วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"เวียงลคอร" บางช่วงบางตอนเมืองลำปาง


จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

สวัสดีเดือนสิงหาคม ผ่านไปแว้บๆ เรามาถึงเดือนที่ 8 ของปี 2563 กันแล้ว และเมื่อช่วงต้นเดือนซึ่งล่วงเลยมาเพียงไม่กี่วัน ที่จัดหวัดลำปางได้จัดงาน "ห่มผ้าพระเจ้า-เล่าเรื่องชมลคอร" โดยมีกิจกรรมนั่งรถม้าอัญเชิญผ้าสีทองห่มพระเจ้าจากสถานปฏิบัติธรรมหลวงพ่อเกษม เขมโก ไปยังวัดม่อนปู่ยักษ์ จ.ลำปาง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1,300 ปี ที่ได้ร่วมกิจกรรมห่มผ้าพระเจ้าและเที่ยวชมวัด รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองลคอร จังหวัดลำปาง


สำหรับกิจกรรมครั้งนี้นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกิจกรรมนั่งรถม้าอัญเชิญผ้าสีทองห่มพระเจ้าจากสถานปฏิบัติธรรมหลวงพ่อเกษม เขมโก แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกประการขอยกให้กับคำว่า "ชมลคอร" อ่านว่า "ชม ละ คอน"  จนต้องไปเที่ยวหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จนได้ทราบว่าแท้จริงแล้ว "ลคอร" หรือ เวียงละกอน เป็นอีกชื่อหนึ่งของ "จังหวัดลำปาง"  เช่นเดียวกับ เขลางค์นคร, นครลำปาง,  เมืองรถม้า หรือแม้แต่ เมืองชามตราไก่ ทั้งนี้ชื่อเรียกเหล่านี่ล้วนมีความสัมพันธ์กับเอกลักษณ์มาตั้งแต่อดีตกาล



ในสัปดาห์นี้จึงเกิดความคิดอยากนำข้อมูลของชื่อ "เวียงลคอร" เล่าสู่กันฟัง....ประวัติศาสตร์เมืองลำปาง เป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า1,300 ปี ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (พระนางจามเทวี) เป็นต้นมา คือ ราวพุทธศตวรรษที่13 ชื่อของเมืองเขลางค์อันเป็นเมืองในยุคแรกๆ และเมืองนครลำปาง ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งจากตำนานศิลาจารึกพงศาวดาร และจากคำที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ตำนานจามเทวี, ชินกาลบาลีปกรณ์, ตำนานมูลศาสนา, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม, ตำนานเจ้าเจ็ดตน หรือ พงศาวดารโยนก



"ละกอน" หรือ "ละคร"(นคร) เป็นชื่อสามัญของเมืองเขลางค์ ที่นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในตำนานและภาษาพูดโดยทั่วไป แม้แต่จังหวัดใกล้เคียง เช่น แพร่ น่าน เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ มักจะเรียกชาวลำปางว่า "จาวละกอน" ซึ่งหมายถึง ชาวนคร คำว่า "ละกอน" มีชื่อทางภาษาบาลีว่าเรียกว่า "เขลางค์" เช่นเดียวกับ "ละพูร" หรือ "ลำพูน" ซึ่งทางภาษาบาลีเรียกว่า "หริภุญชัย" และเรียกลำปางว่า "ลัมภกัปปะ" ดังนั้น "เมืองละกอน" จึงหมายถึงบริเวณอันเป็นที่ตั้งของเมืองเขลางค์ คือ เมืองโบราณรูปหอยสังข์ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวังอยู่ในตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง



