
หลังจากที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) ได้มอบให้บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด
เป็นที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9
โดยทางบริษัทฯได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 ก.ค.62 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม
วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ มีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วม 2,647 คน ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น 48 คน และครั้งที่ 2 ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแยกย่อยเป็นรายตำบล 5 ตำบลอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 8-10 ตุลาคม
2562 เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ
และประเด็นห่วงกังวลมากำหนดเป็นมาตรการเพิ่มเติมในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
(EHIA) ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกกลุ่ม โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นรวม จำนวน 1,829 คน มีผู้แสดงความคิดเห็น 77 คน
สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ. 63 ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น.
ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อทบทวนร่างรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปจัดทำรายงาน EHIA
ฉบับสมบูรณ์ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จึงเชิญชวนประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3
ตามวันและเวลาดังกล่าว
ความเป็นมาของ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ใช้ถ่านลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง
มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 660 เมกะวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8-9
ซึ่งจะถูกปลดออกจากระบบในปี 2565
จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 เพื่อรักษาระดับกำลังผลิตและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคเหนือ
รวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ
ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018)
โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9
เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA:
Environmental and Health Impact Assessment) ก่อนการก่อสร้างโครงการ
ซึ่งบริษัทฯ ผู้ที่รับผิดชอบจัดทำรายงานฯ ต้องดำเนินการตามกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อย
3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เกี่ยวกับรายละเอียดโครงการที่จะเกิดขึ้นและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
รวมทั้งขอบเขตการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นมาใช้ประกอบการศึกษาและการจัดทำรายงานฯ
ให้ครบถ้วน ครั้งที่ 2 การจัดรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานฯ
เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของกลุ่มเป้าหมายหลักโดยการลงพื้นที่พูดคุยสอบถามอย่างใกล้ชิดและรอบด้าน
และครั้งที่ 3 การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
รวมถึงนำเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่างรายงานฯ
เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบความถูกต้อง
และความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ ก่อนจัดทำรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น