วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

อบต.วอแก้วจับมือคณะเกษตรฯ ม.ราชภัฎลำปาง จัดการขยะในพื้นที่กลายเป็นศูนย์ แปลงเป็นก๊าซชีวิภาพใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ด้วยความร่วมมือของชุมชน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์


นายอินจันทร์ มันวิสัย นายก อบต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร  เปิดเผยว่า ในพื้นที่ ต.วอแก้ว เดิมต้องนำขยะไปทิ้งในป่าเขตดอยอุทยานขุนตาล จึงประชุมหาวิธีร่วมกันว่าจะจัดการขยะในพื้นที่ ต.วอแก้ว อย่างไรให้เป็นศูนย์  ซึ่งใน ต.วอแก้ว มี 7 หมู่บ้าน 1,600 ครัวเรือน ประชากร 4,200 กว่าคน เมื่อปี 2557 มีขยะ 4 ตันต่อวัน  เราได้รณรงค์ทุกรูปแบบ ทั้งคัดแยกขยะจากต้นทาง ประชุมทุกหมูบ้าน ให้มีการคัดแยกขยะและช่วยกันกำจัด เพราะไม่มีรถขนและไม่มีบ่อทิ้ง  เลยปรึกษากันว่าจะแยกขยะขายเพื่อให้ได้เงิน และเริ่มทำมาได้ประมาณ 1  ปี กลับมาสำรวจอีกครั้งพบว่าขยะในตำบลลดเหลือวันละ 2 ตัน  ซึ่งจะเป็นส่วนของพลาสติก ถุงกาแฟ ถุงขนม กล่องนมต่างๆ  เพราะไม่มีคนรับซื้อ   จึงหารือกับกรรมการว่าจะกำจัดขยะที่เหลือได้อย่างไร ต่อมาได้ประสานไปยังบริษัทกรีนไลท์ที่ จ.พะเยา รับซื้อพลาสติก จึงทำการคัดแยกและอัดขยะส่งขาย กระทั่งปี 59-60 ได้สำรวจอีกครั้งพบว่าขยะเหลือไม่ถึง 1,000 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นส่วนของขยะเปียก  เลยได้หารือขอทางนักวิชาการเข้ามาช่วยเหลือ โดยมีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ช่วยระดมความคิดว่าจะนำขยะเปียกไปทำอะไร จึงสรุปได้ว่านำมาทำเป็นแก๊สชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่งด้วย

นายอินจันทร์ มันวิสัย นายก อบต.วอแก้ว

          ผศ.ดร.นันทินา ดำรงวัฒนกูล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง  หัวหน้าโครงการวิจัย “การประยุกต์ใช้และเรียนรู้เทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วม 5 พลังประสานเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ของชุมชน ใน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง “  กล่าวว่า การนำขยะมาทำก๊าซชีวภาพในชุมชน ซึ่งทาง ต.วอแก้ว มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายสามารถนำมาบริหารจัดการได้  โดยเน้นมูลสัตว์และขยะเปียกมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแก๊สชีวิภาพ  นำมูลสัตว์หรือขยะเปียก 3 ส่วน มาผสมกับน้ำ 1 ส่วน ใช้เวลาหมักไว้ประมาณ 15-20 วัน ก็จะเกิดแก๊สมีเทนที่นำไปหุงต้มได้  ทำให้ประหยัดแก๊สในการหุงต้ม ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง จากชุมชนที่เคยมีเศษขยะจำนวนมากก็ทำให้ขยะหายไป และยังได้รับการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ด้านเกษตรอินทรีย์ นอกจากนั้นทางโครงการได้ต่อยอดในการเพิ่มมูลค่า สนับสนุนการแปรรูปน้ำพริก รวมถึงการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมด้านการตลาดออนไลน์ด้วย 

ผศ.ดร.นันทินา ดำรงวัฒนกูล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร 

            นายสายัณห์ ฉัตรแก้ว หัวหน้าสำนักปลัก อบต.วอแก้ว กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยมีความรู้ในการคัดแยกขยะเลย เป็นสิ่งที่ยากมากในการทำความเข้าใจ เมื่อพูดถึงขยะชาวบ้านก็จะไม่รับฟัง เนื่องจากความเคยชินที่เคยทิ้งรวมกันมา  จึงได้เริ่มจากการพยายามหาแนวร่วมจากผู้นำหมู่บ้านก่อน ถ้าผู้นำเอาด้วยชาวบ้านก็จะให้ความร่วมมือ  เลยเข้าหากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  สมาชิกสภาท้องถิ่น  ขอให้ทำเป็นบ้านต้นแบบการคัดแยกให้ชาวบ้านได้เห็นก่อน และให้ความรู้การนำเศษอาหารไปกำจัดด้วยการนำไปเลี้ยงไส้เดือน  ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพสูงมาทำการเกษตร ลดการใช้สารเคมี เมื่อชาวบ้านเห็นประโยชน์ก็เกิดความร่วมมือ

นายสุทัศน์ เฟื้องแปง ชาวบ้านวอแก้ว กล่าวว่า หลังได้เข้าร่วมโครงการ เราได้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์  ไม่ต้องเสียเงินซื้อแก๊สและขยายเวลาการใช้งานไปได้อีก 2 เดือน



            ทั้งนี้  นายอินจันทร์ มันวิสัย นายก อบต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร  ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า  การทำงานต้องใช้เวลา ไม่มีสิ่งไหนสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว  ผู้นำในพื้นที่ต่างๆควรจะต้องเริ่มและทำต้นแบบไว้ ไม่ว่าจะหมดวาระไปผู้นำสมัยต่อไปก็สามารถเข้ามาสานต่องานได้ เพื่อความสะอาดของบ้านเมือง คิดเสียว่าขยะไม่ได้มาจากที่ไหน เราเป็นคนสร้างขยะเองก็ต้องกำจัดเอง   พื้นที่ใดอยากได้ความรู้ และนำรูปแบบไปประยุกต์ใช้ สามารถมาดูที่ ต.วอแก้วได้





Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์