วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ผู้ตรวจการแผ่นดินติดตามปัญหารุกป่าม่อนแจ่ม ร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนบริหารจัดการพื้นที่ให้อยู่ร่วมกันได้

 

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์ 

เมื่อวันที่ 3  พ.ย.63 พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พันโทเทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 และคณะ ลงพื้นที่ม่อนแจ่ม ร่วมกับนายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) และนายพีระชาติ เรืองประดิษฐ์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) ตำบลโป่งแยง และตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นำที่ดินไปใช้ประกอบธุรกิจที่พัก – รีสอร์ท ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวงหนองหอย ชี้หน่วยงานต้องพิสูจน์สิทธิให้ชัดเจน มุ่งรักษาป่าพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ วางแนวทางสร้างวิสาหกิจชุมชนอย่างเหมาะสมยั่งยืน


พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ประกอบการธุรกิจที่พักในพื้นที่ม่อนแจ่มร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน กรณีถูกกรมป่าไม้ดำเนินคดีอาญาในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และประกาศให้ระงับการประกอบธุรกิจ อีกทั้งมีคำสั่งให้รื้อถอนสถานประกอบการนั้น   ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมพบปะประชาชนที่เดือดร้อนจากกรณีดังกล่าว โดยพบว่าป่าแม่ริมเป็นต้นน้ำลำธารจัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ มีขนาดพื้นที่กว่า 13,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่โครงการหลวงหนองหอยขอใช้ประมาณ  2,000 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ใช้ที่ดินทำเกษตรกรรมทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งมีราษฎรเข้าร่วมโครงการประมาณ 900 กว่าราย แต่ปัจจุบันได้มีการแปรสภาพการใช้ประโยชน์ของที่ดินจากเกษตรกรรมเป็นธุรกิจที่พัก – รีสอร์ท จำนวน 113 ราย  โดยเป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์ จำนวน 82 ราย และถูกดำเนินคดีแล้ว 31 ราย เนื่องจากเข้าข่ายกระทำความผิดชัดเจน นำที่ดินไปใช้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวงหนองหอย รวมทั้งมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม เปลี่ยนมือเจ้าของ หรือขายกิจการให้นายทุนนอกพื้นที่ แต่ราษฎรที่ทำเกษตรกรรมในพื้นที่ตามโครงการหลวงฯ เดิมและไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติมจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้


พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า สำหรับการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกิน ว่าราษฎรอยู่อาศัยมาก่อนประกาศเขตป่า 2507  หรือก่อนการประกาศให้โครงการหลวงฯ เข้ามาใช้พื้นที่ม่อนแจ่ม ให้นำมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 และมติคณะรัฐมนตรี 11 พฤษภาคม 2542 ที่ให้นำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ 2545 มาใช้ในการพิสูจน์สิทธิการครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนั้น จึงต้องอาศัยทั้งการอ่านภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศและการสำรวจรับรองแนวเขตเมื่อปี 2552 มาประกอบในการพิสูจน์สิทธิการทำประโยชน์ในแต่ละแปลง

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนแม่บทบริหารจัดการพื้นที่และการอยู่ร่วมกันของชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่ทำลายซึ่งกันและกัน คงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ดังเดิม อาจมีการพัฒนาในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนหรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์