วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กฟผ. แม่เมาะ สรุปรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 8-9


จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

สรุปรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้าเครื่องที่ 8-9 กฟผ. รับฟังข้อกังวลชาวบ้าน เร่งผลักดันออกเอกสารสิทธิ์ ดูแลแหล่งน้ำ จัดตั้งกองทุนเถ้าลอยช่วย พร้อมปิดประกาศผลประชุมให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบ

จากกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มอบหมายให้บริษัทอีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง หรือ EHIA ในโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่  8-9 (Mae Moh Power Plant unit 8-9 Replacement Project: MMRP2 ) ได้มีการจัดประชุมระดับตัวแทนของกลุ่มที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
           
ล่าสุด กฟผ.ได้สรุปการประชุม ตามประเด็นที่ได้มีการเสนอไว้ เช่น ประเด็นการออกเอกสารสิทธิ์ การสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่อพยพ ปัญหาเรื่องการดูแลแหล่งน้ำ ประเด็นกองทุนเถ้าลอยลิกไนต์ เป็นต้น



-ชาวบ้านห่วงการออกเอกสารสิทธิ์
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ์ ได้ข้อสรุปว่าในส่วนของพื้นที่รองรับการอพยพของหมู่บ้านอพยพ กฟผ.จะช่วยสนับสนุนและผลักดันการดำเนินการของหน่วยงานราชการเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ์ตามขั้นตอนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้พื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สำรวจของ คทช. และมีความจำเป็นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย กฟผ. จะเป็นผู้สนับสนุนข้อมูล และ อปท. จะเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า ตามมาตรา 19 ทวิ หรือมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

-ชาวบ้านจี้ กฟผ.สร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่อพยพ
ในส่วนของการสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่อพยพ ตามมติ ครม. วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562  ระบุไว้ว่าหากในอนาคตราษฎรในพื้นที่ตำบลบ้านดง ตำบลนาสัก ตำบลจางเหนือ ตำบลแม่เมาะ และตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ประกาศกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เกิดปัญหาหรือความเดือดร้อนที่เกี่ยวข้องกับการอพยพราษฎรจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะให้ กฟผ. ใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว โดย กฟผ. จะประสานในรายละเอียดต่อไป




ด้านการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรที่ถูกอพยพนั้น กฟผ. ยินดีที่จะสนับสนุนกิจกรรมการอบรมส่งเสริมอาชีพให้กัราษฎรรายละเอียดตามที่จะได้หารือในขั้นต่อไป โดยใช้งบประมาณด้านสาธารณูปโภคและศาสตร์พระราชา

-การจ้างงาน
 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการจ้างงาน กฟผ. ได้กำหนดมาตรการให้บริษัทผู้รับเหมาจ้างคนงานที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่อำเภอแม่เมาะเป็นลำดับแรก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ต้องขึ้นกับคุณสมบัติของตำแหน่งงานนั้นๆ โดยบริษัทฯ ต้องประชาสัมพันธ์เรื่องการจ้างงานให้กับชุมชนทุกชุมชนได้รับทราบก่อน หากบริษัทผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องแจ้งให้ กฟผ. รับทราบต่อไป

ทั้งนี้บริษัทที่ปรึกษารับไว้ศึกษาต้องกำหนดมาตรการเพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากผู้รับเหมาไม่ดำเนินการแก้ไขให้ กฟผ.จะดำเนินการตามบทปรับและบทลงโทษตามเงื่อนไขสัญญาที่กำหนด

ส่วนการรับบุคคลที่มีคดีความเข้าทำงานนั้น กฟผ. ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 สำหรับลูกจ้างบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการจ้างงานของบริษัทฯ นั้น ๆ