"เมืองเขลางค์" เป็นเมืองคู่แฝดกับ "เมืองหริภุญชัย" มีชื่อในตำนานว่า เมืองละกอน หรือลคร ภายหลังจากสมัยพระเจ้าอนันตยศแล้ว สภาพของเมืองฝาแฝดกับหริภุญชัยก็หมดไป สันนิษฐานว่า "เขลางค์นคร" มีเจ้าผู้ครองต่อมาอีกประมาณ 500 ปี แต่ไม่ปรากฏพระนาม ในหลักฐานหรือเอกสารใดๆ จนกระทั่งถึง พ.ศ.1755 ได้ปรากฏชื่อของเจ้านายเมืองเขลางค์พระองค์หนึ่งมีพระนามว่า "เจ้าไทยอำมาตย์แห่งเขลางค์" ได้แย่งชิงอำนาจจาก "พระยาพิณไทย" เจ้าเมืองลำพูนแล้วสถาปนาพระองค์ปกครองหริภุญชัยสืบต่อกันมาถึง 10 รัชกาล จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบา ก็สูญเสียอำนาจให้แก่พระยามังราย ใน พ.ศ. 1844



ยุคที่สองสมัยลานนาไทย...เมืองเขลางค์ยุคที่ 2 เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยลานนาไทย มีเนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ กำแพงยาว 1,100 เมตร ตั้งอยู่ในตำบลเวียงเหนือ อยู่ถัดจากเมืองเขลางค์ยุคแรกลงมาทางใต้ เป็นเมืองที่ก่อกำแพงด้วยอิฐ ประตูเมืองที่มีชื่อปรากฏคือ ประตูเชียงใหม่ ประตูนาสร้อย ประตูปลายนาอันเป็นประตูที่อยู่ร่วมกับประตูนกกต ตอนท่อนหัวสังข์ของตัวเมืองเก่าและประตูป่อง ที่ประตูป่องยังคงมีซากหอรบ รุ่นสมัยเจ้าคำโสมครองเมืองลำปาง ซึ่งได้ใช้เป็นปราการต่อสู้กับพม่าครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ. 2330 พม่าล้อมเมืองอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งกองทัพทางกรุงเทพฯ ยกขึ้นมาช่วยขับไล่พม่าแตกพ่ายไป

เมืองเขลางค์สมัยลานนาไทย ได้รวมเอาเมืองเขลางค์ยุคแรก (เมืองรูปหอยสังข์) กับเมืองเขลางค์ยุคใหม่เช้าด้วยกัน ตั้งอยู่เขตฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำวัง ซึ่งเรียกกันอย่างแพร่หลายในตำนานต่าง ๆ ของทางเหนือว่า"เมืองละกอน"



ความสำคัญของเมืองละกอนในสมัยราชวงศ์เม็งราย (พ.ศ.1839 - 2101)...เมื่อพระเจ้าเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี ในปี พ.ศ.1839 แล้ว ได้แผ่ขยายอิทธิพลมาครอบครองลำพูน และเมืองลคร (เขลางค์) กล่าวคือในพ.ศ.1844 พระเจ้าเม็งรายโปรดให้ขุนคราม โอรส ยกกองทัพไปตีเมืองลำพูน พระยายีบาสู้ไม่ได้ จึงอพยพหนีมาพึ่ง พระยาเบิกพระอนุชาที่เมืองลคร (เขลางค์) กองทัพของพระเจ้าเม็งราย ซึ่งมีขุนครามเป็นแม่ทัพ ได้ยกติดตามมาประทะกับกองทัพของพระยาเบิก ที่ริมน้ำแม่ตาล ปรากฏว่าพระยาเบิก เสียชีวิตในการสู้รบ ส่วนพระยายีบาเจ้าเมืองลำพูน ได้พาครอบครัวหนีไปพึ่งเจ้าเมืองสองแคว (พิษณุโลก ) ประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์ จึงสิ้นวงศ์เจ้าผู้ครองเขลางค์ยุคแรก

ส่วนคำว่า "ลำปาง" ที่ใช้เรียกขานในปัจจุบัน เป็นชื่อที่ปรากฎหลักฐานอย่างชัดแจ้งในตำนานพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า "ลัมภกัปปนคร" ตั้งอยู่บริเวณลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปาง ไปทางทิศใต้ตามแม่น้ำวังประมาณ 16 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน ตัวเมืองลัมภกัปปนคร มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
เรื่อง :  กอบแก้ว แผนสท้าน
ภาพ:  ททท.สำนักงานลำปาง


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์