วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2562

ตาศรียายก๋งพลิกผืนนา สร้างสวนผสมวิถีพอเพียง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ระยะทางจากซ้ายมือถนนเส้นเชื่อมต่อไป อำเภอแม่ทะลำปางจากแยกบ้านฟ่อน ไปห้วยหลอ เลี้ยวซ้ายไปทางเดียวกับลำปางวัลเลย์ ผ่านถนนดินลูกรังเล็กๆ เลาะคันเหมืองไป ประมาณ 2-3 กิโลเมตร ตามคำบอกเล่าของ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ทรงพล สวาสดิ์ธรรม ที่บอกว่า แถวนั้นมีสวนพอเพียงของสองตายายที่น่ามหัศจรรย์ที่ต้องตามไปดู

มิรอช้าที่ลานนาบิววีคจะตามไปเยี่ยมชม ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ทำไมมันดูเยอะมากความรู้สึกแรกที่ไปถึง 'สวนตาศรียายก๋ง' (ป้ายหน้าบ้านเขียนไว้อย่างนั้น) มีบ้านสำหรับพักอาศัยหลังไม่ใหญ่มาก สองตายาย รอต้อนรับพาเดินเข้าไปในสวน สิ่งแรกที่เห็นตั้งแต่ประตูทางเข้า คือ ถุงเพาะชำไม้ใบและไม้ประดับ เรียงรายภายในสวน ต้องตื่นเต้นกับสระบัวหลวงหลายไร่ รอบสระและริมทางเดินเต็มไปด้วยกอใบเตยหอม และไม้ดอก ไม้ประดับปลูกแซมปะปนกันไป มีศาลานั่งเล่นในสระบัวทุกบ่อ และที่สำคัญ สระบัวนั้นเต็มไปด้วยปลานิลที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ เดินลึกเข้าไปกว่านั้นมีป่าสักให้ความรู้สึกของการไปเยือนป่าที่ชุ่มเย็นที่ถูกแวดล้อมด้วยนาข้าวสุดลูกหูลูกตา

คุณตาศรี บุญศรี ฟูสกุล วัย 75 ปี บอกเล่าว่า เดิมทีเมื่อสมัยยังเป็นหนุ่มตาศรีมีอาชีพทำนาข้าวเหนียวสืบทอดจากพ่อแม่ สมัยนั้นพ่อแม่ยกที่ดินให้เพียง 3 ไร่ เมื่อทำนาขายข้าวได้ ก็เก็บเงินซื้อที่ดินข้างเคียงขยายเป็นนาแปลงใหญ่ขึ้น กระทั่งมาพบรักกับสาวที่มารับจ้างเกี่ยวข้าว ซึ่งนั่นยายก๋งในปัจจุบัน การสร้างครอบครัวถึงเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกของชีวิตที่ลดการทำงานหนักจากการทำนา แบ่งพื้นที่ปลูกพืชผักหมุนเวียน ทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง ผักสวนครัวเรื่อยมา

กระทั่งปี 2539 สองตายายได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการหลวงห้วยฮ่องไคร้ จึงได้แบบอย่างของการทำเกษตรผสมผสาน นำกลับมาพัฒนาที่นาของตัวเองให้เป็นแปลงเกษตรผสมผสานแบบค่อยเป็นค่อยไป

ลุงเริ่มเปลี่ยนจากการทำนาข้าว บางส่วน มาปลูกกล้วย มะพร้าว และพื้นที่เนินก็ปลูกต้นสักไว้เป็นสวนป่าให้ร่มเงา จุดสำคัญของการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ที่มีอยู่ 10 ไร่ ให้เป็นสวนผสมที่มีลักษณะเฉพาะคือ ที่ดินบริเวณนี้ มีตาน้ำคือน้ำผุดจากใต้ดินขึ้นมาหลายจุด อาจเป็นเพราะเราปลูกต้นไม้ใหญ่เอาไว้เยอะ เลยทำให้ดินอุ้มน้ำไว้มาก บวกกับน้ำลำเหมืองสาธารณะไหลผ่านตลอดปี เราจึงทดลองขุดแปลงนาที่มีน้ำขังมากๆให้เป็นนาบัวเอาไว้ตัดขายดอก ปรากฏว่าบัวแพร่ขยายกอเร็ว เจริญเติบโตดีมาก เลยขยายพื้นที่นาบัว หลายไร่ และปลูกใบเตยซึ่งเป็นพืชชอบน้ำรอบสระบัว เอาไว้ตัดใบขาย นอกนั้นก็เป็นกล้วย มะพร้าว ดอกดาหรา เบิร์ดออฟพาราไดซ์ และไม้ประดับรอบสระเก็บขายตลอดปี เราเหนือยมีรายได้มากกว่าการทำนา จนเลิกทำนาหันมาทำสวนผสมเต็มพื้นที่

