วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564

มายาคติ‘เรทติ้ง’ บนเส้นทางสื่อสาธารณะ


จำนวนผู้เข้าชม counter for blog

           

การประกอบสร้าง “เอซี นีลเส็น” ให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลในการกำหนดความเป็นความตายของสื่อโทรทัศน์  โดยเฉพาะในยุคของทีวีดิจิตอล ด้วยความเชื่อที่ว่า มีแต่เฉพาะเอซี นีลเส็นเท่านั้น ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีวิธีการวัดเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลขแทนความนิยมของคนดู หรือ เรทติ้ง – Rating เพื่อนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการซื้อสื่อ นี่ยังคงเป็นมหากาพย์ที่หาฉากจบไม่ได้

           

แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะมีความพยายามหนีไปให้พ้นมนต์ดำของเอซี นีลเส็น มีเดียเอเยนซี่ เจ้าของสินค้าและบริการลงทุนทำวิจัยพฤติกรรมการรับชมของผู้รับสาร พฤติกรรมผู้บริโภคเอง รวมทั้งการจัดสรรเงินจำนวน 431 ล้านบาทของ กสทช.เพื่อจัดทำระบบการทำเรทติ้งทีวีดิจิตอลใหม่

           

แต่ก็ยังไม่มีผู้วัดเรทติ้งเจ้าใหม่ หรือวิธีการใหม่ในการ  ตัดเอซี นีลเส็น ออกไปจากวงจรสำรวจความนิยมได้

           

ถึงแม้การวัดหน้าจอจะเป็นวิธีการที่พ้นสมัยไปแล้ว ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ไม่ได้ทำให้ผู้คนเข้าถึงเฉพาะเนื้อหาจากหน้าจออีกต่อไป เอซี นีลเส็นไม่เคยวัด หรืออย่างน้อยไม่เคยอธิบายว่า การเข้ าถึงสารจากช่องทางออนไลน์ที่มีจำนวนมหาศาล อาจมากกว่าครึ่งที่ดูหน้าจอ นั่นคือตัวชี้วัดที่สะท้อนความจริงได้มากที่สุด แต่คนก็ยังถามหาเอซี นีลเส็น ยังอ้างอิงตัวเลขของเอซี นีลเส็น

           

เอซี นีลเส็น วัดความนิยม ไม่ได้วัดคุณค่าของสื่อ

           

แปลว่าคนดูหน้าจอมาก ก็นับรายหัวรวมเป็นตัวเลขขายให้ลูกค้า  

           

นั่นอาจเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไป หาบทสรุปกันต่อไปสำหรับสื่อเชิงพาณิชย์  แต่ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ หรือทำให้สำคัญผิดไปใหญ่โต คือการลากดึงสื่อสาธารณะเข้าไปอยู่ในวงจรวัดเรทติ้ง ของเอซี นีลเส็นด้วย  ทั้งที่ตัวเลขคนดูที่จ้างเอซี นีลเส็น เก็บมาเป็นข้อมูลนั้น ไม่ได้แสดงผลในเชิงคุณค่า และไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงเพื่อให้ได้โฆษณา

           

พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๗ วรรคสุดท้าย ประกอบกับ (๒) (๓) (๔) และ (๕) คือการผลิตข่าวและรายการ ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชน ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน เขียนว่า ภารกิจเหล่านี้ ให้คำนึงถึง “การเข้าถึง” และ “การใช้ประโยชน์” ได้อย่างทั่วถึง

           

แปลว่า การเข้าถึงสารของสื่อสาธารณะ หรือไทยพีบีเอสนั้น คือการเข้าถึงในเชิงคุณค่า มิใช่การเข้าถึงในเชิงปริมาณ ซึ่งหากจะนับจำนวนผู้ติดตามเนื้อหาของไทยพีบีเอส ในทุกช่องทางที่มีมากกว่าทุกสื่อในประเทศไทย อาจมีปริมาณไม่น้อยไปกว่าการวัดหน้าจอ ของเอซี นีลเส็น แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่า เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการการเข้าถึงของประชาชน ในฐานะ “พลเมือง” มิใช่ “ลูกค้า”

           

ฉะนั้น ในตอนร่างกฎหมาย เขาคิดถึง accessibility หรือการเข้าถึงในเชิงคุณค่า มิใช่การเข้าถึงในความหมายของ            

popularity หรือวิธีการวัดเรทติ้ง แบบเอซี นีลเส็น ที่กดดันให้ทีวีดิจิตอล แข่งขันกันหาลูกค้า ด้วยการเสนอข่าว human interest หรือข่าวที่เพียงตอบสนองสัญชาติญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์เท่านั้น ซึ่งในหลายครั้งหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรม

           

แน่นอนว่า การเข้าถึงที่ว่านี้ มิใช่เพียงการผลิตเนื้อหา ที่เป็นระเบียบแบบแผน ดูเป็นทางการ หรือไม่คำนึงถึงความสนใจของผู้รับสารเลย ทีวีสาธารณะยังมีภารกิจที่ต้องคิดสร้างสรรค์เนื้อหาของข่าว และรายการให้มีคุณค่าและมีความน่าสนใจติดตามไปในเวลาเดียวกัน แต่มิใช่การตกลงไปในหล่มโคลนของมายาคติเรื่องเรทติ้ง ที่ทำให้เสียกระบวนการในการวางแผนและทำงานข่าวที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ ความน่าเชื่อถือ และประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

           

ไทยพีบีเอส ยังมีโจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องแก้ให้ได้ แต่มิใช่การหลงประเด็น มัดขาอยู่กับเรทติ้ง จนก้าวเดินไปไหนไม่ได้

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์