วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

“เหมืองแม่เมาะ” ยังเข้มป้องกันไฟป่า ครอบคลุมพื้นที่ 1 แสนไร่




จำนวนผู้เข้าชม hit counter
     

สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ (PM 2.5) ในพื้นที่จังหวัดลำปาง เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ออกประกาศงดเว้นการเผาป่า เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เผาขยะ และเผาวัชพืชข้างทาง เผาในพื้นที่โล่งแจ้งทุกกรณี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-30 เมษายน 2564 เด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย ประกาศดังกล่าว อาศัยอำนาจตามมาตรา           15 มาตรา 21 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ซึ่งประกาศดังกล่าวกำหนดใช้พื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ของจังหวัดลำปาง

           

ขณะเดียวกัน ประกาศดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปี มักเกิดไฟป่าขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าปกคลุมพื้นที่ ทั้ง PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ที่เกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การคมนาคม และการท่องเที่ยวทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ และสูญเสียงบประมาณ ในการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และยานพาหนะ ในการดับไฟป่าเป็นจำนวนมาก สาเหตุของการเกิดไฟป่าประการหนึ่งเกิดจากการเผากำจัดวัชพืชทางการเกษตร เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า โดยไม่มีการควบคุม ทำให้เกิดไฟไหม้ลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่ากลายเป็นไฟป่า

           

ในส่วนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ-1. (ช.อผม-1.) ในฐานะ ประธานคณะกรรมการศูนย์ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน กฟผ.แม่เมาะ เปิดเผยว่า เหมืองแม่เมาะ ยังคงเดินหน้าปฏิบัติการป้องกันและระงับไฟป่าพื้นที่ในความรับผิดชอบ ซึ่งครอบคลุมบริเวณที่ทิ้งดินทั้งหมด และภายในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากการขอประทานบัตร

อย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานความร่วมมือให้การสนับสนุนตามการร้องขอกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ และพื้นที่อื่นภายในจังหวัดลำปาง รัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตรจาก กฟผ.แม่เมาะ โดยได้มีการบันทึกเก็บข้อมูล ประกอบด้วย ค่าพิกัดละติจูด (Latitude) , ลองจิจูด (Longitude),  วัน-เวลา เกิดเหตุ , วัน-เวลาเข้าปฏิบัติงาน , รูปภาพพื้นที่ที่เข้าระงับเหตุ , ประเมินความเสียหาย เป็นต้น โดยจะสรุปเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อรวบรวมเป็นสถิติแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน กฟผ.แม่เมาะ และหน่วยงานภายนอกต่อไป

           

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ แผนกรังวัดเหมือง (หรม-ช.) บันทึกภาพถ่ายทางอากาศสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้งแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศแบบแยกส่วนรูปแบบภาพถ่ายความละเอียดสูง , ภาพถ่ายแบบมีพิกัดตรึง (GeoTIFF) เพื่อประเมินและติดตามสถานการณ์ไฟป่าอย่างใกล้ชิด และมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มอีกจำนวน 3 จุด บริเวณทางเข้าพื้นที่มูลดินทรายด้านตะวันตกที่เชื่อมต่อป่าธรรมชาติ เพื่อป้องปราม และตรวจสอบบุคคลที่ผ่านเข้าออกพื้นที่

           

ทีมเฝ้าระวังลาดตระเวนและระงับไฟป่าของ กฟผ.แม่เมาะ จำนวน 5 ทีม ยังคงออกตรวจตราลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100,000 ไร่ ระยะทางราวๆ 250 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน ยังได้ประสานความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษควบคุมไฟป่า (เหยี่ยวไฟ) กรมป่าไม้ ,

ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า (เสือไฟ) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้นำชุมชน รวมถึงป่าชุมชนรอบพื้นที่ ในการเฝ้าระวังและควบคุมไฟป่า อีกทั้งยังได้จัดเตรียมที่พักฐานปฏิบัติการป้องกันไฟป่า (Base Camp)

จำนวน 3 จุด บริเวณเรือนเพาะชำ , สะพานปลา และห้วยคิงตอนบน สำหรับอำนวยความสะดวกให้ทีมต่างๆ ไว้พักอาศัยระหว่างปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย” นายสุชาติ กล่าว


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์