วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

อาถรรพ์หมายเลข 7 7 ปีไม่จบ สนามกีฬา-อพยพห้วยคิง-บ้านดง-จอกกิ่วลม-เทศบาลเขลางค์

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์


“เลข 7” หรือ พลังลึกลับของตัวเลข ที่อยู่คู่กับความเชื่อของคนสมัยโบราณมานานแสนนาน ซึ่งแต่ละชนชาติอาจมีความเชื่อเกี่ยวกับตัวเลขแตกต่างกันออกไป แต่เป็นเพราะความบังเอิญหรือเรื่องลี้ลับที่ยังพิสูจน์ไม่ได้  สำหรับชาวไทยนั้นมีความเชื่อในเลข 7 ว่าเป็นเรื่องความทุกข์ เพราะตามหลักโหราศาสตร์ ดาวเสาร์ดาวที่เป็นตัวแทนความทุกข์มีดวงจันทร์เป็นบริวารเจ็ดดวง  เลข 7 มีกำลังแฝงเรื่องการแสดงความอดทน ความพากเพียรไม่ย่อท้อ ความอดทนความเข้มแข็ง ความทุกข์ความเก็บกด ความวิตกกังวล

มีหลายต่อหลายงาน หลายกิจกรรม หลายโครงการในจังหวัดลำปาง ที่เกี่ยวเนื่องกับเลข 7 โดยใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง หรือการแก้ปัญหาต่างๆ ยาวนานมา 7 ปี  นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่ระยะเวลาใกล้เคียงกันเกือบทุกงาน   ซึ่งไม่ทราบได้ว่าเป็นเพราะอาถรรพ์เมืองลำปาง หรืออาถรรพ์เลข 7 กันแน่

ลองไปตรวจสอบกันว่าโครงการไหน หรือการแก้ปัญหาอะไร ที่ยาวนาน 7 ปีกันบ้าง  



สนามกีฬาจังหวัดลำปาง งบประมาณ 107 ล้านบาท
โครงการนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้มีการทำสัญญากับกรมทางหลวง เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 57 ให้สร้างสนามกีฬาวงเงินงบประมาณ 107,944,000 บาท  ประกอบด้วย สนามฟุตบอล ลู่และลานกรีฑา อัฒจันทร์ความจุ 12,000 ที่นั่ง ระบบสาธารณูปโภค งบประมาณ 107 ล้านบาท ปัจจุบันงานดังกล่าวมีแค่อัฒจันทร์ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี หากนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2557จนถึง 2563 เข้าปีที่ 7 พอดิบพอดี

สนามกีฬาอำเภอแม่ทะ งบประมาณ 24 ล้าน
เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2556  กำหนดเวลาแล้วเสร็จวันที่ 23เมษายน 2557 ด้วยงบประมาณ 24 ล้านบาท แต่ติดปัญหาความชัดเจนเรื่องที่ดิน จึงไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพดูแล จนสนามกีฬา อัฒจันทร์ โรงยิม ระบบสาธารณูปโภคภายในพังเสียหาย ด้วยระยะเวลาการดำเนินการที่ไล่เลี่ยกัน ก็ถือว่าอยู่ในช่วง 7 ปีอีกเช่นเคย

อพยพราษฎรบ้านห้วยคิง ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ
มติ ครม.เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 56  เห็นชอบในหลักการให้อพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน รวมถึงราษฎรบ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 โดยให้อพยพไปบริเวณบ้านเมาะหลวง หมู่ที่ 8 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง แต่ติดปัญหาเรื่องที่ดิน เนื่องจากมีราษฎรจำนวน 63 ราย ได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการอพยพราษฎรได้  ปัจจุบันก็ยังแก้ปัญหาไม่แล้วเสร็จ ก็เป็นอีกปัญหาที่ 7 ปี

อพยพราษฎร 4 หมู่บ้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ
เป็นอีกแห่งที่ยังคงรอการอพยพ แม้จะมีความคืบหน้ามากกว่าหมู่บ้านห้วยคิง ที่มีมติ ครม.สั่งให้อพยพพร้อมกัน และได้เข้าไปในพื้นที่อพยพก่อน แต่ก็ต้องมาติดปัญหาในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างที่ผู้รับเหมาได้ร้องเรียนกันเกิดขึ้น จึงอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในเรื่องนี้ ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ต้องรอนานมา 7 ปีแล้วก็ยังไม่ได้อพยพเช่นกัน

