วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กฐินดอยคำ “สานต่อเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาวัดอย่างยั่งยืน”

 

จำนวนผู้เข้าชม counter for blog


การพัฒนาวัดของชุมชน ทั้งฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงาม และบูรณปฏิสังขรณ์วัดอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักพุทธสถาน ทำให้เกิดประโยชน์มากมายต่อวิถีชุมชนและสังคมที่อุดมด้วยสีสันประเพณี วัฒนธรรมที่น่าสนใจ  เหตุนี้ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งมุ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมพัฒนาชุมชนรอบโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปตามหลักการบ้านวัดโรงเรียนและโรงงานหลวงฯ (บ-ว-ร-ร) จัดทำโครงการ “วัดของเรา วัดของชุมชน” เพื่อบูรณะและปรับปรุงทัศนียภาพวัดของชุมชนจำนวน 4 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น ภาคเหนือ และ ภาคอีสาน ได้แก่ วัดทุ่งจำลอง อ.ฝาง ใกล้โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่, วัดป่าห้า (เบญจพัฒนมงคล) อ.แม่จัน ใกล้โรงงานหลวงฯ ที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย วัดนางอย ใกล้โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร และวัดซับสมบูรณ์ ใกล้ที่ตั้งโรงงานหลวงฯ ที่ 4 (ละหานทราย) จ.บุรีรัมย์

 


กิจกรรมใหญ่ภายใต้โครงการ “วัดของเรา วัดของชุมชน” เป็นการจัด "กฐินดอยคำ ประจำปี 2563" เพื่อสืบสานประเพณีสำคัญหลังออกพรรษาของชาวพุทธ ทำนุบำรุงวัดใกล้โรงงานหลวงฯ ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจและสถานที่ถ่ายทอดประเพณีหลักธรรมคำสอนสู่คนในชุมชนโดยเฉพาะปลูกฝังศีลธรรมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รู้จักผิดชอบชั่วดี

 

เส้นทางบุญแรก ดอยคำยกกองผ้าป่าขึ้นดินแดนล้านนาที่วัดทุ่งจำลอง เริ่มด้วยการแต่งองค์กฐินและเตรียมเครื่องบริวารกฐินในวันสมโภชกฐินตามประเพณีค่ำคืนวันที่ 26 ต.ค. ก่อนจะมีการทอดกฐินในเช้าวันรุ่งขึ้น 27 ต.ค. โดยมีชาวดอยคำ หน่วยงานภาคีและชุมชนร่วมสืบสานประเพณี เข้าขบวนแห่และร่วมในพิธีอย่างคึกคักด้วยศรัทธาอันแรงกล้า

 


นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า โครงการวัดของเรา วัดของชุมชน ดอยคำมีความร่วมมือกับวัดภายในชุมชนใกล้โรงงานหลวงฯ และเป็นวัดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ มาทรงเยี่ยมพสกนิกร การพัฒนาวัดจะผ่านกองทุนกฐินดอยคำเพื่อร่วมปรับปรุงพื้นที่ภายในวัดทั้ง 4 แห่งให้มีเขตพุทธาวาส สังฆาวาส และธรณีสงฆ์ที่ถูกต้อง มีภูมิทัศน์ที่สวยงามเหมาะสมกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน วัดในภาคเหนือร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแบบพื้นที่ให้ถูกต้องตามประเพณีล้านนา ส่วนวัดในภาคอีสานร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกแบบปรับปรุง พร้อมกันนี้ยังให้วัดของเรา วัดของชุมชน พัฒนาสมองและสร้างปัญญาแก่ชาวชุมชน อย่างวัดทุ่งจำลองที่ร่วมพัฒนาตั้งแต่ปี 2559 ทุกเดือนในวันธรรมะสวนะ หรือวันพระ สนับสนุนให้ชาวบ้าน พนักงานดอยคำและเยาวชนในพื้นที่มาอบรมบ่มเพาะหลักธรรมซึ่งขาดหายไปในคนยุคนี้ เช่น ศีล 5, อริยสัจสี่, พรหมวิหารสี่ รวมถึงธรรมสำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง หรือทศพิธราชธรรม ก่อนจะฝึกปฏิบัตินั่งสมาธิ

