วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สายไฟลงดิน มองกลับมุม อานิสงส์ได้ที่คนสองข้างทาง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ครงการสายไฟลงดิน ระยะที่ 1 แนวเส้นถนนบุญวาทย์ มีบทเรียนมากมาย ที่ชาวบ้านสองข้างทางได้รับความเดือดร้อน ระหว่างก่อสร้าง ทั้งฝุ่น ละออง ความไม่สะดวกในการเดินทาง การค้าการขายสะดุด เพราะคนไม่อยากผ่านไปในถนนที่ชุลมุน วุ่นวาย แต่เมื่อโครงการเสร็จสิ้น ถนนเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีสายไฟ สายโทรคมนาคมให้เกะกะ ยุ่งเหยิง ขัดหู ขัดตา ใครได้ประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

คนที่ลงทุน คือใคร หนึ่งคือ เทศบาลนครลำปาง อีกหนึ่งคือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน สภาเทศบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 53 ล้านบาท ตามโครงการสายไฟลงดินระยะที่ 2 ในขณะที่ กฟภ.ก็จะมีการจัดสรรงบประมาณในการนำสายเคเบิลลงใต้ดิน ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณที่ใช้ทั่วประเทศไว้ 5 พันล้านบาท คาดว่าจะจัดสรรสมทบอีกราว 100 ล้านบาท โดยประมาณการในการนำสายไฟลงดินนับร้อยล้าน

แม้จะมีข่าวว่า งบประมาณจำนวน 53 ล้านบาท จะมีสมาชิกสภาเทศบาล ขอแปรญัตติตัดงบในโครงการสายไฟลงดิน เหลือเพียง 0 บาท คือเท่ากับไม่ให้ทำโครงการในระยะที 2 นี้เลย แต่ก็คงเป็นไปได้ยากในทางปฎิบัติ เพราะอย่างน้อยโครงการนี้ก็น่าจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเมือง มากกว่าเมืองที่เต็มไปด้วยสายไฟรกรุงรัง

การนำสายทุกสาย ลงดิน ต้องเพิ่มเงินลงทุนอีกราว 10 เท่า เพื่อสร้างระบบ city beutification ที่ทำให้บ้านเมืองสวยขึ้น ทำให้สองข้างทางดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ภูมิทัศน์ตลอดแนวถนนสายพหลโยธิน ตั้งแต่สี่แยกไฟแดงดอนปาน ไปจนถึงค่ายสุรศักดิ์มนตรีทั้งสาย ความยาวประมาณ 4.5 กิโลเมตร งดงามขึ้น

อาจจะมีผลกระทบบ้าง ก็เพียงป้ายกองโจรทั้งหลาย

คนสองข้างทางแนวเส้นถนนพหลโยธิน อาจได้รับความเดือดร้อน ไม่แตกต่างกันมากนักกับคนสองฝั่งถนนบุญวาทย์ เพราะเมื่อมีการขุด ย่อมมีฝุ่น มีเสียง มีความไม่สะดวกในการเดินทาง ภาวะการค้าการขาย การติดต่อธุรกิจอาจไม่ราบรื่น

แต่เมื่อเสร็จแล้ว มูลค่าของทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ราคาที่ดินสูงขึ้น ไม่แน่ใจว่า เมื่อนำสายไฟลงดินแล้ว สำหรับ กฟภ.ค่าส่งไฟจะเพิ่มขึ้นตามการลงทุนหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านในตรอก ซอกซอย ที่ไม่มีนโยบายไฟฟ้าลงดิน จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้หรือไม่

ภาพของสายไฟฟ้าลงดิน อาจเป็นภาพเดียวกับเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คือเมื่อแนวรถไฟฟ้าผ่านไป มูลค่าที่ดินจะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือเจ้าของที่ดินเดิม และเจ้าของที่ดินใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าจากการสร้างอาคารสูง เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า

รัฐจ่าย แต่ประชาชนได้ประโยชน์ อาจไม่มีใครย้อนกลับไปดูว่า หลังจากปรับภูมิทัศน์เอาสายไฟลงดินที่ถนนบุญวาทย์แล้ว กับความเดือดร้อนที่ผ่านมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง วันนี้สภาพถนนที่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระยะยาวหรือไม่ อย่างไร

คนเดือดร้อนจากการพัฒนา ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน สร้างถนน สร้างรถไฟฟ้า ปรับปรุงถนน เอาสายไฟฟ้าลงดินมีแน่นอน และก็เป็นเรื่องปกติของทุกที่ที่มีการก่อสร้าง แต่สำหรับถนนที่ไม่มีเสาไฟฟ้าเกะกะ รบกวนสายตา เมื่อสร้างเสร็จ ชาวบ้านในแนวถนนนั้นเองก็ได้ประโยชน์

มองต่างมุมแล้ว อาจไม่เห็นภาพบางภาพที่เรานึกไม่ถึงมาก่อน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1243 วันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์