ตาศรี บอกอีกว่า นอกจากพื้นที่นาบัวแล้วพื้นที่โซนสวนป่า มีต้นสัก มะขามและไม้ผลยืนต้นปะปนกันไป แซมด้วยต้นกาแฟที่นำต้นพันธุ์มาจากบ้านแม่แจ๋ม อ.เมืองปาน พื้นที่บางส่วนที่แสงส่องถึงก็ปลูก ข้าวโพด ปะปนกับพืชผักสวนครัว พริก มะเขือ ผักพื้นบ้าน ผักกาดน้อยหรือผักกาดต้นอ่อนที่นิยมทำอาหารพื้นเมืองโดยปลูกอย่างละแปลงสองแปลง หมุนเวียนไปตามฤดูกาล ซึ่งการเพาะปลูกนั้นจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีใดๆ แต่อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ ตามธรรมชาติ

คุณยายก๋ง สายทอง ฟูสกุล วัย 70 ปี บอกเล่าด้วยรอยยิ้มที่บ่งบอกถึงความสุขในปั้นปลายชีวิตว่า หลังจากเลิกทำนาหันมาทำเกษตรผสมผสาน นับเป็นบุญแก่ชีวิตที่ได้รับแนวคิดเกษตรพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ทำกินแบบเรียบง่าย พอกินพอใช้ เหลือก็นำไปขาย สร้างรายได้แบบยั่งยืน

สวนของเรา สามารถเก็บเกี่ยวพืชผล และกิ่งใบไม้ดอกไม้ประดับขายหมุนเวียนได้ตลอดปี สามารถเลี้ยงลูกสองคนสบายๆ ทุกวันนี้ใช้ชีวิตบั้นปลายแบบมีรายได้ มีความสุข สุขภาพดี ทุกวันจะตัดดอกไม้ และใบไม้ประดับ ทำเป็นมัดสำหรับชุดดอกไม้ไหว้พระ ไปขายที่ตลาดเก๊าจาวในตัวเมือง บางวันก็ขายที่ตลาดบ้านฟ่อนใกล้บ้าน นอกเหนือจากขายปลีกในตลาดก็มีลูกค้าขาประจำที่มาสั่งซื้อไม้ดอกไม้ใบ และใบเตย และต้นเพาะชำต่างๆ เป็นรายได้หลัก ส่วนที่เหลือมีรายได้จากการขาย พืชผลในสวน และขายปลาในฤดูการน้ำแล้ง ถึงจะไม่มากเป็นหลักหมื่นหลักแสน แต่ก็มีรายได้ทุกวันบางทีสูงถึงหลักพัน ที่สำคัญเราปลูกพืชกินได้ทุกอย่าง ทำให้ซื้อของจากตลาดเพียงแค่เนื้อหมู ไก่ และของใช้จำเป็น รายจ่ายน้อยกว่ารายรับชีวิตดีมีความสุข

คุณยายก๋งบอกว่า ที่สวนแห่งนี้มักมีคนรู้จัก มาเที่ยวเยี่ยมชมบ่อยๆ แต่ไม่ได้ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวอะไรเพราะอยู่สองตายาย และมีลูกสาวสองคนมาช่วยดูแลสวนบ้างเท่านั้น จึงไม่สะดวกรับแขกแบบท่องเที่ยว แต่ก็ยินดีต้อนรับคนที่มาเยี่ยมชมสวนไม่เคยขาด ความสุขในชีวิตของการทำเกษตรพอเพียง สุขภาพดีจากการเดินทำสวน กินอาหารปลอดสารพิษ ได้มิตรภาพจากผู้มาเยี่ยมชม ถือเป็นความสุขที่สระสมไว้มาจนถึงบั้นปลายชีวิต

การไปเยือนครั้งนี้รู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้ไปและซึมซับแนวคิดจากสองตายายให้เป็นพลังแก่การอยู่ในโลกของการแข่งขันยุคนี้ อะไรที่ทำแล้วดี มีความสุขบนความเรียบง่าย นับเป็นคุณค่าและความหมายของการชีชีวิตที่ลงตัว

ใครที่อยากไปอุดหนุน หรือเยี่ยมชมสวน โทรติดต่อได้ที่โทร 095-779-6202

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1244 วันที่ 6 - 19 กันยายน 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์