วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เกษตรฯราชภัฎการันตีผักปลอดภัย ตีตรา ‘Safe for sure’

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

กระแสผักอินทรีย์ ผักปลอดภัย มาแรงแซงทุกโค้งสำหรับผู้บริโภคไม่ว่าจะสายสุขภาพ หรือสายบริโภคทั่วไป เพราะเทรนด์การรักสุขภาพ ทำให้ทุกเพศทุกวัย หันมาดูแลสุขภาพ ทั้งการออกกำลังกายกันมากขึ้น รวมถึงใส่ใจอาหารการกิน

การรับรองมาตรฐาน คุณภาพผลิตภัณฑ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ผศ.ดร.นันทินา ดำรงวัฒนกุล คณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง จึงได้เริ่มโครงการ Safe for sure ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางเพื่อประเมินความปลอดภัยของสารเคมีตกค้างในผัก รวมถึงตรวจวัดสารปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์ไข่และเนื้อสัตว์อีกด้วย ในเฟสแรกของโครงการมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยได้มีอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจประเมิน และสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง กลุ่มเกษตรกรผ่านการตรวจประเมินก็จะได้รับตราสัญลักษณ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจได้ยิ่งขึ้น

 
  • กลุ่มเกษตรอินทรีย์ริมวัง อ.วังเหนือ

 ก่อตัวขึ้นจากการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9  ด้วยการปลูกพืชผสมผสาน และการงดใช้สารเคมีทุกชนิด เป็นการรวบรวมสมาชิกที่มีแนวคิดเดียวกันมาร่วมกันผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด และยังมีการจัดสรรปันส่วนรายได้จากการทำการตลาดที่ชัดเจนให้ผลประโยชน์กับสมาชิกอีกด้วย

 ณัฐวุฒิ แก้วอ่อน ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ริมวัง  กล่าวว่า เริ่มจากที่ตนทำสวนริมวังก่อน มีแนวคิดจะใช้ชีวิตตามรอยในหลวง ร.9 โดยการปลูกพืชผสมผสาน ประกอบกับเห็นวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านในพื้นที่คือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่วนพืชผักจะซื้อกินกันเป็นส่วนใหญ่ ได้เล็งเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สามารถทำการเกษตรได้ แต่ทำไมชาวบ้านยังซื้อผักบริโภคกันอยู่  เลยคิดหาแนวทางปรับเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรให้หันมาปลูกผักกินเอง  เลยทำสวนริมวังขึ้นมาเป็นต้นแบบ โดยการปลูกผักกินเอง ส่วนที่เหลือก็นำไปขาย  ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการสร้างธรรมชาติที่ดี ลดการใช้สารเคมีที่ต้นน้ำ เพื่อรักษาประโยชน์ของคนปลายน้ำ

 หลังจากทำเกษตรได้ประมาณ 6 ปี ก็มีน้องๆผู้ที่สนใจเข้ามาขอให้ตั้งกลุ่มเกษตรขึ้น เพื่อต้องการที่จะเข้ามาใช้ชีวิตในพื้นที่โดยการทำการเกษตร  กฎเกณฑ์ของกลุ่มต้องมีความสมัครใจและเรียนรู้สม่ำเสมอ  ไม่มีเป้าหมายการของบสนับสนุนมาทำเล่น แต่หากของบสนับสนุนเข้ามาต้องทำอย่างจริงจังและชัดเจนเห็นผล  โดยตั้งกลุ่มมาได้ 2 ปีเศษ  มีสมาชิก 17 คน  ซึ่งได้ผ่านการตรวจรับรองแปลงแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System : PGS) แล้ว และกำลังเริ่มรับสมัครสมาชิกเพิ่มเพื่อดำเนินการเป็นเกษตรแปลงใหญ่ โดยจะมีสมาชิกประมาณ 30 คน

