จะเรียกว่า คำเตือน จะเรียกว่า ขอความร่วมมือ
ทั้งจากคนใช้สื่อโซเชียล นักวิชาการ องค์กรวิชาชีพสื่อ ก็คล้ายโยนก้อนกรวด
ลงไปในบ่อจอกแหน น้ำยังไม่ทันกระเพื่อม จอกแหนก็ไหลกลับคืนมาที่เดิม
และก็เป็นเช่นนี้ทุกคราวไป
เพราะคำเตือนกินไม่ได้ การขอความร่วมมือไม่มีความหมาย
แต่ภาพข่าวอาชญากรรม ภาพข่าวที่ละเมิดบุคคลอื่น ขายได้ เรียกยอดไลค์ ยอดแชร์ ได้
ร้อยคำเตือน พันคำขอความร่วมมือ จึงเป็นการทำซ้ำที่สูญเปล่าอย่างสิ้นเชิง
คำเตือนแทบไม่ได้ส่งผลกับคนที่แอบแฝงมาอาศัยสถานะความเป็นสื่อเลย
ไม่ว่าจะเป็นคนใช้สื่อทั่วไป หรือตั้งใจจะใช้สื่อทำมาหากิน เช่น เพจตระกูล e ทั้งหลาย เพราะพวกเขามุ่งต่อการหารายได้
โดยไร้จิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
ภาพคนร้ายชิงทรัพย์ทองที่ลพบุรี ยิงเด็ก ๒ ขวบ
ก่อนแม่จะรีบอุ้มลูกน้อยออกจากจุดเกิดเหตุ ลูกคนแรกและเพียงคนเดียวของพวกเขา
คือภาพข่าวที่ซ้ำเติมชะตากรรม และความเคราะห์ร้ายของผู้สูญเสีย
ซึ่งถ้าเป็นมนุษย์ปกติทั่วไป เขาคงคิดได้ว่าผู้สูญเสียจะรู้สึกอย่างไร จะเศร้าสะเทือนใจเพียงใด
ไม่ใช่กฎหมาย ไม่ใช่คำเตือนที่ไม่เคยบังเกิดผลใดๆ แต่คือ
การใช้มาตรการทางสังคม หรือ Social sanction ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับสื่อที่ละเมิด เช่น กรณีที่เกิดขึ้น
กับหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาบางฉบับ
ผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร จะต้องไม่อ่าน ไม่ดู
ไม่ฟังสื่อที่ละเมิดจริยธรรม หรือรวมตัวกันกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ทำให้สื่อที่ละเมิดสำคัญผิดว่า
การเสนอข่าวที่ซ้ำเติมชะตากรรมเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
การเสนอข่าวและภาพที่มุ่งเพียงตอบสนองสัญชาติญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์
คือโอกาสที่จะสร้างรายได้
ในประเทศไทยเคยมีความพยายามในการใช้มาตรการทางสังคมกับสื่อที่ละเมิดจริยธรรม
เช่น ปรากฎการณ์ที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น ยื่นหนังสือให้สถานีโทรทัศน์ช่อง
3 แสดงจุดยืน
กรณีที่พิธีกรรายการคนหนึ่งมีคดีความเกี่ยวกับการทุจริตเงินค่าโฆษณา
ในช่วงรายการช่อง 9 อสมท
โดยเรียกร้องให้ถอนโฆษณาในรายการนั้น
แต่ก็เป็นเพียงไฟไหม้ฟาง สำหรับสังคมที่มีแต่บ่นว่า
แต่ไม่เคยลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง
แน่นอนว่า สื่อจะต้องอยู่รอด แต่ไม่ใช่ความอยู่รอด
ด้วยการขายข่าวและภาพที่อยู่บนความตาย และคราบน้ำตาของคนอื่น
หรือการทำสื่อที่ละเมิดซ้ำๆไม่มีสิ้นสุด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น