ปัญหายืดเยื้อแก้จอกหูหนูในเขื่อนกิ่วลม
จอกหูหนูภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม น่าจะมีมายาวนาน แต่ได้ค้นพบว่ามีการแพร่กระจายหนาแน่นเต็มอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม เมื่อประมาณปลายปี 2556  โดยทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเรือกำจัดวัชพืช รวมทั้งรถแบ็คโฮเข้ามาตักออก จนทำสำเร็จไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงปลายปี 2557 แต่จอกหูหนูเจ้ากรรมก็ยังไม่วาย กลับมาเติบโตอีกครั้งอย่างต่อเนื่อง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังตักแล้วตักอีกไม่หมดสักที  กับระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา

สำนักงานเทศบาลเมืองเขลางค์นคร
สำนักงานเทศบาลเมืองเขลางค์นคร เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่มีมหากาพย์การก่อสร้างที่ยาวนานมากที่สุดเลยก็ว่าได้  เรียกกันได้ว่าเป็นทศวรรษเลยทีเดียว กับระยะเวลา 10 ปี  ในการดำเนินการตั้งแต่การจัดซื้อที่ดินไปจนถึงการก่อสร้างสำเร็จ  แต่ถ้านับตั้งแต่การทำสัญญาเริ่มโครงการก่อสร้างกับผู้รับเหมาตั้งแต่ปี 2556  ก็ถือว่าเป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่ติดอันดับอาถรรพ์ 7 ปี อยู่เหมือนกัน

การก่อสร้างสำนักงานเทศบาลแห่งนี้ เริ่มต้นการจัดซื้อที่ดินตั้งแต่ปี 2551 จนไปถึงการขออนุมัติงบประมาณเพื่อทำการก่อสร้างสำนักงานจากสภาเทศบาล ในปี 2555  จากนั้นได้ทำการประมูล จัดซื้อจัดจ้างหาผู้รับเหมา และทำสัญญาก่อสร้างกับ กิจการร่วมค้า พี เอส ที  ในปี 2556  แต่ก็ต้องยกเลิกสัญญาไป เพราะมีการร้องเรียนกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ผิดแบบ  ต่อมาในปี 2558  มีการสรรหาผู้รับเหมารายได้ คือ บริษัท เอ็ม.วี.เอส. ดีเวลลอปเม้นท์ 1998 จำกัด แต่ก็ประสบปัญหาอีกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้รับเหมาทิ้งงานและไม่จ่ายค่าจ้างคนงาน  จึงต้องยกเลิกสัญญาไปอีกครั้งในปี 2560  ในขณะที่งานก่อสร้างเดินหน้าไปได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์    กระทั่งปลายปี 2560  เทศบาลเมืองเขลางค์นคร ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาดำเนินการ คือ บริษัท ศักดิ์ทองพูน จำกัด  ด้วยวงเงิน 138.8 ล้านบาทเศษ  จนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562 

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562  นายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร  พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากรเทศบาลเมืองเขลางค์นคร  ได้ฤกษ์ทำพิธีเปิดสำนักงานเทศบาลเมืองเขลางค์นครแห่งใหม่ เลขที่ 999 ต.ชมพู อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง อย่างเป็นทางการ  พร้อมทำพิธีบวงสรวงพระพรหม หระภูมิ และเจ้าที่  พิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีสืบชะตาแบบล้านนา และเปิดใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน  รวมระยะเวลาการดำเนินการทั้งหมดกว่า 10 ปี  งานนี้ทำให้นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร อย่างนายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง ถึงกับหลั่งน้ำตา เพราะตื้นตันที่ได้มีสำนักงานอยู่เป็นของตัวเองเสียที หลังจากที่รับตำแหน่งมานานแสนนาน

อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้าง รวมถึงการแก้ไขปัญหา ทั้ง 6 เรื่องราวที่กล่าวมานี้  เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ได้รับการเปิดเผยเรื่องราวผ่านสื่อ และคาดว่ายังคงมีอีกหลายต่อหลายโครงการ ที่ยังประสบปัญหาเช่นนี้ เพียงแต่ยังไม่มีการถูกค้นพบเท่านั้น  



Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์