วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563

คิดถึง ณ ลำปาง ตำนาน “หมาขนคำ” ในประเพณีสรงน้ำ “พระธาตุดอยม่วงคำ”


จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

แม้ชีวิตจะยังติดโควิด-19 แต่เราก็ยังมีความรื่นรมย์ในแต่ละวันได้ โดยสัปดาห์นี้ จะขอพารู้จักกังานสมโภชใหญ่โตซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวลำปางถือปฏิบัติและต่างรอคอยเป็นประจำทุกปีอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ "งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุดอยคำ" ซึ่งจัดตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 หรือ แรม 8 ค่ำ เดือน 9 เหนือ และเรื่องราวในตำนานอันโด่งดัง “หมาขนคำ”

“วัดพระธาตุม่วงคำ” หรือเรียกว่า “วัดดอยม่วงคำ” มีฐานะเป็นวัดชั้นราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  เดิมพื้นที่วัดเป็นป่าเขา ต่อมามีค้นพบฐานเจดีย์เก่าซึ่งสอดคล้องในตำนาน "หมาขนคำ"  หรือ "หมาขนสีทองคำ" ถือเป็นแหล่งกำเนิดตำนานที่ลือลั่นแห่งหนึ่งของ เมืองลำปาง


เล่ากันว่านานมาแล้วมีนายพรานคนหนึ่งได้เลี้ยงหมาตัวเมียไว้หนึ่งตัว มีลักษณะเป็นขนสีทองจึงเรียกกันว่า "หมาขนคำ" ขณะเดียวกันในย่านดังกล่าวไม่มีหมาตัวผู้อยู่เลย วันหนึ่งแม่หมาเกิดตั้งท้องขึ้นมา นายพรานเกรงจะถูกชาวบ้านครหาว่ามีเมียเป็นหมา จึงคิดจะกำจัดแม่หมาตัวนั้น บ้านของนายพรานอยู่ในย่านบ้านเหล่าปลดริมป่า คือบ้านเสาสูงแบบเรือนต้นไม้ ราวบันไดปลดเก็บขึ้นไว้บนเรือนเพื่อป้องกันมิให้สัตว์ร้ายขึ้นเรือนไปทำร้ายชีวิตคนบนบ้านได้ เย็นวันหนึ่ง นายพรานปลดบันไดบ้านเก็บไว้บนบ้านโดยทิ้งแม่หมาไว้ข้างล่าง โดยหวังที่จะให้เสือมาคาบแม่หมาเอาไปกิน แม่หมาก็วิ่งหนีไปถึงดอยผาสามเส้าริมดอยวัดม่วงคำ (เขตอำเภอแม่ทะ) แล้วคลอดลูกแฝดเป็นเด็กหญิงน่ารักสองคน ในแต่ละวันแม่หมาก็ไปหาอาหารมาเลี้ยงลูกน้อย และคาบเสื้อผ้าที่ชาวบ้านตากไว้บนราวตากผ้านำไปให้ลูกสาวสวมใส่

จนกระทั่งเวลาผ่านไปลูกสาวฝาแฝดทั้งสองคนเติบโตเป็นหญิงสาว คนพี่ชื่อ นางเจตะกา คนน้องชื่อนางบัวตอง กิตติศัพท์ความสวยงามของหญิงสาวทั้งสองได้รับการกล่าวขานไปถึงในเมือง และเมื่อพระยาปลัมมะโฆษา เจ้าเมืองทราบข่าว ปรารถนาจะได้ธิดาแฝดไปเป็นมเหสีซ้ายขวา จึงได้จัดขบวนวอทองไปรับสองธิดาแฝดที่ดอยผาสามเส้า ขณะที่แม่หมาไม่อยู่ ธิดาแฝดบัวตองผู้น้องแสดงความเสียใจร้องไห้คร่ำครวญถึงแม่หมา ส่วนผู้พี่มีทีท่าตื่นเต้นที่มีวาสนาจะได้เข้าไปอยู่ในวัง โดยสร้างปราสาทสองหลังให้นางเจตะกาและนางบัวตองอยู่คนละหลัง ฝ่ายแม่หมาเมื่อกลับมาถึงผาสามเส้าก็พบว่าลูกสาวหายไป ก็เห่าหอนและตะกุยหน้าผาจนเป็นรอยคล้ายเล็บเท้าฝังในเนื้อหินผา ที่ชาวบ้านเรียกว่า "รอยตีนหมาขนคำร้องไห้หาลูกสาว" มาจนทุกวันนี้

เรื่องราวดังกล่าวร้อนไปถึงพระอินทร์ จึงเนรมิตให้แม่หมาพูดได้ เพื่อออกตามหาลูกสาวถึงในเมือง จนกระทั่งมาถึงปราสาทของ "นางเจตะกา" แต่ด้วยความอับอายที่มีแม่เป็นหมา จึงสั่งให้ทหารทำร้ายแม่หมาจนได้รับบาดเจ็บจนต้องวิ่งหนีไปที่ปราสาทของ "นางบัวตอง" ซึ่งรีบวิ่งมารับแม่หมาไปเยียวยารักษา ให้ข้าวให้น้ำแก่แม่หมา ขณะเดียวกัน นางบัวตอง ได้ทูลขอหีบขนาดใหญ่จากสวามี โดยบอกว่าจะเอาไปขนสมบัติที่ผาสามเส้า ภายในกำหนดเวลาเจ็ดวัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว นางได้นำหีบไว้เป็นที่ซ่อนของแม่หมาในวัง เมื่อครบเจ็ดวันแล้ว แม่หมาทนพิษบาดแผลไม่ไหวก็สิ้นใจตาย พระอินทร์ได้เนรมิตร่างแม่หมาให้กลายเป็นแก้วแหวนเงินทอง สร้างความพึงพอพระทัยแก่พระยาเจ้าเมืองเป็นอย่างมาก จึงทรงโปรดปรานนางบัวตองเป็นอันมาก แล้วทรงให้นางบัวตองไปขนสมบัติที่ผาสามเส้าอีกครั้งหนึ่ง ฟาก "นางบัวตอง" มีความเสียใจที่แม่หมาเสียชีวิต จึงคิดกระโดดหน้าผาจะฆ่าตัวตาย แต่บริเวณข้างล่างของหน้าผาเป็นที่อยู่ของยักษ์ซึ่งป่วยเป็นฝีกลัดหนองต้องทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดมาก ครั้นเมื่อนางบัวตองกระโดดลงไปกระทบกับร่างของยักษ์ทำให้ฝีแตก ความทรมานก็หายเป็นปลิดทิ้ง  เหตุนี้ยักษ์จึงมอบทรัพย์สมบัติให้นางบัวตองเป็นอันมาก และนางบัวตองก็ได้นำสมบัติกลับวังมาถวายพระยาปลัมมะโฆษา อีกครั้ง



