
1.นายนพวัชร สิห์ศักดา-นายวิรุฬ พรรณเทวี
เยี่ยมชมฝายอุปโภคบริโภค
2.นายอินทร บุญยศ
3.ระบบท่อ PE เข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตร
4.ชาวบ้านสาธิตการทำฝายเพื่อการเกษตร
5.ถังบรรจุน้ำเพื่อส่งต่อน้ำให้แก่ 5 หย่อมบ้าน
6.ชาวบ้านกับพืชผลทางการเกษตร
แม้ว่า "บ้านแม่กอน" หรือ
"บ้านแม่ก๋อนหมู่" ตำบลทุ่งข้าวพวงในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง
จะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ของอำเภอเชียงดาว
อีกทั้งยังเป็นบ้านแรกที่รับน้ำจากลุ่มน้ำแม่กอนหลวง 4 ลำน้ำหลัก คือ ลำน้ำแม่กอนหลวง ลำน้ำแม่กอนกลาง ลำน้ำแม่กอนน้อย
และลำนำห้วยเฮี้ย มีต้นทุนน้ำไหลรวม 3.79 ล้านลิตร/วัน
(ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563) ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง
หนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญที่ไปบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่กลับประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร
ด้วยเหตุนี้ปี 2563
จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา เสนอให้
สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ
ดำเนินโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.) เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ของจังหวัด
ในการดำเนินโครงการพัฒนาเร่งด่วน ซึ่งแล้วเสร็จทั้ง 3
จังหวัด และอยู่ในระหว่างการทำแผนพัฒนาต่อยอดอาชีพในระยะต่อไป ซึ่ง "บ้านแม่กอน"
ได้รับการบรรจุให้อยู่ในโครงการซ่อมแซม ปรับปรุง
เสริมศักยภาพระบบส่งน้ำด้วยท่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ด้วยเช่นกัน ในโอกาสนี้ทาง
สถาบันฯ ปิดทองหลังพระฯ โดย นายนพวัชร
สิห์ศักดา ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ
สืบสานแนวพระราชดำริ ได้นำคณะสื่อสัญจรศึกษาดูงาน
"ชุมชุนเข้มแข็ง สิบสานแนวพระราชดำริ" ภายใต้โครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ
(พื้นที่ขยายผล) โดยได้รับเกียรติจาก นายวิรุฬ พรรณทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
พร้อมด้วย นายศรัณยวิทย์ ทอดเสียง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแดง ฯลฯ ร่วมชมฝายเกษตร-ฝายอนุรักษ์ โดยชุมชุนมีส่วนร่วม รวมถึงการศึกษาวิถีชีวิตชุมชน
ชาติพันธุ์ต่างๆ ใน 7 หย่อมบ้าน
นายนพวัชร สิห์ศักดา
ที่ปรึกษาสถาบันฯ ปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงราย
เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ (พ.ศ.2562-2565)
ได้กำหนดให้นำการพัฒนาทางเลือกด้วยศาสตร์พระราชา
มาเป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
โดยมอบหมายให้สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ
รับผิดชอบด้านการสร้างคนและระบบการพัฒนา รวมถึงการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ
สร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานราชการผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และพะเยา 19 อำเภอ 119 ตำบล
ภายหลังการอบรม
ผู้ผ่านการอบรมที่ได้เรียนรู้การทำงานแบบปฏิบัติจริงได้เสนอโครงการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ตรงกับความต้องการของชุมชน
57 โครงการ เป็นโครงการที่สมทบงบประมาณร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และสถาบันฯ ปิดทองหลังพระฯ ในสัดส่วน 60:40
ผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานกลั่นกรองโครงการฯ
เป็นโครงการด้านการพัฒนาระบบน้ำทั้งหมด มีผู้รับประโยชน์ 15,363 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 19,563 ไร่ ดำเนินการแล้วเสร็จ 23
โครงการ อยู่ระหว่างการทำแผนพัฒนาต่อยอดหลังมีระบบน้ำแล้ว
"สำหรับที่หมู่บ้านแม่กอน
ปัญหาที่มีการสำรวจแต่ละหย่อมบ้านที่สรุปได้คือเกิดจากระบบประปาภูเขา ชำรุดเสียหาย
อุดตัน ระบบส่งน้ำมีขนาดเล็ก ไม่มีฝายกั้นน้ำเข้าท่อ
ปริมาณน้ำในลำน้ำลดลงช่วงหน้าแล้ง หน้าฝนน้ำเป็นสีแดงต้องผ่านการกรองก่อนนำไปใช้
การขาดแคลนน้ำใช้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขอันดับแรก จึงจัดทำโครงการ Quick
Win ด้วยการทำระบบน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม
เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธา
และการมีส่วนร่วมของชาวบ้านก่อนที่จะเกิดการพัฒนาระยะต่อไปเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา มีการดำเนินงานไปแล้ว 3 ระยะ" นายนพวัชร เผย
โดยระยะที่
1 เป็นงานซ่อมแซม ปรับปรุงระบบส่งน้ำ 5 หย่อมบ้าน
ได้แก่หย่อมบ้านลีซู สันต้นเปา ดอยนาหลวง ดอยจะลอ และคนเมือง ผู้รับประโยชน์ 219 ครัวเรือน ได้ระบบส่งน้ำดีขึ้นไม่รั่วซึม ระยะที่ 2
งานสร้างฝายน้ำอุปโภคบริโภคและฝายเกษตร 3 ลำน้ำ
ได้แก่ลำน้ำกอนหลวง กอนกลางและกอนน้อยเป็นฝายอุปโภค บริโภค 3
ตัว ฝายเกษตร 3 ตัว และต่อระบบส่งน้ำ 5
จุด ทำให้ชาวบ้าน 7 หย่อมบ้าน 325
ครัวเรือน มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดปี ซึ่งการจัดสร้างฝายน้ำเพื่อการเกษตร 3 ตัว ผู้รับประโยชน์ 25 รายเนื้อที่ 139.5 ไร่ ได้น้ำไปใช้ในแปลงเกษตรอย่างเพียงพอ
ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการปลูกข้าวและพืชหลังนา และระยะที่ 3
เป็นการต่อระบบท่อ PE ลำน้ำกอนหลวง ระยะทางรวม 6.25 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการหลังจากชาวบ้านว่างเว้นจากฤดูการทำนา
ในฐานะผู้นำชุมชุน นายอินทร บุญยศ
ผู้ใหญ่บ้านแม่กอน หมู่ 2 ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว
จ.เชียงใหม่ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการทั้ง 3 ระยะแล้วเสร็จในเวลาไม่นาน เกิดจากการสละแรงงานของชาวบ้านร่วมกันโดยไม่มีค่าจ้าง
กับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ ทหารม้า ฉก.ม.4 ชุดพลังมวลชน 3203 ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนที่ 307 อุทยานแห่งชาติผาแดง ตชด. แพทย์ รพ.สต. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลทุ่งข้าวพวง
อส. ซึ่งภายหลังจากที่ระบบน้ำในหมู่บ้านได้รับการแก้ไขไปเรียบร้อยแล้ว
จากนี้ได้มีการวางแผนร่วมกันในชุมชนว่าจะทำการขุดบ่อเลี้ยงปลา, เลี้ยงหมู
และปลูกพืชผลทางการเกษตรเพิ่ม เน้นไว้สำหรับใช้อุปโภค บริโภคในครัวเรือนแบบพอเพียง
ถ้าเหลือจึงนำไปจำหน่ายต่อไป
“ทั้งนี้ บ้านแม่กอน มีชาวบ้านที่อาศัยประกอบด้วย
7 ชนเผ่าได้แก่ ลาหู่แดง ลาหู่ดำ ลาหู่เหลือง ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ลีซู
คนเมือง ที่แยกอาศัยอยู่ตามหย่อมบ้านต่างๆ 7 หย่อมบ้านได้แก่
หย่อมบ้านดอยจะลอ, หย่อมบ้านใหม่พัฒนา, หย่อมบ้านสันต้นเปา, หย่อมบ้านดอยนาหลวง, หย่อมบ้านกะเหรี่ยง, หย่อมบ้านลีซู, และหย่อมบ้านแม่ก๋อน มีจำนวนรวมประชากร 1,521 คน
หลังคาเรือนทั้งสิ้น 321 หลังคาเรือน อาศัยอยู่จริง 273 หลังคาเรือน” นายอินทร กล่าว
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น