วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2562

ปมถวายสัตย์ จบที่ยังไม่จบ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ระราชดำรัสพร้อมลายพระหัตถ์ ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฎิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562   พระที่นั่งอัมพรสถาน  พระราชทานมายังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่ได้ขอพระบรมราชานุญาต กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายรวบรัด ตัดตอน และสรุปเอาว่า ปมถวายสัตย์ที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายวันนั้น จบแล้ว

บางคนถึงกับฟันธงว่า การยืนยันจะอภิปรายเรื่องนี้ต่อไปในสภาผู้แทนราษฎร กระทบกระเทือนจิตใจคนไทยที่รักชาติและสถาบัน

“ขอเตือนสติพรรคฝ่ายค้านกันอีกครั้ง โปรดระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการอภิปราย ในสภาผู้แทนราษฎร ทำอย่างไรที่จะไม่พาดพิง และกระทบกระเทือนจิตใจคนไทยและสถาบันฯ พรรคฝ่ายค้านใหญ่อย่างเพื่อไทยน่าจะรู้เท่าทันเกมการเมือง ที่พยายามลากทุกเรื่องลงมาด้วยครับ”

คำเตือนของสมชาย แสวงการ วุฒิสมาชิก ยังฟาดงวงฟาดงา ไปถึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ซึ่งยังคงยืนยันที่จะอภิปรายปมถวายสัตย์ต่อไปด้วย โดยนายปิยบุตร ระบุว่าแม้ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎรยังสามารถพิจารณาญัตติดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาก่อน

“เป็นถึงเลขาธิการพรรค อดีตอาจารย์สอนกฎหมาย ไม่รู้จริงหรือแกล้งไม่รู้ครับ ไม่ยุติหรือต้องการไม่ยุติ พยายามดึงลากถูเข้าสภาเพื่ออภิปรายต่อตามคาด”

คำถามก็คือ พระบรมราชานุญาตให้นำพระราชดำรัสพร้อมลายพระหัตถ์ พระราชทานนายกรัฐมนตรีนั้น ปมถวายจะสิ้นสุดไปพร้อมกับการอัญเชิญพระราชดำรัสมาแสดงต่อสื่อมวลชนหรือไม่

คำตอบคือไม่ คำว่าไม่ อธิบายด้วยหนังสือ “หลังม่านการเมือง” เขียนโดยนายวิษณุ เครืองาม เมื่อนานมาแล้ว โดยเขียนไว้ว่า ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขอพระบรมราชานุญาต นำพระราชดำรัสมาตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษร เข้ากรอบรูปสวยงาม แจกครม.ทุกคน เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจในการทำงาน

ทั้งที่ยุคนายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่ได้มีปมถวายสัตย์ไม่ครบ

การทำให้พระราชดำรัสกลายเป็นเงื่อนไข ปิดปมถวายสัตย์ จึงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน กับการหาคำตอบว่า การถวายสัตย์ซึ่งไม่ควรจะผิดพลาดเลยสำหรับนายกรัฐมนตรี ถูกต้อง ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนเรื่องทางการเมือง ก็ควรต้องเดินหน้าต่อไป ตามวิถีของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องพยายามปรับตัวให้เคยชินกับการเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องรับผิดชอบต่อสภาที่มาจากประชาชน ไม่ว่าตัวเองจะพึงพอใจหรือไม่ก็ตาม

คาดว่า ญัตติอภิปรายเป็นการทั่วไปโดยไม่ลงมติในสภา จะได้รับการบรรจุในวาระ ในห้วงสัปดาห์นี้ คือวันที่ 11 หรือ 12 กันยายน แต่อาจเป็นการพิจารณาเป็นวาระลับ เนื่องเพราะฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าอาจมีประเด็นที่กระทบไปถึงสถาบัน

และคาดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาในเวลาไล่เรี่ยกัน เพราะความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องปมถวายสัตย์ มีคำถามที่เกี่ยวพันไปถึงความเป็นโมฆะในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป โดยที่ไม่มีการถวายสัตย์ หรือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัย คณะรัฐมนตรีจะต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่หรือไม่

เรื่องปมถวายสัตย์ยังไม่จบแน่นอน ทั้งที่ควรได้ข้อยุติมาก่อนหน้านี้แล้ว หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ ของนายกรัฐมนตรีในยุคสภาประชาธิปไตย ไม่ใช่สภาตรายางเช่นในยุคสภานิติบัญญัติอีกแล้ว


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1244 วันที่ 6 - 19 กันยายน 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์