่าสุดอาการปลอดภัยแล้ว  ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่จะมีบาดแผลรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ที่ดูไม่สวยงาม  ส่วนโอกาสการเสียชีวิตจากโรคนี้ มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในกรณีที่มารักษาไม่ทัน   ที่ลำปางมีเจอผู้ป่วยแบบประปราย ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ทางสุขภาพของเรา

เชื้อโรคนี้มีหลายตัว เป็นไปได้ว่าเชื้อโรคกลุ่มนี้มักเจอตามพื้นดินและพื้นที่สกปรก  อาชีพเกษตรกรถ้าจะเข้าไร่นา ขอให้สวมรองเท้า หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ภูมิต้านทานไม่ดี ก็ไม่ควรเสี่ยง โรคนี้เกิดได้กับทุกคน เพียงแต่ส่วนใหญ่ประเทศไทยประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เวลาลงไร่นาไม่ชอบสวมรองเท้ายาง เวลาเป็นบาดแผลต้องรักษาให้ถูกต้อง และมาพบแพทย์

ด้านนายแพทย์วรินทร์เทพ เชื้อสำราญ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยติดเชื้อลักษณะชั้นเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อปีละประมาณ 100 คน อาการหนักบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณีไป จากรายงานของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดลำปาง ปี 2562 เจอผู้ป่วย 122 ราย  แต่ไม่ใช่ผู้ที่มีอาการรุนแรงทั้งหมด สำหรับผู้ป่วยรายนี้เป็นการติดเชื้อที่มีการลุกลามค่อนข้างมาก แต่ก็ได้รีบการรักษาและอาการปลอดภัยดีแล้ว   ส่วนการที่ทำให้แผลลุกลามหนักมีหลายปัจจัย เช่น การทำความสะอาดแผลที่ไม่ถูกวิธี  เมื่อมีความผิดปกติแล้วไม่มาพบแพทย์ หรือผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เป็นต้น 

ฝากเตือนกรณีที่เป็นแผลไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ควรมีการทำแผลทำความสะอาดอย่างถูกวิธี หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลให้วินิจฉัยว่าแผลมีการลุกลามถึงขั้นไหน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเบาหวาน ภูมิต้านทานจะทำงานไม่ดี มีอาการชาตามมือตามเท้า บางทีเมื่อเกิดแผลจะไม่รู้ตัว  นายแพทย์วรินทร์เทพ กล่าว

สำหรับ  Necrotizing Fasciitis คือ โรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า เป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนที่อาจส่งผลให้ผิวหนังและกล้ามเนื้อถูกทำลายได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนบริเวณผิวหนัง ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง รู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผลซึ่งจะรู้สึกปวดมากขึ้น โดยการติดเชื้ออาจลุกลามไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ หรือท้องเสีย เป็นต้น แม้โรคนี้จะพบได้น้อย แต่อาจทำให้ป่วยรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า ระยะแรกหลังการติดเชื้อภายใน 1 วัน ผู้ป่วย Necrotizing Fasciitis อาจมีอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง  คือ ผิวหนังบริเวณรอบๆ บาดแผลร้อนหรือมีสีแดง

รู้สึกปวดบาดแผลมากผิดปกติ บริเวณที่เกิดการติดเชื้อเกิดการเปลี่ยนสี หรือมีของเหลวซึมออกมา

มีตุ่มแดงเล็กๆ ถุงน้ำ จุดดำ หรือความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นบนผิวหนังร่วมกับเกิดความเจ็บปวดบริเวณดังกล่าว ซึ่งอาการบนผิวหนังมักกระจายออกไปและทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากแบบไม่สัมพันธ์กับแผล

ตึงบริเวณกล้ามเนื้อ  มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เป็นต้น มีภาวะขาดน้ำ โดยมีอาการ เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย เป็นต้น

หลังจากนั้น เมื่อติดเชื้อไปแล้ว 3-4 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น บริเวณที่เกิดการติดเชื้ออาจมีอาการบวม มีผื่นสีม่วงขึ้น หรือมีตุ่มน้ำสีเข้มที่ส่งกลิ่นเหม็น ผิวหนังอาจเกิดการเปลี่ยนสี และเนื้อเยื่อที่ตายแล้วอาจหลุดลอกออก เป็นต้น และเมื่อการติดเชื้อเข้าสู่วันที่ 4-5 ผู้ป่วยอาจมีภาวะวิกฤติ ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำ ช็อก หรือหมดสติได้

สาเหตุของโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า Necrotizing Fasciitis เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตค็อคคัส กลุ่มเอ (Group A Streptococcus) คลอสตริเดียม (Clostridium) เคล็บเซลลา (Klebsiella) สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) อีโคไล (E. Coli) และแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas Hydrophila) เป็นต้น ซึ่งเชื้ออาจปล่อยสารพิษทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังและกล้ามเนื้อจนส่งผลให้เนื้อเยื่อตายได้ โดยเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนังหรือกระแสเลือดผ่านทางแผลถูกบาด แผลถลอก รอยข่วน แมลงกัดต่อย การใช้เข็มฉีดยา หรือแผลผ่าตัด

โดยผู้ที่เสี่ยงต่อโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์หรือฉีดสารเสพติด ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยโรคผิวหนัง

ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยเบาหวานหรือมะเร็ง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1240 วันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์