
ความเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการเหมืองลิกไนต์
ของบริษัทปูนซิเมนต์ (ลำปาง) จำกัด ที่แม่ทะ วูบวาบไปมาอยู่ก่อนหน้านี้
แต่ดูเหมือนไปไม่สุดทาง ไม่มีระบบ ไม่มีผู้นำชัดเจน จึงขาดพลังที่จะปลุกกระแส
ให้เกิดแนวร่วมที่กว้างขวาง รวมทั้งสร้างความสนใจให้กับสื่อมวลชนไม่ว่าในระดับท้องถิ่น
หรือระดับชาติ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่ชัยชนะ
หากในขณะเดียวกัน กระบวนการสร้างความเข้าใจ
การสื่อสารไปยังชาวบ้านของเจ้าของประทานบัตร ก็ไม่เข้มแข็งมากพอ
ที่จะลดกระแสความไม่เข้าใจ ความไม่พอใจของชาวบ้านได้
สถานการณ์จึงเป็นไปในลักษณะที่ชาวบ้านก็ยังไม่สามารถสะท้อนความกังวลห่วงใยในปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เห็นภาพชัดได้
ทางด้านบริษัทปูน ก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นอย่างไร
ในท่ามกลางความอึมครึม ที่ยังคงดำรงอยู่
คนแม่ทะ
ต่อต้านเหมืองลิกไนต์ของบริษัทปูน เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ด้วยบริบทของสังคม
ที่เหมืองลิกไนต์เกิดขึ้นครั้งแรกที่ลำปาง แต่คนแม่ทะ ก็ต้องเข้าใจว่า
โลกเปลี่ยนไปแล้ว วิทยาการสมัยใหม่ ได้สร้างหลักประกันในปัญหาที่เหมืองเหล่านี้
จนไม่ต้องเป็นห่วง กังวลผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสุขภาพอนามัยของประชาชนอีก
เรื่องเหล่านี้
เป็นเรื่องที่อธิบายไม่ยากนักในยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
แม้การทำเหมืองลิกไนต์ครั้งนี้อาจไม่ได้ใช้พื้นที่ หรือสร้างผลกระทบมากมาย
เมื่อเทียบกับเหมืองอื่นๆ หรือบริษัทปูน
ในพื้นที่อาจไม่อยู่ในฐานะที่จะพูดแทนบริษัทปูนใหญ่ได้ทั้งหมด
แต่ก็จำเป็นจะต้องมีแผนสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน
โดยเฉพาะประเด็นที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง
หากปูน
ลำปางไม่พร้อม ไม่สามารถ หรืออาจถูกกำหนดขอบเขตในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์โครงการ
ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากแผนสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ จะถูกกำหนดจากปูนกรุงเทพ
โดยที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ควรเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
หนังสือพิมพ์ส่วนกลาง อย่างน้อย 2 ฉบับ เมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน คือ ไทยรัฐ และมติชน มี
Supplement หนา 40 หน้า อธิบายความ เรื่อง
โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเหมือง เป็นเขื่อน
ก็ล้วนมีปัญหาผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมที่ต้องใช้ความเพียรพยายามอธิบายทำความเข้าใจกับสังคมทั้งสิ้น
เขื่อนไซยะบุรี
สปป.ลาว เป็นเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกในลำน้ำโขง กั้นแม่น้ำโขง สร้างโดย CKPower
บริษัทในกลุ่ม ช.การช่าง พวกเขาอธิบายว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นต้นแบบด้านวิศวกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำคัญคือ นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท
ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า ไม่ว่าเขาจะไปที่ไหน
คนท้องถิ่นคือกลุ่มแรกที่เขาคิดถึงเสมอ
“..ไม่ว่าโรงไฟฟ้าเราจะไปอยู่ที่ไหน
จะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และต้องกลมกลืนกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น
เราจึงต้องดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนจนกว่าจะมั่นใจได้ว่า ชาวบ้านสามารถยืนอยู่ได้
และมีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองในระยะยาว โดยยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน”
เหมืองลิกไนต์ ที่แม่ทะเล็กกว่าหลายเท่า
แต่ปัญหาความเดือดร้อน ความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม จะเล็กใหญ่ก็เท่ากัน ดังนั้น
ในขณะที่ชาวบ้านต้องรวมตัวกันให้ติด เป็นระบบ บอกความกังวลชัดเจน ปูนลำปาง
ก็ต้องมีแผนสื่อสาร สร้างความเข้าใจในนามของผู้บริหารไม่ว่าจะที่ลำปาง หรือกรุงเทพ
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวบ้าน ไม่ต้องทอดเวลารอสถานการณ์ข้างหน้า
จนสูญเสียโอกาสในการลงทุนไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น