วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ชาวบ้านห้วยคิงลุกฮือ ทวงถามการอพยพ มติ ครม.ออกตั้งแต่ปี 56 รอมานาน 7 ปี ยังไม่มีความคืบหน้า เหตุไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้บุกรุกพื้นที่ 63 ราย ลั่นให้เวลาถึงสิ้นเดือน ก.พ.นี้ หากไม่มีความชัดเจน จะยกขบวนไปศาลากลาง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.วันที่ 11 ก.พ. 63 นางแสงจันทร์ มูลซาว ผู้ใหญ่บ้านห้วยคิง หมู่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ พร้อมด้วยนายวิวัฒน์ ปินตา  แกนนำชาวบ้าน  ได้นำชาวบ้านประมาณ 300 คน เดินทางมายังที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ เพื่อขอทราบความคืบหน้ากรณีการอพยพราษฎรบ้านห้วยคิง หมู่ 6  จำนวน 450 หลังคาเรือน  แต่ขณะนี้ยังมีการยืดเยื้อ เนื่องจากยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่า หมู่ 8 บ้านเมาะหลวง ที่เป็นพื้นที่รองรับการอพยพ จำนวน 63 ราย  ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการปรับพื้นที่เพื่อรองรับการอพยพของราษฎรบ้านห้วยคิงได้

นายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นายอำเภอแม่เมาะ กล่าวว่า กรณีผู้บุกรุก 63 ราย ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาก่อนจะเข้า ครม. มีข้อสังเกตว่าราษฎรบ้านเมาะหลวงเข้าไปครอบครองพื้นที่ทำกินก่อนปี 2541 จึงได้รับการอนุโลมตามกฎหมาย  แต่ก็มีข้อสังเกตว่าการให้ความช่วยเหลือราษฎรทั้ง 63 ราย จะต้องไม่ใช่บุคคลในครอบครัวที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐแล้ว และต้องเป็นผู้ถือครองที่ดินอยู่เดิม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการช่วยเหลือซ้ำซ้อน  ต่อมาเลขาธิการคณะรัฐมนตรียังได้มีการขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ากรณีดังกล่าวจะจ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่  กฤษฎีกาได้มีความเห็นว่า การจ่ายค่าชดเชยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้แก่ราษฎรบ้านเมาะหลวง จำนวน 63 ราย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ราษฎรตามหลักมนุษยธรรม ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือซ้ำซ้อน  ขณะที่ความเห็นของกรมป่าไม้บอกว่า 63 ราย เคยเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐแล้วตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 เรื่องการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน   เพราะฉะนั้นความเห็นจึงขัดแย้งกัน ที่ประชุมคณะอำนวยการฯจึงมีการหารือไปยังกฤษฎีกาอีกครั้ง อยู่ระหว่างรอข้อสรุป


นายวิวัฒน์ ปินตา แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า นับตั้งแต่การเรียกร้องรวมมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว และถ้านับตั้งแต่ มติ ครม.เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 56  เป็นเวลา 7 ปี  ตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านรอคอยคำตอบจากหน่วยงานราชการว่าทุกอย่างจะสะเด็ดน้ำเมื่อไร  ขณะที่ 3 หมู่บ้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ มีมติ ครม.ออกมาพร้อมกันแต่ได้มีความคืบหน้าไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์   ส่วนหมู่บ้านห้วยคิง ม.6 ประสบปัญหามีผู้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่รองรับการอพยพ  ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชย  ทางกรมป่าไม้ก็ไปให้ความเห็นขัดแย้งกับกฤษฎีกาอีก จึงต้องตีความกันไปมา  ตนเองคิดว่าไม่เห็นจะต้องย้อนกลับไปถามอีก เพราะอย่างไรกฤษฎีกาก็จะให้ความเห็นกลับมาเหมือนเดิม ทำให้ชาวบ้านต้องมานั่งรอคำตอบอีกโดยไม่รู้ว่าต้องรอนานอีกเท่าไร


ตอนนี้ชาวบ้านต้องการความชัดเจนว่าการอพยพจะสิ้นสุดเมื่อไร จึงมายื่นหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และขอให้แจ้งข่าวสารให้ชาวบ้านได้รู้ความเคลื่อนไหวตลอดเวลาด้วย  ถ้าป่าไม้ยังไม่ดำเนินการใดๆทั้งที่มอบพื้นที่ให้กับ กฟผ.แล้ว  ชาวบ้านจะรวมตัวกันไปแจ้งความ มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กับกรมป่าไม้ที่ไม่จัดการกับผู้บุกรุก 63 ราย    เราจะให้เวลาไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.นี้ ถ้ายังไม่มีคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าฯ ชาวบ้านก็จะไปเจอกันที่ศาลากลางอีกครั้ง

จากนั้น นางแสงจันทร์ มูลซาว  ผู้ใหญ่บ้านห้วยคิง พร้อมด้วยชาวบ้าน ได้ร่วมกันยื่นหนังสือให้กับนายอำเภอแม่เมาะ เพื่อส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้เร่งรัดดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ โดยจะนัดมาฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 4 มี.ค. 63 นี้ หากไม่มีความคืบหน้าจะเดินทางไปแจ้งความทันที


สำหรับความเป็นมาการอพยพราษฎรบ้านห้วยคิง หมู่ 6  ในปี 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้อพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน รวมถึงราษฎรบ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ด้วย โดยให้อพยพไปบริเวณบ้านเมาะหลวง หมู่ที่ 8 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 590 ไร่  (คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ความเห็นชอบการใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว) ซึ่งมีราษฎรจำนวน 63 ราย ได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการอพยพราษฎรบ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ให้เข้าไปอาศัยในพื้นที่รองรับดังกล่าวได้ โดยราษฎรจำนวน 63 รายนี้ได้ร้องขอต่อทางราชการว่า หากจะเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่แปลงดังกล่าว ขอให้ทางราชการชดเชย เยียวยา ค่าที่ดินต้นไม้ และสิ่งปลูกสร้าง ตามมาตรฐานราคาของกรมชลประทานเช่นเดียวกันกับราษฎร 5 หมู่บ้านที่จะขออพยพตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556

คณะกรรมการอำนวยการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน พิจารณาแล้วมีมติให้จ่ายค่าชดเชย เยียวยา ค่าที่ดิน ต้นไม้ และสิ่ง ปลูกสร้าง โดยใช้หลักเกณฑ์และราคาประเมินในราคามาตรฐานของกรมชลประทานรอบบัญชีราคาประเมินปี 2556 เป็นจำนวนเงิน 72,800,561 บาท กระทรวงพลังงานจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้จ่ายค่าชดเชยฯ ในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิในพื้นที่บ้านเมาะหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับการอพยพของราษฎรบ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 แต่เรื่องยังยืดเยื้อ เนื่องจากมีการขอความเห็นไปยังกฤษฎีกา ว่าควรจะจ่ายค่าชดเชยให้กับราษฎร 63 รายหรือไม่ จนล่วงเลยมา 7 ปี ชาวบ้านไม่ได้รับความคืบหน้า จึงรวบตัวกันมาติดตามทวงถามดังกล่าว

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์