วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

หรรษารถม้ารถไฟ ม่วนใจ๋ลำเปิงลำปาง


จำนวนผู้เข้าชม blog counter

เพื่อให้ประชาชนชาวลำปาง ได้เกิดความภาคภูมิใจตระหนักและเห็นคุณค่าในการที่จะดำรงเอกลักษณ์ประเพณีที่งดงามไว้ และช่วยกันสืบสาน อนุรักษ์ ฟื้นฟู นำมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย จังหวัดลำปาง โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง กำหนดจัดกิจกรรม “ย้อนเวลามนต์เสน่ห์แห่งล้านนา หรรษารถม้ารถไฟ ม่วนใจ๋ลำเปิงลำปาง” รำลึกประวัติศาสตร์รถไฟ รถม้าลำปาง ประจำปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นตามแผนบูรณาการส่งเสริมยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดลำปาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โครงการเที่ยวลำปาง 365 วัน ภายใต้แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการอาศัยสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ รวมทั้งวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน อันเป็นอัตลักษณ์ที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมายาวนานกว่า 100 ปีจากเมื่อครั้งอดีต มาเป็นจุดขายทำการโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่โดยทั้งหมด

           

และเพราะว่าพระเอกของกิจกรรมครั้งนี้คงหนีไม่พ้น “รถม้าลำปาง” และ สถานีรถไฟนครลำปาง” จึงขอเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับความสำคัญของทั้งสองสิ่ง



           

ตามความเป็นจริงเรื่องราวของ “รถม้าลำปาง” ได้ถูกกล่าวถึงไปหลายครั้งหลายคราแล้ว ดังนั้นในสัปดาห์นี้จึงขออนุญาตกล่าวถึงเพียงสั้นๆ... นับเวลาย้อนหลังไปในช่วง 85 ปีที่แล้วหรือปี 2458 สมัยของเจ้าบุญวาทย์มานิตตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ในคราวนั้นการคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ยังพัฒนาไม่ถึงนครลำปาง พาหนะชนิดเดียวที่สามารถใช้บรรทุกของหรือสินค้าที่มีความเร็วในการเดินทางสูงสุด คือ รถม้า รถม้าคันแรกได้ถูกซื้อมาจากกรุงเทพฯ เนื่องจากสมัยก่อนรถม้าจะนิยมใช้อยู่ในกรุงเทพฯ ในหมู่ของเจ้าขุนมูลนาย และใช้เป็นรถประจำตำแหน่งของข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก ในปี 2458 รถยนต์จากยุโรปได้เข้ามามีอิทธิพลในกรุงเทพฯ บรรดาเจ้าขุนมูลนายต่างก็เปลี่ยนจากรถม้าหันมานิยมใช้รถยนต์กันมาก ประกอบกับขณะนั้นทางกรุงเทพฯ มีรถยนต์ใช้มากขึ้น บทบาทของรถม้ารถลากต่างๆ ในกรุงเทพฯ จึงลดน้อยลง รถม้าที่เคยใช้นี้เอง ได้เริ่มอพยพเข้ามายังนครลำปาง และยังได้กระจายไปสู่เมืองหลังของภาคต่างๆ ได้แก่ นครราชสีมาของภาคอีสาน นครศรีธรรมราชของภาคใต้ นครเชียงใหม่ เมืองเชียงราย เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองแม่ฮ่องสอนของภาคเหนือ แต่ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏผู้ประกอบการรถม้าในเมืองดังกล่าวจึงเลิกกิจการไป คงเหลือแต่เฉพาะที่จังหวัดลำปางแห่งเดียวที่ยังคงใช้รถม้าอยู่ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้


 

การพัฒนาความเจริญทางด้านเทคโนโลยีตะวันตก ส่งผลให้นครลำปางพบกับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้านตามลำดับในฐานะของมณฑลพายัพของภาคเหนือตอนบน และความเจริญที่เห็นเด่นชัดก็คือ การเข้ามาของรถไฟสายเหนือที่มีจุดหมายปลายทางของการเดินทางสิ้นสุดที่สถานีรถไฟแห่งนี้ ซึ่งเปิดรับขบวนรถโดยสารครั้งแรก เมื่อเถลิงศก วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 หรือวันปีใหม่ไทย ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ใจครั้งนั้นมีรถม้าที่เรียกกันว่า “รถม้าแท็กซี่” คอยรับผู้โดยสารจากสถานีรถไฟเข้าสู่ตัวเมืองนครลำปาง เมื่อขบวนรถไฟมาถึงสถานีรถไฟนครลำปาง ณ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับถนนสามสายแรกในภาคเหนือของประเทศไทย และได้มีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่นาบริเวณชานเมืองมาเป็นพื้นที่เมืองอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับความเจริญที่เพิ่มทวีมากขึ้น

