
กุบกับ กุบกับ เสียงรถม้าลากไปตามท้องถนน เป็นที่คุ้นหูของชาวลำปางที่อาศัยอยู่บริเวณตัวเมืองมาช้านาน
เริ่มจากรัชกาลที่ 5 ทรงสั่งรถม้าเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็นรถหลวง
และหลังจากนั้นรถม้าก็ถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ รถม้าจึงถูกส่งออกไปนอกพื้นที่พระนคร
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีจังหวัดลำปางด้วย
ปัจจุบันจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ยังคงมีรถม้าให้บริการ
ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงลำปางก็จะมีภาพรถม้าฉายเข้ามาในห้วงความคิดอยู่เสมอ
ในอดีตรถม้ามีบทบาทเปรียบเสมือนเจ้าชายแห่งลำปาง
ไม่ว่าจะเคลื่อนไปทางไหนก็มีความสง่าผ่าเผย บนตัวรถม้าจะมีคนขับประจำหรืออัศวินประจำตำแหน่งอยู่
โดยจะแต่งตัวสไตล์เวสเทิร์นคาวบอย มีรถม้าที่เรียกกันว่า “รถม้าแท็กซี่”
คอยรับผู้โดยสารจากสถานีรถไฟเข้าสู่ตัวเมือง
ทุกครั้งที่รถม้าเริ่มวิ่งออกไปก็จะเป็นที่ดึงดูดความสนใจแก่นักท่องเที่ยวและผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี
แต่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าในสมัยนี้บทบาทของรถม้าถดถอยลงไปมาก
*เสียงสะท้อนจากเหล่าอัศวินผู้เคียงข้างเจ้าชาย
พันธ์ศักดิ์ ดอกไม้แก้ว
อัศวินผู้ประจำอยู่บริเวณหน้าโรงแรมเวียงทองมากว่า 30 ปี
บอกว่าในปัจจุบันทั่วจังหวัดลำปางเหลือรถม้าทั้งหมดเพียง 94 คัน
การทำมาหากินของคนขับรถม้าค่อนข้างฝืดเคืองต่างจากสมัยก่อนมาก
เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาลงทุกวัน อีกทั้งยวดยานพาหนะก็เพิ่มขึ้น
ทุกวันนี้รถม้าอาศัยรายได้ส่วนใหญ่จากนักท่องเที่ยวเท่านั้น อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประชาสัมพันธ์
และอยากให้มีการส่งเสริมรถม้าควบคู่ไปกับสถานที่ท่องเที่ยวในลำปาง

จากเสียงสะท้อนของเหล่าอัศวินผู้เคียงคู่เจ้าชายแห่งอาลัมภางค์มาช้านาน
ทำให้เห็นว่าสถานการณ์รถม้าในจังหวัดลำปางเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
หากไม่เร่งแก้ไขรถม้าทั้ง 94 คัน
คงจะต้องลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนไม่มีภาพรถม้าวิ่งตามท้องถนนให้เห็นในที่สุด
ทั้งนี้เจ้าชายจะปลอดภัยหรือไม่ส่วนหนึ่งก็เป็นหน้าที่ของอัศวิน เช่นกันรถม้าจะเลื่องชื่อหรือจะถูกเล่าลือเสียๆ
หายๆ ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนขับรถม้าด้วย
หากคนขับรถม้าปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมก็คงจะไม่มีผู้โดยสารกล้าใช้บริการ
แต่หากคนขับมีการให้บริการที่ดี
ให้เกียรติอาชีพของตนเองผู้โดยสารก็จะเกิดความประทับใจอยากกลับมาใช้บริการอีกครั้งอย่างแน่นอน
หลายคนอาจจะมองว่าปัญหาเรื่องรถม้าเป็นเพียงกระจุกเล็กๆ
แต่ก็มีหลายครั้งที่เราพลาดสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพราะมองข้ามสิ่งเล็กๆ ไม่ใช่หรือ
คำขวัญจังหวัดลำปางมีอยู่ว่า "ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก" คงเป็นเรื่องน่าเศร้าหากสิ่งเล็กๆ
สำหรับบางคนหายไปจากคำขวัญของจังหวัดลำปาง
“เจ้าชายแห่งอาลัมภางค์จะกลายเป็นเพียงตำนานหรือจะลือลั่นต่อไปก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของชาวลำปางที่จะต้องตัดสิน”
เกษณี ตั๋นตุ้ย นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น