พูดคุยกันมานานเรื่องแม่น้ำวังเน่าเสียเกิดขึ้นทุกปี ช่วงเดือนกุมภาพันธ์น้ำเริ่มแห้ง มีวัชพืชน้ำปกคลุม บางจุดมีขยะลอยให้เห็นชัดเจน และมีกลิ่นเหม็น ผ่านมาร่วม 10 ปี ก็ยังไม่มีการแก้ปัญหาได้
ลานนาโพสต์ได้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาแม่น้ำวังเน่าเสียมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม
2556 โดยในช่วงฤดูแล้งของทุกปี จ.ลำปาง มักจะประสบปัญหาแม่น้ำวังแห้ง
มีสาหร่ายเกิดขึ้นจำนวนมาก
และบางจุดน้ำมีกลิ่นเหม็นเนื่องจากน้ำนิ่งไม่ได้มีการระบายออกไป
หลังจากนำเสนอข่าวทางเทศบาลนครลำปางได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว
ไม่ว่าจะเป็นการระดมเครื่องจักรลงขุดลอก และผลักดันเอาเศษปฏิกูลในแม่น้ำวัง
เพื่อเปิดทางให้น้ำไหลผ่านได้ พร้อมกับจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ครั้งใหญ่
ทำความสะอาดแม่น้ำวัง กำจัดสาหร่ายและสิ่งปฏิกูลที่อยู่ในแม่น้ำ
รวมทั้งร่วมมือกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง
จัดอบรมเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังคุณภาพแม่น้ำวัง และนำกฎหมายมาตรา 80 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ
จี้องค์กรใหญ่รายงานระบบบำบัดน้ำเสีย
อีกทั้งยังได้เก็บตัวอย่างน้ำที่อยู่ในพื้นที่ของเทศบาลนครลำปางเพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำ
โดยกำหนดเก็บตัวอย่าง 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง
-
ปี 2556 เมื่อวันที่ 22 ต.ค.56 คณะกรรมการพัฒนาและฟื้นฟูแม่น้ำวัง เทศบาลนครลำปาง
ได้มีการประชุมร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง สำนักงานชลประทานที่ 2
ลำปาง ฯลฯ สรุปได้ว่า สนง.ทรัพยากรธรรมชาติฯหนุนงบจัดทำบ่อบำบัดน้ำเสียภูมิปัญญาชาวบ้านแก้ปัญหาเบื้องต้น
ด้าน สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 2 รับหน้าที่สำรวจปริมาณน้ำเสียปลายท่อ ส่วนเทศบาลเดินหน้าทำประชาพิจารณ์ระบบบำบัดน้ำเสียระหว่างรองบประมาณ
400 ล้าน หากไม่ได้งบ
เตรียมแผนนำนวัตกรรมเครื่องปรับสภาพน้ำเสียของ ม.เกษตร กำแพงแสนมาใช้ และชลประทานรับออกแบบประตูระบายน้ำใหม่ทดแทนฝายยางที่หมดอายุ แต่เรื่องก็เงียบหายไปตามระเบียบ
-
ปี 2557
ปรากฏว่าผลการตรวจคุณภาพแม่น้ำวัง ในเดือนมกราคม 2557 พบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในระดับ 4 คือเสื่อมโทรมมาก
เท่ากับว่าการรณรงค์ต่างๆที่ทางเทศบาลนครลำปางได้ดำเนินการมานั้น
ไม่เกิดผลไปในทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด
โดยช่วงที่มีการจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่ง 2 ครั้ง ก็ทำให้แม่น้ำวังกลับมาดูใสสะอาด รวมถึงกรมเจ้าท่าได้สนับสนุนงบประมาณเข้าทำการขุดลอกแม่น้ำวัง
ในระยะทาง 4.5 กิโลเมตร แต่เมื่อผ่านไปได้ 3 เดือน
แม่น้ำวังก็กลับมาเน่าเสียอีกครั้ง ทำให้
นายแพทย์สุรทัศน์ พงษ์นิกร รองนายกเทศมนตรีในสมัยนั้นเรียกประชุมด่วน
และยอมรับว่าไม่สามารถควบคุมการทิ้งของเสียลงสู่แม่น้ำวังได้ จึงได้จัดบิ๊กคลีนนิ่งแม่น้ำวังเป็นครั้งที่ 3 และขอให้เขื่อนกิ่วลมระบายน้ำเพื่อดันน้ำเสียออกไป แต่ผลการตรวจคุณภาพแม่น้ำวังในเดือนกรกฎาคม 2557
ก็ยังพบว่า แม่น้ำวังเสื่อมโทรมทุกจุด
-
ปี 2558 เกิดปัญหาขึ้นอีก เมื่อผักตบชวาได้ระบาดหนักในแม่น้ำวัง โดยเฉพาะบริเวณด้านหลังวัดเกาะวาลุการาม
เทศบาลนครลำปาง จึงได้ต้องเร่งกำจัดเพื่อเปิดทางน้ำ นายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรี
จึงได้จัดโครงการฟื้นฟูแม่น้ำวังขึ้น เพื่อกำจัดวัชพืชต่างๆ พร้อมกับได้ของบประมาณบ่อบำบัดน้ำเสียเฟส 2 จำนวน 400 ล้านบาทไปยังรัฐบาล แต่ก็ไม่ทันเวลา
จึงทำให้เพียงขุดลอก กั้นฝายยางและขอปล่อยน้ำเป็นระยะเท่านั้น
-
ปี 2559 นายกเทศมนตรี ได้ยื่นสภาฯเพื่อขอจ่ายขาดเงินสะสม
200 ล้านบาท สร้างระบบบำบัดน้ำเสียเต็มรูปแบบ แต่ก็ไม่มีผลเช่นกัน
ล่าสุด เทศบาลนครลำปาง เร่งดำเนินการกำจัดวัชพืชในแม่นำวัง วันที่ 8 มีนาคม 2564 นายชาตรี สุขารมย์ ปลัดเทศบาลนครลำปาง ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครลำปาง มอบหมายให้ งานบำรุงรักษาและซ่อมแซม ส่วนการโยธา เทศบาลนครลำปาง จัดเจ้าหน้าที่และทีมงานพร้อมเครื่องจักรดำเนินการดันเกลี่ยสันดอน และกำจัดวัชพืช (ผักกาดน้ำและผักตบชวา) ในแม่น้ำวัง บริเวณฝายน้ำวังเฉลิมพระเกียรติ หรือเขื่อนยาง ตามนโยบายของ นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้เร่งดำเนินการฟื้นฟู กำจัดวัชพืชในคูคลองและแม่น้ำวัง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสียที่อาจส่งกลิ่นเหม็น และทำให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่สวยงามต่อไป
ปัญหาแม่น้ำวังเน่าเสียได้ยืดเยื้อมานานนับ
10 ปี ทั้งที่การพูดคุยถึงการแก้ปัญหาแล้วหมดทุกเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประตูระบายน้ำใหม่แทนฝายยาง ที่ต้องใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านบาท
การบังคับใช้กฎหมายไม่ให้บ้านเรือนและโรงงานทิ้งน้ำเสียลงแม่น้ำวัง การจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุมทั้งหมด
เนื่องจากปัจจุบันส่งน้ำเสียไปบำบัดได้ 20
เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์
ยังคงทิ้งลงแม่น้ำวัง
ทุกคนต่างรู้วิธีการแก้ปัญหา
แต่เพราะอะไร? ทำไมถึงไม่มีใครทำได้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น