วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ อ.อ.ป. ร่วมกับสัตวแพทย์หลายฝ่าย แถลงอาการช้างอมก๋อย จ.เชียงใหม่ 5 เชือก อาการดีขึ้นตามลำดับ คาดอีก 2 สัปดาห์อาจกลับบ้านได้



         เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 ที่โรงพยาบาลช้างลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ  อ.อ.ป. ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ  พร้อมด้วย รศ. น.สพ.ดร. ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย  น.สพ. ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้างฯ  น.สพ. ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการรักษาช้างเลี้ยง จำนวน 7 เชือก ในเขตพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้ประสบเหตุสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร มีบาดแผลที่ปากและงวง  มารักษาที่โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ จำนวน 5 เชือก ในช่วงวันที่ 5 มีนาคม  2564 ที่ผ่านมานั้น  ผลการรักษาผ่านมา 3 วันพบว่า ช้างทั้ง 5 เชือกมีอาการดีขึ้นตามลำดับแล้ว 


พังโม่พอนะ


        น.สพ. ดร.ทวีโภค อังควาณิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้างฯ กล่าวว่า ช่วงแรกที่มาถึงโรงพยาบาลฯ ช้างทุกเชือกมีอาการซึมอย่างเห็นได้ชัดและไม่กินอาหาร ทางสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้างลำปางฯ และศูนย์การวิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ ได้ทำการรักษาช้างโดยการให้สารน้ำเพื่อขับสารพิษ ให้ยาลดการอักเสบ ยากดภูมิคุ้มกัน และยาต้านอนุมูลอิสระในช้างทุกเชือก ตามแนวทางการรักษาช้างที่สัมผัสสารเคมีทางการเกษตรในกรณีที่แล้วมา  ภายหลังจากทำการรักษา พบว่าช้างทุกเชือกมีการตอบสนองต่อการรักษาดี สามารถกินน้ำและอาหารได้ ขับถ่ายปกติ โดยเฉพาะพังโม่พอนะที่มีอาการหนักมากกว่าเชือกอื่น ขณะนี้อาการซึมลดลงจนสู่ภาวะปกติ มีการตื่นตัวและโยกตัว กินอาหารได้ดี
       ส่วนลูกช้างน้อยรักษาผ่านแม่ ส่วนหนึ่งเพราะยังกินนมแม่อยู่ และจะต้องให้ยาผ่านสารน้ำด้วยวิธีวางยาซึม และต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะยาจะออกฤทธิ์ได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง ซึ่งจะวางยาในช่วง5 วันแรกของการรักษา และประเมินสถานการณ์ต่อไป    

แม่ช้างพังคำมูล ลูกช้างพลายวิลเลียม

แม่ช้างพังมึมึ ลูกช้างพลายชาลี

          อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์ได้วางแผนการ รักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทำการติดตามผลการรักษาโดยการตรวจเลือดซ้ำ เพื่อประเมินผลการรักษาและเพื่อประเมินผลกระทบของสารเคมีที่ี่อาจจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและส่งผลต่ออวัยวะต่างๆของช้างเป็นระยะ ถ้าหากผลเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติและไม่มีผลกระทบของสารเคมีต่อร่างกายช้าง คาดว่าช้าง จะสามารถเดินทางกลับบ้านได้ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ต่อจากนี้แต่อาจจะมีบางเชือกที่ยังคงต้องรักษาดูแลจนกว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ น.สพ.ดร.ทวีโภค กล่าว
         ด้าน นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าวว่า ช่วงโควิดแพร่ระบาดจึงมีการปิดการท่องเที่ยว ทำให้ช้างตามปางช้างต่างๆ เริ่มกระจายกลับถิ่นเกิด  พื้นที่เกษตรกรรมเดิมที่ช้างเคยอยู่ไม่เหมือนเดิม  กลายเป็นพื้นที่เหลื่อมทับกัน
ตลอด 12 เดือน มีช้างโชคร้ายเจ็บป่วยจากสารเคมีจำนวนมาก และพบว่าเป็นครั้งแรกที่ช้างเจ็บป่วยมากพร้อมกัน 7 เชือก  ถือว่าโชคดีที่ได้รับการประสานงานอย่างรวดเร็ว ทั้งทางสัตวแพทย์ของทุกหน่วย รวมถึงผู้นำชุมชนในพื้นที่ ได้อำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี ทำให้ช้างได้รับการรักษาทันเวลา แต่อย่างไรก็ตามไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับช้างอีก 

พลายวิลเลียม 


       ขณะที่ รศ. น.สพ.ดร. ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า  เราได้มีการแบนการใช้สารเคมีร้ายแรงมาช่วงหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 63 ที่ผ่านมา แต่การจัดการสารเคมีทางการเกษตรเหล่านี้ก็ยังไม่ดีพอ ยังมีการขายอยู่ บางรายซื้อเก็บไว้และลักลอบนำมาใช้ เมื่อใช้หมดไม่มีการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ดี  นำวางทิ้งไว้ ขณะที่มีสัตว์ใหญ่ เช่นช้าง  หรือสัตว์อื่นๆ ที่ซุกซน นำไปรับประทาน จนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต
       นอกจากนั้นอยากฝากถึงผู่เลี้ยงช้างด้วยว่า การเลี้ยงช้างปล่อยต้องควบคุมให้ดี ไม่ให้ช้างเข้าไปในที่การเกษตรของชาวบ้าน หรือเข้าไปเจอสารเคมีต่างๆ  เรื่องเหล่านี้ต้องรับผิดชอบร่วมกัน  


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์