ข้างฝ่าย "นางเจตะก"า เมื่อทราบข่าวว่ารู้สึกอิจฉาน้องสาว จึงอาสาพระยาปลัมมะโฆษา ว่าจะไปขนสมบัติที่ผาสามเส้าบ้าง เมื่อไปถึงผาสามเส้านางเจตะกาก็กระโดดหน้าผาตามที่นางบัวตองแนะนำ แต่เป็นด้วยนางเป็นคนไม่ดีขึ้นไปบนหน้าผาเห็นนางยักษิณีผีเสื้อห้วยนอนหลับอยู่ นางก็ยกเท้าขึ้นเหยียบผีเสื้อสะดุ้งตื่น จึงพูดว่านางผู้นั้นหมิ่นประมาทกูและไม่รู้จักบุญคุณพ่อแม่บาปกรรมอันนั้นคงมาตามทัน จึงได้จับเอานางฉีกกินเป็นอาหาร

นับแต่นั้นมานางศรีบัวตองก็ได้อยู่ในปราสาทราชมณเฑียรร่วมกับพระยาปรมะโฆสาด้วยความสุขความเจริญ แล้วทรงมีพระราชบุตรสองพระองค์มีนามว่า เจ้าศรีบุญเรือง และเจ้าบุญศิริราชกุมาร และได้บำเพ็ญพระราชกุศลตราบเท่าสวรรคต แล้วได้ไปบังเกิดในสรวงสวรรค์เสวยทิพยสมบัติเป็นใหญ่กว่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายสุขเกษมสำราญในวิมานชั้นฟ้านั้น ตามตำนานพระธาตุดอยม่วงคำก็มีเท่านี้


สำหรับวัดพระธาตุดอยม่วงคำ มีทางเข้าอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร บริเวณชุมชนบ้านหัวฝาย หมู่ 4 ตำบลกล้วยแพะ ส่วนองค์พระธาตุอยู่ในเขตอำเภอแม่ทะ ซึ่งได้รับความนับถือจากชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลกล้วยแพะ และประชาชนในเขตอำเภอแม่ทะ โดยในอดีตมีการประกอบพิธีสรงน้ำพระธาตุ เพื่อเป็นการสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระธาตุดอยม่วงคำ ซึ่งมีการปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานจนเป็นประเพณี เมื่อถึงเดือนเก้าเหนือ ประชาชนชาวไทลื้อและศรัทธา พุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศจะขึ้นไปสักการะพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ดอยม่วงคำสถาน ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีพระบรมเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุใน องค์พระธาตุ จะมีการจัดงานจัดขึ้นปีละครั้งทุกเดือน 9 เหนือ บันไดทางขึ้นสู่พระธาตุจำนวนเกือบ 500 ขั้น

อีกทั้งที่วัดพระธาตุดอยม่วงคำแห่งนี้ ยังมีหลักฐานที่ตำนานกล่าวอ้างไว้จริงหลายแห่งเช่น ณ ผาสามเส้า ทางวัดได้สร้างรูปปั้นของนางบัวแก้ว นางบัวตอง และนางสุนัข ไว้เป็นอนุสรณ์ เพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชา นอกจากบริเวณพระธาตุนี้ยังมีต้นมะม่วงป่า 2 ต้น มีรอยช้างหมอบ และรอยเท้าสุนัข เป็นต้น และเพื่อสืบสานและส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไปทุกๆ ปี เทศบาลเมืองเขลางค์นครร่วมกับชาวตำบลกล้วยแพะจึงจัด งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดดอยม่วงคำขึ้น ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ สรงน้ำพระธาตุดอยม่วงคำ สวดเบิก/ทำบุญตามจุดต่างๆ 6 จุด และมหรสพสมโภช เช่น ซอพื้นเมือง, รำวงย้อนยุค และอื่นๆ อีกมาก...ที่สำคัญหากเดินทางไปนมัสการพระธาตุคอยคำม่วงในช่วงฤดูหนาว นอกจากนักท่องเที่ยวยังจะได้สัมผัสกับอากาศเย็นสบายแล้ว ยังจะได้ชมวิวทิวทัศน์ของทะเลหมอกแบบสุดลูกหูลูกตา อีกด้วย

สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อที่ “ประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดม่อนพระยาแช่” นอกจากพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว มาดูว่าจะมีเรื่องเล่าอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง
                                                                                เรื่อง : กอบแก้ว แผนสท้าน
                                                                                ภาพ : Thai PBS, Dannipparn.com


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์