 


ดอยคำมุ่งมั่นสร้างวัดที่เป็นต้นแบบการพัฒนาวัดที่ยั่งยืน เป็นสถานที่เผยแผ่พระธรรมคำสอนและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา เพื่อดึงวัฒนธรรมที่ดีงามกลับคืนมา และสานต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนด้วย หากโครงการสำเร็จ โมเดลนี้จะขยายผลกับวัดอื่นๆ ต่อไป" นายพิพัฒพงศ์กล่าว และว่า ยอดกฐินดอยคำรวมกว่า 1.3 ล้านบาทจะใช้พัฒนาทั้ง 4 วัด โดยมีแผนงานบริหารจัดการร่วมกันเป็นระยะ

 

พระครูโกวิทพัฒน์วิเชียร เจ้าอาวาสวัดทุ่งจำลอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า วัดของเราเก่าแก่กว่า 100 ปี อยู่คู่กับ ต.แม่งอน อ.ฝาง เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทุ่งหลุก, บ้านใหม่ทุ่งเจริญ และบ้านใหม่หลวง ก่อนหน้านี้โรงงานหลวงฯ ร่วมทำกิจกรรมและช่วยเหลือชาวบ้านแนะนำความรู้ด้านการเกษตร รับซื้อผลผลิตสร้างงาน สร้างรายได้ จนปี 59 วัดร่วมโครงการวัดของเราฯ เพราะยึดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ในการพัฒนาเหมือนกัน นำมาสู่การตั้งกองทุนกฐินดอยคำ ซึ่งใช้ปรับปรุงถนน ร่องระบายน้ำ เพิ่มแสงสว่างภายในวัด ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ซ่อมแซมพื้นไม้ รวมถึงปูพื้นไม้ศาลาปฏิบัติธรรม ซึ่งคนจาก 3 หมู่บ้านใช้เป็นสถานที่อบรมธรรมะ โดยค่าใช้จ่ายในการพัฒนามีความโปร่งใส ตั้งคณะกรรมการร่วมกันดูแลตรวจสอบ

 

การพัฒนาวัดไม่เน้นสิ่งปลูกสร้าง แต่มุ่งสร้างสติปัญญาให้กับชุมชน มาวัดไม่ต้องมีเงินก็ได้ ทำให้ชาวบ้านสบายใจ วัดต้องเป็นที่พึ่งชุมชน ผลการพัฒนาสร้างความสามัคคีและระเบียบวินัยให้เกิดขึ้นในชุมชน ปรับสู่ประเพณีปลอดเหล้า กฐินดอยคำจัดแบบเรียบง่าย ไม่ได้หวังยอดเงิน แต่ช่วยรักษาอานิสงส์ทำบุญกฐินไว้ช่วยสืบทอดพุทธศาสนาและทำให้จิตบริสุทธิ์ ผ่องใส ทางวัดวางแนวทางสู่วัดเศรษฐกิจพอเพียงและศูนย์กลางการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอยู่คู่กับชุมชน ช่วยแก้ปัญหาชุมชน" พระครูโกวิทพัฒน์วิเชียร กล่าว

 


 

สำหรับกิจกรรมกฐินดอยคำปีนี้ยึดมั่นในวัฒนธรรม ประเพณี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายในงานยังมีนิทรรศการ "โครงการดอยคำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อยอดสู่ชุมชน : กิจกรรมรับบริจาคขวดพลาสติก PET" ซึ่งร่วมกับบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) สร้างความตระหนักรู้เรื่องการจัดการขยะภายในชุมชน และนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า

 

เส้นทางร่วมบุญกฐินครั้งต่อมาในวันที่ 29 ต.ค. เป็นการยกกองไปที่วัดป่าห้า จ.เชียงราย จากนั้นจะย้ายสายไปอีสานเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่วัดนางอย จ.สกลนคร และวันที่ 5 พ.ย. ที่วัดซับสมบูรณ์ จ.บุรีรัมย์ ประชาชน นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ประชาชนในท้องถิ่นให้สนใจสามารถร่วมงานทอดกฐินเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นร่วมสร้างความยั่งยืนการพัฒนาวัดและชุมชนไปด้วยกัน

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง/ภาพ

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์