-กฟผ. รับดูแลแหล่งน้ำ
จากกรณีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำ กฟผ.ได้ดำเนินการติดตั้งระบบจัดส่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาให้กับหมู่บ้านห้วยคิง บ้านหางฮุง บ้านห้วยเป็ด และบ้านเมาะสถานี เนื่องจากหมู่บ้านดังกล่าวมีน้ำทิ้งจากกิจกรรมการทำเหมืองไหลผ่าน มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านน้ำใต้ดินตามเงื่อนไขแนบท้ายรายงาน EIA โครงการเหมืองแร่ลิกไนต์จึงกำหนดให้ กฟผ. จัดส่งน้ำดิบให้กับหมู่บ้านท้ายน้ำ สำหรับบ้านปงชัย ถึงแม้ไม่มีน้ำทิ้งจากกิจกรรมการทำเหมืองไหลผ่าน กฟผ. ก็ได้จัดส่งน้ำดิบให้ใช้ฟรีในอัตรา 120 ลิตร/คน/วัน เพิ่มจากเดิมจำนวน 100 ลิตร/คน/วัน  โดยคิดจากฐานข้อมูลประชากรในปี พ.ศ. 2560 บวกเพิ่มผู้เช่าจากต่างถิ่นอีกหมู่บ้านละ 50 หลังคาเรือน ส่วนที่ใช้เกินจากอัตราที่กำหนดจึงจะคิดในอัตรา 2.19 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกันกับทุกหมู่บ้านตามที่ได้ตกลงกันไว้

ด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรชุมชนสามารถเสนอโครงการเพื่อใช้งบประมาณด้านสาธารณูปโภคและศาสตร์พระราชาไม่เกิน 5 ล้านบาทได้ ผ่านการประชาคมของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามการก่อสร้างหรือปรับปรุงซ่อมใด ๆ ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเป็นต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ให้แล้วเสร็จก่อนจึงสามารถดำเนินการได้

ในส่วนของการขุดลอกลำน้ำจางปัจจุบันอำเภอแม่ทะและจังหวัดลำปางได้รับทราบปัญหาลำน้ำจางแล้ว และจะมีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาลำน้ำจางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่ง กฟผ. จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่อไป

สำหรับการสนับสนุนให้แก่ประชาชนนั้นในช่วงฤดูแล้ง กฟผ. มีรถน้ำส่งให้ประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว แต่หากประชาชนต้องการความยั่งยืนด้านน้ำใช้ สามารถเสนอโครงการเพื่อใช้งบประมาณด้านสาธารณูปโภคและศาสตร์พระราชาไม่เกิน 5 ล้านบาท ได้ ผ่านการประชาคมของหมู่บ้าน

-เยียวยาถนนด้วยกองทุนเถ้าลอยลิกไนต์
จากที่ กฟผ. ได้จัดตั้งกองทุนเถ้าลอยลิกไนต์ขึ้นมา หลักๆ ก็มีจุดประสงค์ เพื่อซ่อมแซมถนนที่ใช้ในการขนส่งเถ้าลอยลิกไนต์ ในเขตอำเภอแม่เมาะ  เพื่อเยียวยาทันทีกรณีมีอุบัติเหตุจากการขนส่งเถ้าลอยลิกไนต์ ในเขตอำเภอแม่เมาะ และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการขนส่งเถ้าลอยลิกไนต์ ในเขตอำเภอแม่เมาะ

สำหรับถนนเชื่อมระหว่างตำบลจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท หรือ อบจ. ถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท ส่วนถนนภายหมู่บ้านอยู่ในความรับผิดชอบของ อบต. สำหรับ กฟผ. จะช่วยสนับสนุนโดยใช้งบประมาณด้านสาธารณูปโภคและศาสตร์พระราชา เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนเป็นครั้งคราว หรือประชาชนสามารถเสนอโครงการเพื่อของบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน

-การแก้ไขปัญหาดินสไลด์
กรณีดินสไลด์นั้นหลังจากการพังทลายของที่ทิ้งดิน กฟผ. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาโดยบริษัทจีเอ็มที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับบริษัท PELLS SULLIVAN MEYNINK เพื่อค้นหาสาเหตุของการพังทลายในครั้งนี้ ซึ่งที่ปรึกษาได้เข้ามาสำรวจในพื้นที่และศึกษาหาข้อมูล สรุปได้ว่า เป็นปัญหาเฉพาะจุดในบริเวณนี้  ปัจจุบันได้มีการวางแผนแก้ไขและป้องกันที่ทิ้งดินสไลด์ตามข้อแนะนำของที่ปรึกษาแล้ว และยังมีแผนที่จะนำเอาเทคนิคการตรวจสอบการเคลื่อนตัวของที่ทิ้งดินโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม (InSAR) มาประกอบในการประมวลผล ซึ่งจะทำให้มีความรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้นในการตรวจสอบเสถียรภาพของที่ทิ้งดินนอกจากนี้ยังมีการจัดทำระบบแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุด้วย

