วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

วิถีเมี่ยงร้อยปี เสน่ห์บ้านป่าเหมี้ยงลำปาง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์
“อมเมี่ยงสักกำบ๋อ” คำทักทายยามบ่ายของชาวเหนือโบราณ เป็นคำเชิญชวนให้เพื่อนบ้าน คนรู้จักที่แวะเวียนมาพบหน้ากัน เคี้ยวใบชา ซึ่งภาษาเหนือเรียกกันว่า “เมี่ยง” หมายถึงใบชาที่ผ่านกระบวนการนึ่งหมักแล้วปรุงด้วยเกลือหรือน้ำตาล ใส่ขิงเป็นเครื่องเคียง สร้างรสชาติของความสดชื่น เพราะฤทธิ์คาเฟอีนจากใบชา และความเผ็ดของขิงเป็นของว่าง เสมือนหนึ่งการดื่มน้ำชากาแฟ แก้ง่วงในยุคนี้

หมู่บ้าน “ป่าเหมี้ยง” อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งของภาคเหนือ และในประเทศไทย ที่ยังคงรักษาวิถีอาชีพทำ“เมี่ยง” มายาวนานกว่า 100 ปี จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีใครแน่ใจว่าคนรุ่นลูกหลานจะสืบทอดเอาไว้เป็นมรดกทางวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือไม่

 

แต่อย่างไรก็ตาม บ้านป่าเหมี้ยง ก็ยังเป็นแหล่งผลิตเมี่ยงขายส่งให้พ่อค้าคนกลาง นำไปขายให้กับร้านค้าในตลาด เพื่อนำไปปั้นเป็นก้อนขนาดพอคำ ปรุงรสเป็นเมี่ยงหวาน เมี่ยงส้ม และรสดั้งเดิมแบบขมฝาดออริจินัล ขายปลีกที่มีตลาดเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังคงนิยมบริโภค “เมี่ยง” เป็นของว่างทุกวันนี้  

ลุงบุญทรัพย์ กำลังกล้า เจ้าของโรงหมักเมี่ยง รายเดียวที่เหลืออยู่ในหมู่บ้านป่าเหมี้ยง เล่าว่า เดิมทีหมู่บ้านป่าเหมี้ยง เป็นแหล่งปลูกในชามานานหลายชั่วอายุคน จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่ำกว่า 100 ปี แต่ทุกวันนี้ โรงหมักเมี่ยงเหลือเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เพราะส่วนหนึ่งชาวบ้านรุ่นเก่าเริ่มแก่ตัวไป และเลิกกิจการโรงหมักเมี่ยงในครัวเรือนกันไปมดแล้ว เหลือเพียงชาวบ้านที่ไปเก็บใบชา แล้วเอามานึ่งขายส่งให้กับลุงบุญทรัพย์ เพื่อเอาไปหมักในบ่อซีเมนต์จนได้ระยะเวลาที่เหมาะสม แล้วเอาออกมาขาย ส่งยกเข่งให้กับพ่อค้าคนกลาง มารับซื้อไปขายส่งในตลาดอักทอดหนึ่ง

 

“บ้านป่าเหมี้ยงเรามีต้นชาเก่าแก่ ปลูกตามไหล่เขาและในหมู่บ้านเต็มไปหมด วิถีชีวิตของผู้สูงอายุ หรือคนที่ไม่ออกไปทำงานที่อื่น ทุกๆวันก็จะเก็บใบชาสดในช่วงกลางวัน นำมามัดเป็นกำด้วยตอกไม้ไผ่ พอค่ำลงก็จะก่อไฟ ตั้งเตานึ่งใบเมี่ยงให้สุก รุ่งเช้าอีกวันก็นำมาขายที่โรงหมักเมี่ยง หลายปีมานั้หมู่บ้านเริ่มปลูกกาแฟอาราบิก้า ช่วงฤดูเก็บเมล็ดกาแฟก็เป็นช่วงที่รอใบชาแตกยอดใหม่ ชาวบ้านก็มีรายได้จากเก็บกาแฟ วิถีก็วนๆไปอย่างนี้ เป็นความสุขเรียบง่ายของคนที่นี่มี รายได้หลักร้อยต่อวันแต่ความสุขมีมากกว่านั้น”

 

ลุงบุญทรัพย์ เล่าต่อว่า เมื่อชาวบ้านเอาใบเมี่ยงที่นึ่งสุกแล้วมาขายส่ง ลุงก็จะรวบรวมใบเมี่ยงนึ่งจัดเรียงลงบ่อหมักซึ่งเป็นบ่อซีเมนต์ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก หมักกับน้ำสะอาด ปิดผนึกปากบ่อให้แน่นทิ้งไว้ ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ถึง 1 ปี แล้วแต่ขนาดและชนิดของใบชา ที่มีสูตรในการหมักเป็น “เมี่ยง” รสชาติต่างๆ ตามความต้องการของตลาด  สนนราคาขายส่งยกเข่ง 1,200 บาทขึ้นไป เมี่ยง 1 กำแม่ค้าในตลาดเอาไปปั้นเป็นก้อนพอคำขายปลีก ก้อนละ 1 บาทก็ได้ผลกำไรดีมาก ทุกวันนี้กำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด แต่เพราะอุตสาหกรรมทำเมี่ยงในครัวเรือนคนรุ่นใหม่ไม่สนใจทำกันแล้ว เลยต้องดำเนินไปตามธรรมชาติ ตามกำลัง

 

“เมื่อวิถีการทำเมี่ยงมันเริ่มจะหมดไป ที่นี่ก็เลยเป็นเหมือนแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน สำหรับกลุ่มที่สนใจเรื่องวิถีชุมชน มาเยี่ยมเยือนเราไม่ขาดสาย แต่ที่เราภาคภูมิใจคือวิถีการทำเมี่ยงในหมู่บ้าน เป็นสีสันของการท่องเที่ยวอีที่ดึงดูดให้ผู้คนภายนอกมาเที่ยวบ้านป่าเหมี้ยงได้ตลอดปี นอกเหนือจากการมาชมดอกเสี้ยวบานในช่วงก่อนฤดูร้อน ชาวบ้านก็มีรายได้จากการท่องเที่ยว และมาพักโฮมสเตย์ เราก็ยินดีแล้ว ส่วนอนาคตก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าวิถีทำเมี่ยงที่สืบทอดกันมายาวนานกว่าร้อยปี เมื่อถึงเวลาก็มีคนทำต่อไปเรื่อยๆเอง เพราะบ้านป่าเหมี้ยงยังไงก็ต้องทำเมี่ยงเป็นวิถีชุมชนสืบไปอยู่นั่นเอง” 

 

ความสุขของคนทำเมี่ยง ที่นี่ เป็นเหมือนเครื่องชี้วัดทางสังคมแห่งความเรียบง่าย ที่อาศัยทรัพยากรในท้องถิ่น สร้างรายได้ ในความสงบสุข ณ มุมเล็กๆในหุบเขาดอยป่าเหมี้ยงที่น่าไปเยือนนอนพักกับชาวบ้าน แล้วตื่นมา “อมเมี่ยง ซดน้ำชา กาแฟ” อุ่นๆในวันหยุดกันสักครา

เรื่อง//ภาพ :  ศชากานท์ แก้วแพร่

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์