 


สำหรับเกร็ดประวัติศาสตร์ “สถานีรถไฟนครลำปาง” ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ห้ามพลาดหากต้องการทำความรู้จักนครลำปาง โดยสถานีรถไฟแห่งนี้ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2458 และเปิดทำการเดินรถตั้งแต่ พ.ศ.2459 สมัยนั้นสถานีรถไฟนครลำปางยังเป็นสถานีปลายทางของขบวนรถไฟสายเหนือ ก่อนจะขยายการก่อสร้างไปถึงนครพิงค์หรือเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2464 ดังนั้น พื้นที่แห่งนี้จึงเคยทำหน้าที่เป็นชุมทางขนส่งมวลชนที่ทันสมัยที่สุด และเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนเศรษฐกิจของเมือง ด้วยการเป็นจุดขนถ่ายกระจ่ายสินค้าและส่งเสริมการเดินทางของผู้คนจากกรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางต่อไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือ

 


นอกจากนี้ภายในสถานีรถไฟนครลำปาง มีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง เริ่มจาก “อาคารสถานี” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทสถาบันและสาธารณะ ประจำปี 2536 โดยอาคารหลังนี้ได้รับการออกแบบโดย นายเอินสท์ อัลท์มันน์ วิศวกรชาวเยอรมัน ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก แบบวาวาเรียน คอทเทจ ที่มีการใช้ไม้ทแยงมุมยึดไม่ให้อาคารโยก ซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างสไตล์เยอรมัน  ป้ายชื่อสถานี “นครลำปาง” ที่ปรากฎอยู่เหนือช่องโค้งในอาคารสถานี บ่งบอกถึงความสำคัญว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น “นคร” หมายถึงเมืองหลักที่มีเมืองขึ้นหรือเมืองบริวาร อย่างเมืองพะเยา และเมืองลอง ป้ายแสดงความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 269 ม. โดยป้ายดังกล่าวมีนายช่างชาวเยอรมันเป็นผู้ทำหน้าที่วัดระดับความสูง เพื่อสร้างทางรถไฟสายนี้ รอยกระสุนที่ขื่อคาน อันเป็นผลพวงมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากในสมัยนั้นสถานีรถไฟถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย เพราะเป็นเส้นทางสำคัญในการลำเลียงเสบียงและยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่น และรอยดังกล่าวถือเป็นวัตถุพยานที่ยังมีให้เห็นมาจนถึงปัจจุบันนี้

           

ขณะเดียวภายในสถานีรถไฟนครลำปางยังมีจุดอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องราวในอดีตได้ร่วมย้อนระลึกถึงความสำคัญของสถานีรถไฟแห่งนี้เมื่อครั้งวันวาน เช่น ตราชั่งจากเนเธอร์แลนด์, พื้นที่คลังสินค้าสำหรับเป็นโกดังเก็บและกระจายสินค้า, วงเวียนหน้าสถานีรถไฟ, อาคารห้างร้าน และโรงแรมในย่านถนนรถไฟ ซึ่งสิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความสำคัญของสถานีรถไฟนครลำปางและความเปลี่ยนแปลงของหย่อมย่านบ้านเมืองที่รอการมาเยือนจากทุกคน

 


ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ พิธีทำบุญตักบาตร ครบรอบ 105 ปี สถานีรถไฟนครลำปางและพิธีเรียกขวัญม้า วันที่ 1 เมษายน 2564 ชมขบวนพาเหรดรถม้า นิทรรศการประวัติศาสตร์รถไฟรถม้า สาธิตการประกอบรถม้า วิถีชีวิตการเลี้ยงม้า การขี่ม้า การประกวดรถม้า การประกวดภาพถ่าย” รถไฟรถม้าลำปาง” การแสดงต่างๆ บนเวที และ กิจกรรมนั่งรถม้าฟรี ในงาน เลือกซื้อสินค้า อาหารหลากหลาย ของดีของเด่นจังหวัดลำปาง การแสดงศิลปวัฒนธรรม และการแสดงดนตรีจากศิลปินรับเชิญ ณัฏฐ์ กิตติสาร อาร์สยาม “The Long Riders วงดนตรีคันทรี่” และศิลปิน “คุณเต๋า ภูศิลป์” 

 

นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมย้อนเวลามนต์เสน่ห์แห่งล้านนา หรรษารถม้ารถไฟ ม่วนใจ๋ลำเปิงลำปาง “รำลึกประวัติศาสตร์รถไฟ รถม้าลำปาง ประจำปี 2564” ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2564  บริเวณสถานีรถไฟนครลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยพกเจลเว้นระยะห่างทางสังคม

 

เรื่อง...กอบแก้ว แผนสท้าน


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์