 
  • ฟาร์มไส้เดือนบ้านครูไต่

อำไพ พิกุลหอม หรือครูไต่  ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารี ที่สนใจการเกษตร โดยเริ่มต้นจากความชื่นชอบในการปลูกต้นไม้ และได้ศึกษาเรียนรู้การทำปุ๋ยมาเรื่อยๆ  จากคนที่ไม่รู้เรื่องการใช้ปุ๋ยมาก่อน  กลับทำให้ประสบความสำเร็จได้ โดยการเปิดฟาร์มไส้เดือน ผลิตน้ำฉี่ไส้เดือนเป็นของตัวเอง  และมีรางวัลนวัตกรรมสร้างสรรค์ จากกระทรวงวิทยาศาสตร์การันตี

 ครูไต่ เล่าให้ฟังว่า เป็นคนชอบต้นไม้และรักการปลูกต้นไม้ แต่ไม่เคยมีองค์ความรู้ทางการเกษตร ไม่รู้เรื่องการใช้ปุ๋ยมาก่อนเลย  จึงไปซื้อปุ๋ยที่ตลาดต้นไม้หน้าห้างบิ๊กซีลำปาง  และได้ไปเจอเพื่อนสมัยเรียนมัธยมได้แนะนำฉี่ไส้เดือนจากไส้เดือนพันธุ์ขี้ตาแร่ ที่ผลิตโดย ม.แม่โจ้ มาใช้ฉีดต้นโมกบริเวณรอบบ้าน  พอฉีดไปแล้วดอกได้ออกจำนวนมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่หันมาศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสารจากไส้เดือน  ศึกษาพันธุ์ไส้เดือนและวิธีการเลี้ยง ใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงตัดสินใจไปซื้อไส้เดือนจาก ม.แม่โจ้ มาเลี้ยง แต่พอผ่านไปได้ 6 เดือนปรากฏว่าไส้เดือนตายหมด พอดี ม.แม่โจ้ ได้เปิดการอบรมการเลี้ยงไส้เดือน จึงเข้าร่วมอบรม และซื้อไส้เดือนมาเลี้ยงใหม่ ตั้งแต่ปี 53 จนถึงปัจจุบัน กระทั่งสามารถผลิตน้ำฉี่ไส้เดือนออกมาได้ กว่าจะได้น้ำที่เข้มข้นต้องใช้เวลา 3 ปีขึ้นไป ซึ่งฉี่ไส้เดือนจะมีคุณสมบัติจะมีธาตุอาหารครบ มีเอ็นไซม์ไคติเนสไปสลายไขมันรอบตัวแมลง ทำให้แมลงตาย ขับไล่แมลงได้ทุกชนิดไร้ปัญหาเรื่องแมลงและหนอนกัดกินต้นไม้  
 
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของครูไต่ ได้รับการพัฒนาต่อยอดและไปออกพื้นที่ในหลายจังหวัด เช่น อ.พบพระ จ.ตาก  อ.เชียงของ จ.เชียงราย  อ.ปง จ.พะเยา   ได้รับผลตอบรับได้ชัดจากเกษตรกรผู้ปลูก เช่น ยาสูบ ไม่มีแมลง และกลิ่นใบยาหอม  และพริกขี้หนู อ.แม่สอด โตเร็ว ครูไต่ กล่าวทิ้งท้ายว่า รู้สึกภูมิใจมากที่อย่างน้อยก็ช่วยเกษตรกรได้ส่วนหนึ่งทำให้มีต้นทุนทางผลผลิตลดลง ได้ผลผลิตมากขึ้น และที่สำคัญคือความปลอดภัย

 
ทั้ง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ริมวัง อ.วังเหนือ และฟาร์มไส้เดือนครูไต่ อ.เมือง ได้เข้าร่วมโครงการ Safe for sure ในเฟสแรก ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นโครงการที่ดี ทำให้เกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูลและมีหน่วยงานในจังหวัดที่ให้ความรู้และมีมาตรฐานในการตีตราการันตีคุณภาพผักได้โดยไม่ต้องรอหน่วยงานจากส่วนกลาง ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและเกษตรกรผู้ผลิตเองก็จะได้รักษามาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพ




(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1243 วันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์