-กฟผ. เห็นด้วยกับการให้แม่เมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยว
จากประเด็นที่เสนอให้แม่เมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีถนนตัดผ่านเพื่อให้เป็นเมืองเปิด กฟผ.เห็นด้วยกัยประเด็นดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม การตัดถนนทางหลวงแม่เมาะเชื่อมอำเภองาวและจังหวัดพะเยาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง โดย กฟผ. จะเสนอเรื่องไปยังกรมทางหลวงต่อไป ซึ่งขณะนี้กฟผ. ได้ดำเนินการสนับสนุนงบประมาณด้านประเพณีและวัฒนธรรมไปแล้วเป็นงบประมาณ หมู่บ้านละ 50,000 บาท หากชุมชนมีความจำเป็นต้องใช้เพิ่มเติมจะจัดสรรจากงบด้านสาธารณูปโภคและศาสตร์พระราชา ด้านสาธารณูปโภคและศาสตร์พระราชา ตำบลละ 5,000,000 บาท (ยกเว้นตำบลบ้านดง ได้รับ 500,000 บาท) และตำบลบ้านดงได้รับค่าชดเชยระหว่างรอการจัดสรรค่าภาคหลวง 20 ล้านบาท

-กฟผ.สนับสนุนคุณภาพชีวิต
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนในพื้นที่ประกาศฯ สามารถเสนอโครงการของชุมชนได้ โดยผ่านกระบวนการพิจารณาจากเวทีประชาคมหมู่บ้าน และการกลั่นกรองของ คพรฟ. ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนดกองทุนพัฒนาไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

และส่วนของการสนับสนุนอาชีพให้ชุมชนนั้น กฟผ. ยินดีที่จะร่วมสนับสนุนและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอาชีพอำเภอแม่เมาะให้เกิดความยั่งยืน

-เรื่องที่ กฟผ. ไม่สามารถดำเนินการได้

ในส่วนการแบ่งเขตพื้นที่การปกครองเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนแนวเขตการปกครองจะต้องเสนอเรื่องให้กระทรวงมหาดไทย ซึ่ง กฟผ. ไม่มีอำนาจในเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ จากการสรุปการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 จากแบบสำรวจความคิดเห็น  ชาวบ้านมีความเห็นต่อการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่าเพียงพอ ร้อยละ 82.23 และคิดว่ายังไม่เพียงพอ ร้อยละ 16.60  ส่วนด้านมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อม มีความเหมาะสมร้อยละ 83.40 ไม่เหมาะสมร้อยละ 15.43   ขณะที่การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ มีชาวบ้านคิดว่าเพียงพอ ร้อยละ 82.52 และไม่เพียงพอ ร้อยละ 16.21  ส่วนมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสุขภาพ เหมาะสม ร้อยละ 79.79 และยังไม่เหมาะสม ร้อยละ 18.65  ขณะเดียวกันชาวบ้านยังมีความวิตกกังวลต่อการพัฒนาโครงการอยู่ ร้อยละ 22.95  แต่ก็มีกลุ่มที่ไม่วิตกกังวลมากถึงร้อยละ 71.48

ในส่วนของการสอบถามแบบสัมภาษณ์รายบุคคล พบว่าชาวบ้านมีการรับรู้ข้อมูลโครงการ ร้อยละ 81.13 แต่ก็ยังมีกลุ่มที่เพิ่งทราบข้อมูลอยู่ ร้อยละ 18.87  สำหรับความคิดเห็นต่อภาพรวมโครงการ เห็นด้วยร้อยละ 73.33 และไม่เห็นด้วย ร้อยละ 4.91  ส่วนมีผู้ไม่แสดงความคิดเห็นมากถึง 21.76

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ยินดีรับฟังข้อห่วงกังวลของประชาชนและรับดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ส่วนการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ กรณีที่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการอยู่แล้ว ทาง กฟผ. ยินดีเข้าไปประสานงานกับหน่วยงานเหล่านั้น และยินดีให้การสนับสนุนตามที่หน่วยงานเหล่านั้นร้องขอตามความเหมาะสม กรณีที่อยู่นอกเหนืออำนาจที่ กฟผ. จะดำเนินการได้ กฟผ. จะนำเรื่องหารือในคณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน กฟผ.แม่เมาะ ระดับอำเภอ ก่อนส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ซึ่งในตอนนี้ กฟผ. ได้ทำการปิดประกาศผลประชุมให้ชาวบ้านในพื้นที่ทุกตำบลได้ทราบแล้ว

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์